04/09/2017
การสังเคราะห์งานวิจัย เรื่อง การดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุไทยพุทธในชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท
การสังเคราะห์งานวิจัย
เรื่อง การดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุไทยพุทธในชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท
:กรณีศึกษาบ้านนาโปร่ง ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
โดย
ดร.ประภาพร มโนรัตน์และคณะ
จากการสังเคราะห์งานวิจัยเรื่อง การดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุไทยพุทธในชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท :กรณีศึกษาบ้านนาโปร่ง ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้ดำเนินการโดย ดร.ประภาพร มโนรัตน์ และคณะ ซึ่งได้ทำการวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ในพื้นที่ชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท (Suburban) ไว้อย่างน่าสนใจ นับได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้ขยายความเผยแพร่ผลการศึกษาออกไปในวงกว้างในหลายรูปแบบเพื่อให้ได้มีการนำองค์ความรู้จากข้อค้นพบไปใช้ประโยชน์เป็นแนวทางการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุกลุ่มนี้
ในการสังเคราะห์ครั้งนี้พบว่า นักวิจัยให้ความสำคัญกับสภาวการณ์สังคมผู้สูงอายุและผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีแนวโน้มต้องเผชิญกับการปรับตัวสูงในสังคม อันหมายถึง ผู้สูงอายุเหล่านั้นจะปรับตัวดูแลสุขภาพตนเองอย่างไร ในสภาวการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ไทยพุทธอันเป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ของประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า เลือกศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุที่นับถือศาสนาพุทธ ในชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทที่มีลักษณะบริบทชุมชนกำลังเปลี่ยนจากความเป็นชนบทสู่สังคมเมืองที่ความสัมพันธ์กันของคนในชุมชนเปลี่ยนไป เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันลดลงทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน ผู้สูงอายุจะต้องเผชิญกับการปรับตัวสูง จะโดดเดี่ยวและอยู่ลำพังมากขึ้น และที่สำคัญการพึ่งตนเองทางสุขภาพอาจเป็นไปไม่ดีเท่าที่ควรจากปัจจัยในหลายๆด้าน ที่คุกคาม ทั้งด้านความเสื่อมตามธรรมชาติของผู้สูงอายุเองและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ไม่เหมาะสม จะมีผลต่อการมีสุขภาพดีและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยในพื้นที่ศึกษาหมู่บ้านนาโปร่ง ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบทที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุร้อยละ13 ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุนับถือศาสนาพุทธร้อยละ98.5 และมีจุดมุ่งหมายศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุไทยพุทธ บ้านนาโปร่ง จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้วิธีการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive research) โดยใช้แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุที่สร้างขึ้นเองโดยมีข้อคำถามรวมข้อมูลทั่วไปแล้วจำนวน 50 ข้อ ซึ่งเหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุ และผ่านการตรวจสอบคุณภาพความตรงตามเนื้อหา (Validity) โดยผู้ทรงคุณวุฒิและหาค่าความเชื่อมั่น (Reliability)โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s Alpha Coefficient) ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.93 ไปรวบรวมข้อมูลโดยเข้าสัมภาษณ์ด้วยตนเอง
โดยประชากรที่ศึกษาคือ ผู้สูงอายุ บ้านนาโปร่ง ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิง สัญชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 80 คน (เป็นผู้สูงอายุกลุ่มที่มี ADL ≥ 12 คะแนนขึ้นไปทุกคนอันหมายถึงผู้สูงอายุที่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง)
สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นผู้วิจัยมีขั้นตอนการดำเนินงานที่เน้นการสร้างความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการวิจัยและการพิทักษ์สิทธิ์ของผู้ให้ข้อมูลทั้งในระดับตัวผู้ให้ข้อมูลและผู้เกี่ยวข้องโดยมีการประสานระหว่างหน่วยงานผู้ทำวิจัยกับหน่วยงานสุขภาพคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพที่รับผิดชอบด้านสุขภาพประชาชนในพื้นที่ทำวิจัยและหน่วยงานด้านการปกครองในพื้นที่คือกำนันและผู้ใหญ่บ้านประจำพื้นที่ศึกษา นอกจากนี้การเข้าถึงผู้ให้ข้อมูลเน้นการสร้างสัมพันธภาพด้วยการเยี่ยมบ้านก่อนทั้งในรูปแบบรายบุคคลและเยี่ยมเป็นรายกลุ่มในแต่ละแวกโดยมีตัวแทนชุมชนที่คุ้นเคยกับผู้ให้ข้อมูลร่วมกิจกรรมด้วยเพื่อสร้างความไว้วางใจจนอยากให้ข้อมูลที่แท้จริงอันจะส่งผลต่อคุณภาพการวิจัย แล้วนำแบบสอบถามมาวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
ซึ่งผลจากการวิจัยพบดังนี้
1.ผู้สูงอายุไทยพุทธบ้านนาโปร่งส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 70-79 ปีร้อยละ 52.5 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 70 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 78.8 สถานภาพสมรส คู่ ร้อยละ 53.8 ไม่ได้ประกอบอาชีพ ร้อยละ 53.8 มีรายได้อยู่ในช่วง 1,000-5,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 42.5 รายได้มาจากเบี้ยผู้สูงอายุ ร้อยละ 93.7 มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง ร้อยละ 52.5 จำนวนบุตรเฉลี่ย 1-3 คน ร้อยละ 60 ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ด้วยเฉลี่ย 1-3 คน ร้อยละ 48.7และอาศัยอยู่กับบุตร ร้อยละ 65
2.ผู้สูงอายุไทยพุทธบ้านนาโปร่ง มีค่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองโดยรวมอยู่ในระดับมาก (µ = 3.95, ơ = 0.38 ) โดยพบว่าค่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองสูงสุดด้าน อโรคยาอยู่ในระดับมากที่สุด (µ = 4.43, ó = 0.57) รองลงมาคือด้านอบายมุขและด้านอารมณ์ อยู่ในระดับมากที่สุด (µ = 4.40, ó = 0.77 และ µ = 4.20, ó = 0.62 ตามลำดับ) ค่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองต่ำที่สุด คือ ด้านการออกกำลังกาย อยู่ในระดับปานกลาง (µ = 3.06, ó = 0.97)
3.ความคิดเห็นของผู้สูงอายุไทยพุทธต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเอง(จากคำถามปลายเปิด) พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความคิดเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกันมากที่สุดในประเด็นความรับผิดชอบต่อสุขภาพ โดยมีความเห็นว่าการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องของตนเองที่จะต้องคงไว้เพื่อสุขภาพดี วิธีการดูแลสุขภาพตนเองที่ปฏิบัติเป็นประจำคือการไปตรวจสุขภาพตามแพทย์นัด เมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้นรีบรักษาและหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เจ็บป่วยเช่นไม่ดื่มของมึนเมาหรือสูบบุหรี่ และพยายามทำใจให้สบายไม่เครียด ปล่อยวาง ทำงานบ้าน ไปวัดทำบุญเพื่อการพึ่งตนเองทางสุขภาพ ดังผู้สูงอายุท่านหนึ่งบอกว่า “..สุขภาพเป็นของเรา ไม่มีขายแล้ว ต้องทำเอา..ก็หมั่นไปหาหมอตามนัด ไม่สบายก็รีบรักษาจะได้หายไวไว..เหล้าบุหรี่ก็ไม่เอา ไม่ยุ่ง..อย่าเครียด ต้องปล่อยวาง ..ไปวัดทำบุญ สบายใจดี ไม่ป่วยก็ไม่เป็นภาระกับใครให้ลำบากใจ”
