การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนนักปฏิบัติ เรื่อง กระบวนการการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก Problem – Based Learning : PBL
รายงานการประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนนักปฏิบัติ
เรื่อง กระบวนการการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก Problem – Based Learning : PBL
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
ครั้งที่ 2/2562 วันที่ 9 กรกฎาคม 2562
ณ ห้องประชุมกลุ่มงานอำนวยการฯ/กลุ่มงานวิชาการ
รายนามผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนรู้
1. อาจารย์ ดร.นิศารัตน์ นาคทั่ง
2. อาจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ เนตรชัง
3. อาจารย์นัยนา อินธิโชติ
4. อาจารย์นัยนา แก้วคง
5. อาจารย์อรุณรัตน์ พรมมา
6. อาจารย์วีระยุทธ อินพะเนา
7. อาจารย์วิภาวรรณ นวลทอง
8. อาจารย์นันทกาญจน์ ปักษี
รายนามผู้ไม่เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนรู้
-
ผู้เข้าร่วมประชุมคิดเป็น ร้อยละ 100
เปิดประชุมเวลา 15.00 น.
ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
1. ประเด็นความรู้และเป้าหมายของการจัดการความรู้
วิทยาลัยฯ กำหนดให้มีชุมชนนักปฏิบัติการจัดการความรู้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามประเด็นการดำเนินงานตามพันธกิจด้านการผลิตบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2561 โดยกำหนดประเด็นความรู้และเป้าหมายการจัดการความรู้ คือ การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning สำหรับอาจารย์พยาบาลเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสมรรถนะที่พึงประสงค์แก่นักศึกษาพยาบาลศาสตร์
2. ประเด็นความรู้และเป้าหมายของการจัดการความรู้
ชุมชนนักปฏิบัติการจัดการความรู้ด้านพันธกิจการจัดการเรียนการสอน โดยมีประเด็น คือ การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem based Learning [PBL]) สำหรับอาจารย์พยาบาลเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสมรรถนะที่พึงประสงค์แก่นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งได้ดำเนินการถอดบทเรียนเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนและได้นำแนวทางดังกล่าวไปใช้ในรายวิชามโนมติ ทฤษฎี และกระบวนการพยาบาล เรื่อง กระบวนการพยาบาล สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2560 และการประชุมในครั้งนี้เป็นการถอดบทเรียนเพื่อสรุปความรู้ครั้งที่ 2 คือ การนำความรู้ที่ได้จากการจัดการความรู้ที่ได้ครั้งที่ 1 (13 มีนาคม 2558) ที่เป็นลายลักษณ์อักษร (explicit knowledge) และจากความรู้ ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง (tacit knowledge) ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีมาใช้ในการปฏิบัติจริง และมีเวทีนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีจากการปฏิบัติจริง จึงขอความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับประสบการณ์ตามประเด็นดังกล่าวของขั้นตอน PBL ตามลำดับเพื่อสรุปความรู้และนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีจากการปฏิบัติจริงในเวทีของวิทยาลัยต่อไป
มติที่ประชุม รับทราบ
ระเบียบวาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุม
- ไม่มี
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง
- ไม่มี
ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องแจ้งเพื่อทราบอื่นๆ
- ไม่มี
ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องเพื่อพิจารณา
- ไม่มี
ระเบียบวาระที่ 6 เรื่องอื่นๆ
1. การจัดการความรู้ของชุมชนนักปฏิบัติ
ผู้รับผิดชอบรายวิชาได้ดำเนินการขอความร่วมมือจากอาจารย์ผู้สอนภาคทดลอง ได้ร่วมกันแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากประสบการณ์ ความรู้ และทักษะ จากการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติ เกี่ยวกับ การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยใช้กระบวนการ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem Based Learning [PBL]) มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 2 รายวิชามโนมติ ทฤษฎี และกระบวนการพยาบาล เรื่อง กระบวนการพยาบาล โดยอาจารย์ผู้เข้าร่วมได้แบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ ความรู้ และทักษะของตนเองอย่างกว้างขวาง สามารถถอดบทเรียน ดังนี้
