สรุปการจัดการความรู้

ประเด็น “การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ”

กลุ่มงานวิจัย บริการวิชาการ และวิเทศสัมพันธ์

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์

วันที่ ๒๗ ธันวาคม  ๒๕๕๙ เวลา  ๑๓.๐๐ – ๑๕.๐๐ น

………………………………………………………………………………………………………………..

๑. รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม

๑. ดร.ศศิธร ชิดนายี                   รองผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยฯ ประธาน

๒. ดร.ประภาพร มโนรัตน์            ผู้รับผิดชอบการจัดการความรู้ของกลุ่มงานวิจัยฯ และเลขานุการ

๓. ดร.ปฐพร  แสงเขียว

๔. นายนภดล  เลือดนักรบ

๕. นางมณฑา อุดมเลิศ

๖. นางสาวนัยนา อินธิโชติ

๗. นางภิญญารัช บรรเจิดพงศ์ชัย

๘. นางสายฝน วรรณขาว

๙. นางสาวอัญชรี เข็มเพชร

๑๐. นางวิมล  อ่อนเส็ง

๒. วาระเรื่องแจ้ง

ประธานแจ้งว่า จากการกำหนดประเด็นการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อน กลุ่มงานและวิทยาลัยให้เป็นองค์กรการจัดการเรียนรู้นั้น สำหรับกลุ่มงานวิจัยฯ ได้กำหนดประเด็น เรื่อง การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ  ทั้งนี้เนื่องจากการวิเคราะห์พบว่าอาจารย์ยังมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับชาติ ระดับปานกลางและผลงานการตีพิมพ์ ระดับนานาชาติ น้อย (จนเกือบไม่มี)  ซึ่งวิทยาลัยมีผู้ที่มีประสบการณ์การเผยแพร่ผลงานระดับชาติและนานาชาติมาบ้างแล้ว จึงดำเนินการตามขั้นตอนของการจัดการความรู้  ดังนี้

๑.การกำหนดความรู้หลักที่จำเป็นหรือ สำคัญ คือ การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ

๒. การเสาะหาความรู้ที่ต้องการ  กลุ่มงานวิจัยฯ ได้ประชาสัมพันธ์และกำหนดวันที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กัน จึงให้ผู้ที่มีประสบการณ์ มีองค์ความรู้ (Tacit knowledge)  แลกเปลี่ยนความรู้ให้กับคณาจารย์ภายในกลุ่มงาน และให้ค้นหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ

๓. การปรับปรุง ดัดแปลง หรือสร้างความรู้บางส่วนให้เหมาะกับการใช้งานของตน ในส่วนนี้อาจารย์ที่มีประสบการณ์ได้นำความรู้ที่มาปรับปรุงและสร้างความรู้ให้เหมาะสมกับการใช้งาน

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อให้คณาจารย์เกิดการทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ

๒.เพื่อให้คณาจารย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ

๓. เพื่อสร้างข้อสรุปเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในระยะที่1 สู่การนำไปประยุกต์ใช้ในปีงบประมาณ๒๕๖๐

๔.สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้มีดังนี้

๑. อาจารย์นภดล เลือดนักรบ ได้ให้ความเห็นว่า การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการระดับชาติหรือนานาชาตินั้น จะต้องเลือกวารสารที่เขาตรงหรือเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเราและศึกษารูปแบบการเขียนก่อนSubmitบทความ  และได้กล่าวว่า การเลือกไปนำเสนอผลงานควรเลือกการประชุมวิชาการที่มีการคัดเลือกผลงานตีพิมพ์ในวารสารด้วย จะได้ประโยชน์  และให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษeditภาษาอังกฤษให้ถูกต้องที่สุด ป้องกันการปฏิเสธการตีพิมพ์จากภาษาไม่ดี

๒. ดร.ปฐพร แสงเขียว ได้ให้ความเห็นว่าการจะเขียนให้ได้รับการตอบรับ ต้องอ่านบทความจากวาสารให้มากโดยเฉพาะวาสารที่จะลงตีพิมพ์ เพื่อให้รู้สไตล์การเขียนและเขียนได้ตรงกับรูปแบบและสไตล์ของวารสารนั้นๆจะทำให้ได้รับการตอบรับมากขึ้นเป็นไปได้สูง และเรื่องการคัดลอกผลงานผู้อื่นให้ฝึกกับInternetได้มีการสอนเขียนแบบเทียบเคียงกันเป็นคู่ขนานแต่ไม่ได้คัดลอกเลียนแบบ

๓. ดร.ประภาพร มโนรัตน์ ได้ให้ความเห็นว่าเห็นด้วยกับทุกท่านที่แบ่งปันความรู้ เพิ่มเติมในแง่ของการวางแผนเป็นระบบตั้งแต่การได้รับทุนวิจัยคิดยาวถึงวารสารที่จะตีพิมพ์ ศึกษาแนวการเขียนบทความของวาสารนั้นๆ  และเคร่งครัดในระเบียบของวาสารและทำตามขั้นตอนของวาสารหรือการประชุมนั้นๆ