นอกจากนี้ผู้วิจัยได้อภิปรายผลและเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้อย่างน่าสนใจว่า จากผลการศึกษา พบว่าผู้สูงอายุไทยพุทธมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองโดยรวมอยู่ในระดับมาก (µ=3.95, ơ=0.38) อาจเนื่องจากผู้สูงอายุบ้านนาโปร่งได้รับการกระตุ้นให้ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพตนเองด้วยหลายโครงการสร้างสุขภาพดี รวมถึงมีนักศึกษาพยาบาลเข้าเยี่ยมบ้านดูแลกลุ่มวัยสูงอายุและวัยทำงานบ้านนาโปร่งอย่างต่อเนื่องตลอด4ปีอันสืบเนื่องจากข้อตกลงความร่วมมือสร้างชุมชนสุขภาวะ(MOU)ระหว่างบ้านนาโปร่ง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลม่อนดินแดง และเทศบาลตำบลท่าเสา และโรงเรียนเทศบาลวัดหนองผา ตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 จึงส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพในทางบวกและยังไปสอดคล้องกับความคิดเห็นที่ได้จากคำถามปลายเปิดที่ผู้สูงอายุตอบในประเด็นการดูแลสุขภาพตนเองไปในทางเดียวกันว่าเป็นความรับผิดชอบของตนเองที่ต้องดูแลสุขภาพ แต่มีประเด็นที่ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตและให้ความคิดเห็นว่าพฤติกรรมการดูแลตนเองแม้จะอยู่ในระดับมากแต่ยังมีค่าคะแนนเฉลี่ยของพฤติกรรมการดูแลตนเองน้อยอาจต่ำลงได้เมื่อเวลาผ่านไปเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมดูแลตนเองในระดับปานกลาง ควรต้องมีการเร่งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีค่าคะแนนเฉลี่ยการดูแลสุขภาพตนเองในระดับที่มากขึ้นจากเดิม โดยเน้นการเร่งพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองด้านที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำได้แก่ออกกำลังกาย อยู่ในระดับปานกลาง (µ=3.06, ơ=0.97)รองลงมาคือ ด้านอาหาร อยู่ในระดับมาก (µ=3.44, ơ=0.61) ซึ่งอาจเนื่องมาจากวัยและสมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุที่ไม่มีความคล่องตัวเหมือนคนหนุ่มสาวกิจกรรมที่ผู้สูงอายุทำจึงเป็นการออกกำลังที่กระทำอยู่ในบ้าน ซึ่งผู้สูงอายุบางคนก็อาศัยการทำงานบ้านเป็นการออกกำลังกาย ดังผลการศึกษาที่พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุตอนปลายอายุ70-79ปี (ร้อยละ42.5) สำหรับการดูแลตนเองด้านอาหารนั้น(µ=3.44, ơ=0.61) แม้จะอยู่ในระดับมากแต่ค่าคะแนนเฉลี่ยยังไม่สูงมากเท่าที่ควรจึงควรเน้นให้มีมาตรการส่งเสริมให้มีการดูแลตนเองไม่เพียงด้านการออกกำลังกายเท่านั้นยังต้องเร่งรัดให้มีการส่งเสริมด้านอาหารด้วย
ส่วนผลการวิจัยที่พบในเชิงบวกที่โดดเด่นคือ ค่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองสูงสุดด้าน อโรคยาอยู่ในระดับมากที่สุด (µ = 4.43, ó = 0.57) รองลงมาคือด้านอบายมุขและด้านอารมณ์ อยู่ในระดับมากที่สุด (µ = 4.40, ó = 0.77และ µ = 4.20, ó = 0.62 ) ผู้วิจัยได้อภิปรายให้มุมมองว่า อาจเนื่องมาจากคุณลักษณะข้อมูลทางประชากรที่โดดเด่นของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุตอนปลายและเป็นเพศหญิง ยังอยู่กับคู่ของตนเองและอาศัยอยู่กับบุตร และมีสมาชิกครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกัน1-3คน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยด้านการผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ยาวนานและเกิดการตกผลึกทางความคิดและการได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัวหนุนเสริมการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ ดังที่พรทิพย์ มาลาธรรมและคณะ (2552) ทำการศึกษาพบว่า แรงสนับสนุนจากครอบครัวของผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุ และครอบครัวเป็นแรงสนับสนุนทางสังคมที่สำคัญในสังคมไทย ดังนั้นการดำเนินงานส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้สูงอายุยังควรสงวนจุดเด่นให้คงต่อไปด้วยด้วยการส่งเสริมในด้านที่ดีอยู่แล้วควบคู่กันไปด้วย
ข้อเสนอแนะสำหรับการนำผลการวิจัยไปใช้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลม่อนดินแดง ชุมชนบ้านนาโปร่ง เทศบาลตำบลท่าเสา และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุตรดิตถ์ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งรัดให้มีการส่งเสริม การดูแลตนเองของผู้สูงอายุด้านการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องที่เน้นการออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัยและบริบทผู้สูงอายุ ตลอดจนส่งเสริมการดูแลตนเองด้านอาหารเพื่อสุขภาพตามวัยและบริบทผู้สูงอายุ