1.1 สรุปผลการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติที่ดี การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยใช้กระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem Based Learning [PBL]) พบว่า ขั้นตอนการดำเนินการ ยังคงประกอบด้วย 3 ขั้นตอน 1) ขั้นเตรียมการ 2) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (PBL) และ 3) ขั้นประเมินผล และในแต่ละขั้นตอนย่อยๆ ของขั้นตอนหลักนั้น โดยภาพรวม อาจารย์ผู้ร่วมสอนแบบ PBL เห็นว่า มีความชัดเจน เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ดีได้ อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดข้อค้นพบปลีกย่อยเพิ่มเติม ดังนี้
1) ขั้นที่ 1 : เตรียมการ พบข้อเสนอแนะที่ดีจากการปฏิบัติ คือ
- จัดทำคู่มือโดยใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมของทีมผู้ร่วมสอน ทั้งนี้เพราะการมีส่วนร่วม จะช่วยสร้างความกระจ่างชัดในการกระทำ หรือเกิดความเข้าใจร่วมกันอย่างชัดแจ้ง มีทิศทาง/เข็มมุ่งเดียวกัน ทั้งแนวทางการปฏิบัติเชิงระบบและรายละเอียดปลีกย่อยในคู่มือ/การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีทางหนึ่งที่นำครูเข้าสู่ความเชี่ยวชาญมีมาตรฐานในการสอน
- คู่มือสำหรับผู้เรียน ได้เพิ่มเติมแบบประเมินหรือเครื่องมือต่างๆ สำหรับประเมินผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้รายบท และการเรียนรู้แบบ PBL ทำให้นักศึกษามีแนวทางในการเตรียมตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับการวัดและประเมินผล
- คู่มือสำหรับครู/ผู้สอน/ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ประกอบด้วย ๑) แบบประเมินหรือเครื่องมือต่างๆ สำหรับประเมินผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้รายบท/เนื้อหา และการเรียนรู้แบบ PBL 2) เนื้อหาสาระหลัก/ที่จำเป็น สำหรับการอธิบายเชื่อมโยงหรือตอบโจทย์ปัญหา หรือ Triggers นั้นๆ ทั้งนี้เพราะครูผู้สอนแต่ละคนย่อมมีความความรู้ ความเข้าใจ และลุ่มลึกในเนื้อหาสาระและประสบการณ์มากน้อยแตกต่างกัน ดังนั้น การที่ผู้สอนร่วมกันกำหนดเนื้อหาสาระที่จำเป็นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และนำกลับไปอ่านหรือทบทวนอย่างจริงจัง ย่อมสร้างความเข้าใจในเนื้อหาได้ชัดเจน เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง เมื่อเข้ากลุ่มกับนักศึกษา และ 3) รายละเอียดการดำเนินกิจกรรมในแต่ละครั้ง เพื่อให้ผู้สอนมีแนวทางและหลักปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน
- โจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (triggers) ควรเพิ่มกระบวนการการตรวจสอบคุณภาพของโจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (triggers) โดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสร้างมาตรฐานของเครื่องมือ สำหรับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
– ในเตรียมผู้เรียนนั้น ควรนำกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้แบบ PBL ด้วย โดยการเน้นกระบวนการเสริมพลังการเรียนรู้ (Empowerment) แก่นักศึกษา ก่อนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ทั้งนี้เพราะการ Empowerment จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมให้นักศึกษามีอิสระในการปฏิบัติและเรียนรู้ หรือปลดปล่อยความรู้สึกที่ถูกคุกคามจากการบีบบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ สิ่งที่น่าเบื่อ ให้เป็นสิ่งที่ดึงดูดและน่าสนใจที่เข้าไปเรียนรู้
2) ขั้นที่ 2 : การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (PBL) โดยส่วนใหญ่ เห็นว่า มีความชัดเจน เป็นแนวทางการปฏิบัติได้ดี ไม่มีเพิ่มเติมใดๆ
3) ขั้นที่ 3 : การประเมินผล มีข้อค้นพบเพิ่ม ดังนี้