๔. ดร.ศศิธร ชิดนายี ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การตีพิมพ์ระดับนานาชาติ เราควรร่วมกันเขียนกับ๔นักวิจัยที่มีประสบการณ์การตีพิมพ์อยู่แล้วเช่น ดร.อัสนี  ที่ วพบ.พุทธชินราช มีผลงานตีพิมพ์หลายฉบับ โดยทำงานร่วมกับอาจารย์ในอเมริกา ในประเด็น เรื่อง มะเร็งเต้านม และ การตีพิมพ์ ในประเด็นหลัก เพื่อให้แสดงถึงความเชียวชาญนอกจากนี้การตีพิมพ์ในวารสารระดับ SJR ISI  Scopus  การตีพิมพ์ประเภท  Systematic revicw  จะได้รับการ  accept  เร็วกว่า และ อาจารย์ศศิธร นำเสนอการตีพิมพ์เผยแพร่จากเอกสารของ วช. ที่สามารถ Download  ได้

๕.อาจารย์วาสนา ครุฑเมือง ได้ให้ความเห็นว่า การได้อ่านงานบทความวิจัยของนักวิจัยที่ตีพิมพ์บ่อยจะช่วยทำให้เขียนได้ดีขึ้น

๖.อาจารย์มณฑา อุดมเลิศ ได้ให้ความเห็นว่า การคัดลอกเลียนแบบผลงาน หรือการที่จะเขียนให้ไม่ไปทับซ้อนที่เรียกว่าคัดลอกนั้นก็ยาก ต้องอ่านมากและฝึกฝน

สรุปองค์ความรู้ที่ได้รับและนำมาสรุปเป็นแนวปฏิบัติในการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ ได้ดังนี้

การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารระดับชาติและนานาชาติ

๑.วางแผนการตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ได้รับทุนวิจัย โดยคาดการณ์ว่าจะตีพิมพ์เผยแพร่ระดับชาติหรือนานาชาติในวารสารใด หรือเมื่อต้องการตีพิมพ์ผลงานวิจัยให้เลือกลงวาสารที่ต้องการงานวิจัยประเภทเดียวกับของเรา

๒. ศึกษารูปแบบการเขียนบทความวิจัย/บทความวิชาการตามที่วารสารนั้นๆกำหนด (บทนิพนธ์ต้นฉบับ)

๓. ให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆอ่าน วิพากษ์ให้ก่อนเป็นการส่วนตัว (หากมีผู้ยินดีอ่านให้ฟรีและเป็นผู้ใกล้ชิดหรือเครือข่ายงาน) จะได้มุมมองในการปรับเขียนงานให้ดียิ่งขึ้นก่อนส่งบทนิพนธ์ต้นฉบับไปให้บรรณาธิการของวารสารที่ต้องการตีพิมพ์

๔. ให้มีการตรวจสอบหรือปรับการเขียนบทคัดย่อและบทความวิจัยที่เป็นภาษาอังกฤษโดยผู้เชียวชาญก่อน เพื่อให้มีความชัดเจนด้านภาษาอังกฤษถูกต้อง

๕. ทำการส่งบทนิพนธ์ต้นฉบับตามหลักเกณฑ์ ระเบียบของวารสารนั้นๆอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องเป็นสมาชิกวารสารก่อน หรือ ส่งต้นฉบับให้ครบทุกชุดและตามเงื่อนไขที่ระบุ

๖. กรณีส่งแล้วและให้ปรับปรุงแก้ไขนั้น ให้รีบดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามที่เสนอแนะ และส่งกลับคืนภายในเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด  และแสดงให้เห็นว่ามีการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะโดยการขีดเส้นใต้หรือใส่แถบสี  ให้ทางวารสารเห็นได้ชัดว่าได้ดำเนินการแล้ว   สำหรับในประเด็นที่ไม่สามารถแก้ได้ให้เขียนชี้แจงไปว่าทำไม่ไม่แก้ไข ติดขัดในประเด็นใด นักวิจัยสามารถอธิบายแนวคิดของตนเองได้

๗. ส่งผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารได้ครั้งละ1วารสารเท่านั้น หากไม่ได้รับการตอบรับในวารสารฉบับนั้นแล้ว จึงจะสามารถส่งวารสารไปลงยังวารสารอื่นต่อไปได้

๘. นักวิจัยต้องถือปฏิบัติในจริยธรรมของนักวิจัยอย่างเคร่งครัด ได้แก่ ไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น และไม่ไม่ส่งบทนิพนธ์ต้นฉบับไปหลายๆวารสารในเวลาเดียวกัน

๙. หาแหล่งตีพิมพ์ผลงานในวารสารได้โดยเข้าร่วมประชุมวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติที่มีการคัดเลือกผลงานไปตีพิมพ์ในวารสารด้วย

คณาจารย์กลุ่มงานวิจัย บริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์

ดร.ประภาพร มโนรัตน์  ผู้รับผิดชอบการจัดการความรู้กลุ่มงานวิจัยฯ

๒๗ ธันวาคม  ๒๕๕๙