ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล

การจัดการความรู้

ประเด็น การบูรณาการวิชาการกับการจัดการเรียนการสอนด้านการส่งเสริมสุขภาพ

สรุปการจัดการความรู้กับการบูรณาการการเรียนการสอน

การจัดการความรู้ เรื่องการบูรณาการจัดการเรียนการสอนวิชาปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาลและบริการวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาพ สิ่งที่ได้รับแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

  1. ด้านนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2
  2. ด้านอาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติ
  3. ด้านผู้รับบริการ(กลุ่มเป้าหมาย)

ประเด็นที่ 1 ด้านนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2

1.1 การเรียนการสอนรายวิชาปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาล

สำหรับกิจกรรมทั้งหมดของโครงการนี้ได้มีความสอดคล้องกับลักษณะของรายวิชาปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาลคือ การพัฒนาให้นักศึกษานำความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดที่เกิดจากสภาพการณ์จริงบนหอผู้ป่วย โดยใช้กระบวนการพยาบาลเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้รับบริการ ไปใช้ในการบริการวิชาการแก่สังคมภายนอก โดยเป็นการเพิ่มพูนความรู้และทักษะทางวิชาชีพพยาบาลมากขึ้น สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์และนำมาประยุกต์ใช้กับตนเองและบุคคลรอบข้างในการให้การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

1.2 การเสริมสร้างอัตลักษณ์บัณฑิต

สำหรับรูปแบบของการจัดทำโครงการบูรณาการจัดการเรียนการสอนวิชาปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาลและบริการวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาพภายใต้การเรียนการสอนภาคปฏิบัติรายวิชาปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาล สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 สิ่งที่นักศึกษาได้รับจากการดำเนินโครงการนั้นจะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพพยาบาล โดยกระบวนการของแต่ละกิจกรรมของโครงการทั้งหมดสามารถประมวลสู่องค์ความรู้ตรงตามอัตลักษณ์บัณฑิตของวิทยาลัยฯ และอัตลักษณ์บัณฑิตของสถาบันพระบรมราชชนกที่มีความต้องการให้สถาบันผลิตบัณฑิตให้มีคุณสมบัติและมีสมรรถนะคือ บริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็หมายถึงการให้บริการที่เป็นมิตร มีความรัก ความเมตตา ใส่ในใจปัญหาและความทุกข์ของผู้รับบริการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้บริการตามปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการที่เป็นจริง โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้รับบริการ ซึ่งมีความสอดคล้องกับลักษณะรายวิชาปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาล โดยเป็นการปฏิบัติการพยาบาลและการดูแลบุคคลทุกช่วงวัยของชีวิตที่มีภาวะสุขภาพปกติและเบี่ยงเบน โดยใช้กระบวนการพยาบาลในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมบนพื้นฐานของการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ดังนั้นความคาดหวังของนักศึกษาจากการฝึกปฏิบัติครั้งนี้คือการสร้างองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักศึกษาในการให้บริการสุขภาพของบุคคลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ โดยสรุปจะเห็นได้ว่า การให้ความสำคัญกับการให้บริการนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้รับบริการ และผู้ให้บริการต้องเป็นบุคคลที่มีใจในการให้บริการ(Service Mind) เป็นสำคัญ ซึ่งการบริการสามารถแสดงออกเป็น 2 แบบ คือ

1. ขั้นตอนการให้บริการ เป็นการปฏิบัติการตามขั้นตอนและเทคนิคของวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ผู้รับบริการได้ประโยชน์ ตรงตามความต้องการมากที่สุด

2. พฤติกรรมการบริการ เป็นการแสดงออกด้านการแต่งกาย สีหน้า แววตา กิริยา ท่าทาง และการพูดจา ซึ่งพฤติกรรมที่ดีย่อมสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับผู้บริการได้เป็นอย่างดี ได้แก่ การแต่งกายที่สุขภาพ สะอาด เรียบร้อย สีหน้าและแววตาที่ยิ้มแย้ม แจ่มใส อ่อนโยน กิริยาท่าทางที่ สุภาพ อ่อนน้อม การพูดจาด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล สุภาพ ชัดเจน ให้เกียรติ มีหางเสียง

1.3 การพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์และสมรรถนะของนักศึกษา