- นอกจากจะต้องประเมินตามปัจจัยที่จำเป็นต้องประเมินแล้ว (ปัจจัยที่กำหนดไว้เดิม) ควรพิจารณาให้มีการประเมินแบบครอบคลุม 360 องศา
– วิธีการวัดและประเมินผล โดยทีมผู้ร่วมสอนร่วมกำหนดวิธีการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับรูปแบบ/กระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะวิธีเชิงคุณภาพ : การสะท้อนคิด (Reflection) จากการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการที่ควรนำมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะรูปแบบการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน หรือการเขียนการเรียนรู้ ภายใต้คำถามกระตุ้นหรือนำสู่กระบวนการสะท้อนคิด ทั้งนี้ วิธีการประเมินผลแบบการสะท้อนคิดนั้น จะช่วยให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงคุณภาพที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง/พัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบ PBLและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ผ่านการถ่ายทอดจากตัวผู้เรียนรายบุคคลสู่การรับรู้ของบุคคลอื่น ซึ่งการสะท้อนคิด ทั้งรูปแบบการเขียนและการพูด จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษา/อาจารย์/ผู้สอนได้ทบทวนและตระหนักรู้ในความรู้สึก ความคิดของตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตระหนักรู้ดังกล่าว จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งในความเป็นไปของเหตุการณ์ ความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนา/ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL ให้มีคุณภาพต่อไป
1.2 สรุปผลการถอดบทเรียน และนำไปปรับปรุงแนวปฏิบัติที่ดี เรื่อง การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยใช้กระบวนการการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem Based Learning [PBL]) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 7 มีรายละเอียด ดังนี้
แนวปฏิบัติ : การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning : กระบวนการการเรียนรู้
โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem – Based Learning : PBL)
[ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 8 : 9 กรกฎาคม พ.ศ.2562]
แนวปฏิบัติ : การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning : กระบวนการการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหา เป็นหลัก (Problem – based Learning : PBL) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 8 ได้พัฒนาขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณาจารย์ชุมชนนักปฏิบัติภายใต้กระบวนการจัดการความรู้ (KM) อย่างต่อเนื่อง ภายหลังการนำไปใช้จริงในการจัดการเรียนการสอน ครั้งที่ 5 ในรายวิชา มโนมติ ทฤษฎี และกระบวนการพยาบาล เรื่อง กระบวนการพยาบาล สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ปีการศึกษา 2561 (หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2560) โดยแนวปฏิบัติฉบับปรับปรุง มีรายละเอียด ดังนี้
การจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning คือ กระบวนการหรือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองอย่างกระตือรือร้นและใฝ่รู้ ทั้งคิด ทำ ค้นคว้า แก้ปัญหา และสร้างสรรค์การเรียนรู้อย่างอิสระ ฯลฯ โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem–based Learning : PBL) คือ วิธีการเรียนการสอนที่ใช้ปัญหาหรือสถานการณ์เป็นจุดเริ่มต้นและกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการใฝ่หาความรู้เพื่อแก้ปัญหา โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการแสวงหาและรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายในกลุ่มผู้เรียนโดยผู้สอนมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องน้อยที่สุด
ขั้นตอนการดำเนินการ
การดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบ PBL แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 : เตรียมการ