กิจกรรมของการให้บริการวิชาการในครั้งนี้เป็นการนำความรู้และทักษะการพยาบาลที่ได้รับจากการฝึกปฏิบัติรายวิชาปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาลไปบริการวิชาการแก่บุคคลภายนอก โดยเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งตรงกับลักษณะรายวิชาที่นักศึกษาได้ผ่านการฝึกปฏิบัติมาแล้ว ดังนั้นสิ่งที่นักศึกษาได้พัฒนาตนเองตามสมรรถนะนั้น คือ การสอนและให้คำปรึกษาทางสุขภาพแก่บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างจากสถานการณ์จริงที่นักศึกษาได้เคยปฏิบัติมาก่อน โดยนักศึกษาจะต้องมีความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ที่ได้จากการฝึกปฏิบัติไปสู่สถานการณ์จริงภายนอก นอกจากนี้การที่นักศึกษาจะสามารถเชื่อมโยงความรู้ได้นั้นนักศึกษาจะต้องมีการคิดเชิงวิเคราะห์ก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายนั้นมีความต้องการการดูแลสุขภาพอย่างไร เพื่อให้นักศึกษาสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้นักศึกษายังต้องมีการพัฒนาตามคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ในด้านทักษะในการติดต่อสื่อสาร และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้รับบริการ เพื่อให้การบริการวิชาการเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อนักศึกษาต่อไป

ประเด็นที่ 2 ด้านอาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติ

สำหรับการนำความรู้และประสบการณ์จากการเรียนการสอนที่ได้ถ่ายทอดแก่นักศึกษานั้น ถือเป็นการวางรากฐานทางความคิดให้แก่นักศึกษาเพื่อนำไปใช้การให้การดูแลผู้รับบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์นั้น ถือว่าเป็นการพัฒนาความเชี่ยวชาญอาจารย์ผู้สอนด้านการส่งเสริมสุขภาพเป็นอย่างดี เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองในการปลูกฝังให้นักศึกษามีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพการพยาบาล สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาตนเองและให้ประโยชน์ต่อบุคคลอื่นต่อไป นอกจากนี้อาจารย์ผู้สอนภาคปฏิบัติยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการให้บริการวิชาการมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเด็นที่ 3 ด้านผู้รับบริการ(กลุ่มเป้าหมาย)

ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาลฯ เป็นภาควิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนวิชาการพยาบาลที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการดูแลสุขภาพมนุษย์นับตั้งแต่การดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลตลอดจนการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยมีความเชื่อและตระหนักในการให้คุณค่าของการวางรากฐานในการดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดีนั้นต้องเริ่มต้นที่เด็กวัยเรียน เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต มีความกระตือรือร้นในการที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์ของตนเอง บุคคลและสื่อต่างๆ ช่างซักถาม และชอบลองทำสิ่งที่ท้าทายความสามารถ ต้องการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ต้องการให้ผู้อื่นสนใจ ชอบการยกย่อง ชมเชย รวมทั้งการยอมรับจากบุคคลรอบข้าง ดังนั้นการส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนได้เรียนรู้และได้รับการดูแลขั้นพื้นฐาน ซึ่งหมายรวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เด็กมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจและสติปัญญา เพราะการสิ่งเสริมสุขภาพเด็กในวันนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีต่อไปในอนาคต

สรุปประเด็นความรู้ที่ได้รับจากการบูรณาการจัดการเรียนการสอนวิชาปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาลและบริการวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาพในครั้งนี้ ได้แก่

  1. การเชื่อมโยงความรู้จากการเรียนการสอนภาคปฏิบัติไปสู่การบริการวิชาการแก่ชุมชน
  2. การวางรากฐานความคิดให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์แม้อยู่ในสถานการณ์จริงที่มีความแตกต่างกัน
  3. การนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการให้บริการวิชาการไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่อื่นต่อไป เพื่อพัฒนาให้นักศึกษามีแนวคิดและเป้าหมายเดียวกันในการปฏิบัติการพยาบาลบนพื้นฐานการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

สรุปองค์ความรู้

การพยาบาล เป็นการใช้ศิลปะและวิทยาศาสตร์ในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยการให้ความปลอดภัยและการส่งเสริมสุขภาพที่ดีต่อประชาชนและสังคม การพยาบาลไม่ได้มีความหมายเฉพาะการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเจ็บป่วยแต่การพยาบาลเป็นบริการที่ให้กับบุคคล ครอบครัวและสังคม โดยใช้ศิลปะและวิทยาศาสตร์ในการหล่อหลอมทัศนคติ สติปัญญา และทักษะทางการพยาบาลแก่นักศึกษาพยาบาล เพื่อให้สามารถช่วยบุคคลที่ป่วยหรือสุขภาพดี มีสุขภาพดี ซึ่งการช่วยเหลือจะครอบคลุมถึงการป้องกันโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพและการดูแลรักษาพยาบาล และการดำรงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดีที่บุคคลนั้นสามารถจะพึงมีได้

ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล เป็นภาควิชาที่รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษาพยาบาล โดยมีวัตถุประสงค์หลักของรายวิชาคือ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจ หลักการและเทคนิคปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวมในการดูแลบุคคลทุกช่วงวัยของชีวิตที่มีภาวะสุขภาพปกติและเบี่ยงเบนบนพื้นฐานการดูแลด้วยความเอื้ออาทร ดังนั้นการพยาบาลที่ต้องเกี่ยวข้องกับการดูแลในความหมายของคณาจารย์ในภาควิชาจึงเป็นการสร้างทัศนคติ ความคิดและการปลูกฝังให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่กำลังจะฝึกภาคปฏิบัติให้เข้าใจว่า การดูแลจะเริ่มต้นที่ความรู้สึกสนใจ ห่วงใย และเข้าใจความต้องการของบุคคลทุกช่วงวัยว่ามีความละเอียดอ่อน และลักษณะเฉพาะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เด็กวัยเรียน เป็นกลุ่มที่คณาจารย์ในภาควิชาให้ความสนใจ ในการนำนักศึกษาที่กำลังฝึกภาคปฏิบัติการพยาบาล ในรายวิชา ปฏิบัติการหลักการและเทคนิคการพยาบาล ไปให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้านสุขวิทยาส่วนบุคคล การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและความรู้ทั่วไปเรื่องโรคตามฤดูกาล นักศึกษาจะประยุกต์ความรู้ที่ได้ให้การพยาบาลผู้ป่วยบนหอผู้ป่วย มาใช้กับนักเรียน เช่น ความรู้เรื่องสุขวิทยาส่วนบุคคล การอาบน้ำ แปรงฟัน และการทำความสะอาดร่างกาย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นไข้หวัด เป็นต้น รูปแบบการบูรณาการ ทำให้เกิดประโยชน์แก่ เด็กวัยเรียน ครูผู้สอนในโรงเรียน นักศึกษาพยาบาล และอาจารย์พยาบาล และหากเด็กวัยเรียนเกิดแนวคิด สามารถจำในสิ่งที่นักศึกษาพยาบาลสอน และสามารถนำไปใช้ได้ ผู้ปกครองของนักเรียนจะได้รับประโยชน์จากการบริการวิชาการในครั้งนี้ด้วย

ในด้านประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับอาจารย์พยาบาลในภาควิชาคือ ความเข้าใจและการมองเห็นนักศึกษาประยุกต์ความรู้ทางการพยาบาลมาใช้ ว่านักศึกษามีความเข้าใจในเนื้อหาหรือตัวองค์ความรู้พื้นฐานมากน้อยเพียงใด การสร้างสรรค์ในการนำมาประยุกต์ใช้กับกลุ่มผู้รับบริการที่มีความแตกต่างกันทั้งในช่วงวัย และภาวะสุขภาพที่ปกติและเจ็บป่วย ความเอื้ออาทร ความสนใจ ความห่วงใยที่มีภาวะพัฒนาการของแต่วัยที่มีความแตกต่าง? ซึ่งโดยทั่วไปการจัดการเรียนการสอนเฉพาะในชั้นเรียนหรือในคลินิกนั้นเป็นการให้บริการแต่ละบุคคล เช่น การดูแลผู้ป่วยแต่ละรายในโรงพยาบาล แต่ความเป็นจริงแล้วการพยาบาลสามารถเกิดได้ในทุกที่ และเป็นกลุ่มคน ชุมชน หรือครอบครัว เช่น สถานที่ที่ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาลจัดให้แก่นักเรียนโรงเรียนเทศบาลหัวดง ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ สิ่งสำคัญที่เป็นความรู้ที่ได้รับจากการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนและการจัดการความรู้คือ (explicit knowledge) การพยาบาลที่ดีจะต้องเป็นการบริการที่ต่อเนื่อง ไม่ได้เริ่มต้นและสิ้นสุดที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผลลัพธ์หรือพัฒนาการ การบ่มเพาะความคิดที่ดีในการดูแลสุขภาพตนเองผ่านสื่อที่น่าสนใจสำหรับเด็กอาจส่งผลต่อพัฒนาการในการดูแลตนเองของเด็กเมื่อเจริญวัยต่อไปได้ และคณาจารย์ภาควิชาฯ เห็นว่า การบูรณาการรูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าวควรกระทำต่อเนื่องในสถานที่แห่งเดิมเพื่อติดตามผลการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลหัวดง ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และอาจสร้างเครือข่ายในการดูแลสุขภาพนักเรียน กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และทางโรงเรียนเทศบาลหัวดงฯ เพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพเด็กอย่างต่อเนื่อง

ความรู้ในสิ่งที่อาจารย์พยาบาลได้รับจากการเสริมสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษาจะทำให้อาจารย์นำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนทั้งในภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติและการจัดประสบการณ์นอกชั้นเรียนให้แก่นักศึกษาต่อไป

คณาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล

มกราคม 2556