ขั้นเตรียมการนี้ถือว่าเป็นระยะที่มีความสำคัญ ซึ่งการเตรียมการที่ดีจะช่วยให้การเรียนการสอนแบบ PBL ประสบความสำเร็จ บรรลุตามเป้าหมายและผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ โดยการเตรียมการที่ต้องกระทำ ภายใต้การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของผู้สอน ได้แก่
1. จัดทำคู่มือการเรียนการสอนแบบ PBL สำหรับครู/ผู้สอน/ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) และผู้เรียน โดยมีหลักการ ดังนี้
1.1 คู่มือการเรียนการสอนแบบ PBL
1) คู่มือสำหรับผู้เรียน ควรประกอบด้วย 1) ขั้นตอนการเรียนรู้แบบ PBL 2) โจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (triggers) และ 3) แบบประเมินหรือเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้สำหรับประเมินผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้รายบท และการเรียนรู้แบบ PBL
2) คู่มือสำหรับครู/ผู้สอน/ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ควรประกอบด้วย 1) ขั้นตอนการเรียนรู้แบบ PBL 2) โจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (triggers) 3) แบบประเมินหรือเครื่องมือต่างๆ สำหรับประเมินผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้รายบท/เนื้อหา และการเรียนรู้แบบ PBL 4) เนื้อหาสาระหลัก/ที่จำเป็น สำหรับการอธิบายเชื่อมโยงหรือตอบโจทย์ปัญหา หรือ Triggers นั้นๆ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สอนทั้งนี้เพราะผู้สอนแต่ละคนมีความความรู้ ความเข้าใจ และลุ่มลึกในเนื้อหาสาระและประสบการณ์แตกต่างกัน ดังนั้น การที่ผู้สอนร่วมกันกำหนดเนื้อหาสาระที่จำเป็นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และนำกลับไปทบทวนอย่างจริงจัง ย่อมสร้างความเข้าใจในเนื้อหาได้ชัดเจน เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง เมื่อเข้ากลุ่มกับนักศึกษา และ 5) รายละเอียดการดำเนินกิจกรรมในแต่ละครั้ง เพื่อให้ผู้สอนมีแนวทางและหลักปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน
1.2 กระบวนการให้ได้มาซึ่งคู่มือการเรียนการสอนแบบ PBLที่มีคุณภาพ ต้องมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ กระบวนการจัดทำแบบมีส่วนร่วมของทีมผู้ร่วมสอน ทั้งนี้เพราะการมีส่วนร่วมจะช่วยสร้างความกระจ่างชัดในการกระทำ หรือเกิดความเข้าใจร่วมกันอย่างชัดแจ้ง มีทิศทาง/เข็มมุ่งเดียวกัน ทั้งแนวทางการปฏิบัติเชิงระบบและรายละเอียดปลีกย่อยในคู่มือ/การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีทางหนึ่งที่นำครูเข้าสู่ความเชี่ยวชาญมีมาตรฐานในการสอน
2. สร้างโจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (triggers) โดย Triggers ที่ดี ควรมีลักษณะ/คำนึงความครบถ้วน/ประเด็นเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
2.1 สร้างมาจากวัตถุประสงค์การเรียนรู้ (objective learning) ที่จำเป็น หรือพิจารณาถึงความครอบคลุมของวัตถุประสงค์การเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนของรายวิชานั้นๆ
2.2 ไม่เกินความสามารถด้านประสบการณ์ ความรู้ ทักษะที่เป็นพื้นฐานเดิมของผู้เรียน
2.3 มีความคล้ายคลึงหรือเสมือนจริงตามสถานการณ์ที่ต้องการ โดยเนื้อหาส่วนนี้โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมข้อมูลประวัติการเจ็บป่วย ผลการตรวจร่างกาย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สอดคล้องกันให้ชัดเจนและครบถ้วนยิ่งขึ้น
2.4 มีหัวเรื่องและเนื้อหา/เหตุการณ์ที่น่าสนใจ หรือกระตุ้น ดึงดูด หรือรุกเร้าความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน เช่น เป็นเหตุการณ์ที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน เหตุการณ์ร่วมสมัย เป็นต้น
2.5 มีคำถามกระตุ้น (trigger question) เพื่อช่วยให้ tutor ใช้ในการถามกระตุ้นนักศึกษาให้คิดไปตามแนวทางหรือการอภิปรายดำเนินไปสู่วัตถุประสงค์ของโจทย์ปัญหาที่กำหนดไว้
2.6 มีสถานการณ์เสมือนจริง (Simulation Based Learning) โดยกำหนดให้นักศึกษาแสดงบทบาทสมมติตามสถานการณ์/trigger ที่กำหนด หรือผู้ป่วยเสมือนจริง เพื่อเสริมสร้างความมีชีวิตชีวา (ความสด) ของโจทย์ปัญหา ทำให้โจทย์น่าสนใจ มีการสื่อสารสองทาง (two way communication) กระตุ้นการสร้างมโนทัศน์การรับรู้และความเข้าใจในโจทย์ปัญหาได้ดีขึ้น
2.7 ตรวจสอบคุณภาพของโจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (triggers) โดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสร้างมาตรฐานของเครื่องมือ สำหรับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
3. การสร้างสื่อวีดีทัศน์ (VDO) หรือการเลือกใช้สื่อวีดีทัศน์เรื่องการเรียนรู้แบบ PBL ที่เหมาะสม สำหรับนักศึกษาเพื่อการเรียนรู้กระบวนการ ขั้นตอน หรือแนวทางการเรียนรู้แบบ PBL อันจะนำไปสู่การกำหนดบทบาทของตนเอง การเตรียมตนเอง หรือการพัฒนาตนเองสู่เส้นทางการเรียนรู้ตามกระบวนการ PBL ให้บรรลุผลลัพธ์ของการเรียนรู้ตามที่ตั้งไว้
4. เตรียมครู/ผู้สอน ดังนี้
4.1 ประชุมทีมครูผู้สอนเพื่อสร้างความเข้าใจในขั้นตอน PBL และบทบาทของครู/ผู้สอนตามเจตนารมณ์ของการเรียนรู้แบบ PBL คือ ครู/ผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แก่นักศึกษา (facilitator) ดังแนวคิดที่ว่า “Teach less learn more”
4.2 ฝึกทักษะการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดอย่างต่อเนื่อง รอบคอบ ต่อยอด เป็นระบบ
4.3 จัดสัดส่วนครูต่อนักศึกษาที่เหมาะสม คือ 1 : 5-12 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป จากผลการประเมินการจัดการเรียนการสอนโดยผู้สอนและผู้เรียนพบว่า สัดส่วนครูต่อนักศึกษาในแต่ละกลุ่มมีจำนวนมากเกินไป (ครูต่อนักศึกษา 1 : 15-16 คน) ไม่สามารถกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง ในปีการศึกษา 2562 จึงมีการปรับสัดส่วนครูต่อนักศึกษาในแต่ละกลุ่มให้มีจำนวนลดลงคือ 1 : 13-14 คน
5. เตรียมผู้เรียน ดังนี้
5.1 วางแผนแบ่งกลุ่มผู้เรียนให้เหมาะสม
1) ได้สัดส่วนครูต่อนักศึกษาที่เหมาะสม คือ 1 : 5-12 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป
2) คละเด็กเรียนเก่ง-ปานกลาง-อ่อน ตลอดจนเด็กที่มีประสบการณ์ ที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยเด็กที่เก่งและหรือเด็กที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องตามโจทย์ปัญหานั้นๆ จะเป็นตัวกระตุ้นพลวัตกลุ่ม (group dynamics) ทำให้สมาชิกกลุ่มได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
5.2 ฝึกทักษะการอ่านและสรุปความจากเนื้อหาที่อ่าน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง และนักศึกษาต้องใช้ตลอดการเรียนรู้แบบ PBL
5.3 สร้างความเข้าใจในขั้นตอนและบทบาทของผู้เรียนตามกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL แก่ผู้เรียน
5.4 สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้แบบ PBL โดยการเน้นกระบวนการเสริมพลังการเรียนรู้ (Empowerment) แก่นักศึกษา ก่อนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ทั้งนี้เพราะการ Empowerment จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมให้นักศึกษามีอิสระในการปฏิบัติและเรียนรู้ หรือปลดปล่อยความรู้สึกที่ถูกคุกคามจากการบีบบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ สิ่งที่น่าเบื่อ ให้เป็นสิ่งที่ดึงดูด และน่าสนใจที่เข้าไปเรียนรู้
5.5 สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรและปลอดภัยแก่ผู้เรียน เพราะบรรยากาศที่เป็นมิตร จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้สึกอิสระ ปลอดภัย ไม่ถูกคุกคามหรือบีบบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเรียนด้วยตนเอง
ขั้นที่ 2 : การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (PBL)
ครู/ผู้สอนดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามขั้นตอน PBL 3 ระยะ 7 ขั้นตอน ดังนี้
ระยะที่ 1 : เปิดโจทย์ปัญหา ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 – 5 ของ PBL ดังนี้
Step 1 : Clarifying terms and concepts ผู้เรียนทั้งกลุ่มร่วมกันอ่านโจทย์หรือสถานการณ์ทำความเข้าใจกับศัพท์และแนวคิดให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน โดยในขั้นตอนนี้ ได้เพิ่มกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เข้าใจโจทย์หรือสถานการณ์ปัญหาเสมือนหนึ่งเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ให้มากที่สุดด้วยวิธีการให้นักศึกษาร่วมกันแสดงบทบาทสมมุติ (Role Play) ตามโจทย์ปัญหาที่กำหนดขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าว นอกจากจะทำให้ผู้เรียนได้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมตามบทบาทที่แสดงแล้ว ยังทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานเบิกบานจากการแสดงหรือกิจกรรมการเคลื่อนไหว ไม่เครียด ส่งผลให้ผู้เรียนไม่ถูกกดดัน และเปิดใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนต่อเนื่อง
Step 2 : Identify the problem ผู้เรียนระบุปัญหาของโจทย์หรือสถานการณ์
Step 3 : Analyze the problem เรียนวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาความเชื่อมโยงของปัญหา โดยขั้นตอนนี้ สามารถใช้เทคนิค Mind map เป็นเครื่องมือให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงของปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ Mind map จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการจัดระเบียบความคิดทั้งแบบคิดกว้างและคิดลึก ช่วยให้ผู้เรียนเห็นภาพรวมของความสัมพันธ์ของสถานการณ์/โจทย์จากกระดาษแผ่นเดียว ทำให้เข้าใจได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการจับประเด็นสำคัญ สรุปสาระสำคัญนำมาสื่อสารให้ผู้อื่นสามารถจับต้อง เข้าใจและต่อยอดความรู้ได้ เป็นต้น
Step 4 : Formulate hypotheses ผู้เรียนตั้งสมมติฐานที่เป็นสาเหตุของปัญหาและจัดลำดับความสำคัญ
Step 5 : Formulating learning objective ผู้เรียนตั้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหา
ระยะที่ 2 : ศึกษาหาความรู้ เป็นขั้นตอนที่ 6 ของ PBL คือ
Step 6 : Collect additional information outside the group ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลนอกกลุ่มโดยต่างคนต่างแยกย้ายกันหาความรู้จากแหล่งวิทยาการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ โดยในขั้นตอนนี้ แม้จะเป็นการให้นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง แต่ครู/ผู้สอนควรมีบทบาท ที่สำคัญ คือ การกำกับและติดตามเพื่อให้นักศึกษาดำเนินการค้นคว้าอย่างเหมาะสม มีทิศทางการ หาคำตอบที่ถูกต้อง ตรงประเด็น จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและน่าเชื่อถือ โดยผู้สอนและผู้เรียนกำหนดข้อตกลงร่วมกันในการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หลากหลาย และเป็นปัจจุบัน
ระยะที่ 3: ปิดโจทย์ปัญหาเป็นขั้นตอนที่ 7 ของ PBL คือ
Step 7 : Synthesize and test the newly acquired and identify information generalization and principles derived from studying this problem กลุ่มกลับมาพบกันใหม่สังเคราะห์ข้อมูล ที่ได้มา เพื่อพิสูจน์สมมติฐานและสรุปเป็นหลักการสำหรับการนำไปใช้ต่อไปในอนาคต
ขั้นที่ 3 : ประเมินผล ประกอบด้วย
1. ปัจจัยที่จำเป็นต้องพิจารณาประเมิน เพื่อการปรับปรุง/พัฒนากระบวนการเรียนรู้ และควรพิจารณาประเมินให้ครอบคลุม 360 องศา โดยปัจจัยที่จำเป็นต้องพิจารณาประเมิน ประกอบด้วย
1.1 ด้านผู้เรียน อันจะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ดังนี้
1.1.1 การประเมินผลระหว่างการเรียนการสอนเพื่อนำข้อมูลวางแผนพัฒนาผู้เรียนตามกระบวนการ PBL อย่างต่อเนื่อง (formative evaluation)
1.1.2 การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ (summative evaluation) ตามที่กำหนด เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแบบ PBL ได้แก่ 1) ความรู้ จัดให้มีการประเมินเป็นรายบุคคลโดยการสอบภาคทฤษฎี 2) ความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 3) ความสามารถในการแก้ปัญหา 4) ความสามารถในการทำงานเป็นทีม และ 5) ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
1.2 ด้านครู/ผู้สอน จะมุ่งเน้นการประเมินประสิทธิภาพและคุณภาพของครู/ผู้สอนในบทบาทที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
1.3 ด้านคู่มือการเรียนการสอนแบบ PBL
1.4 โจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (Triggers)
2. วิธีการวัดและประเมินผล โดยทีมผู้ร่วมสอนต้องร่วมกำหนดวิธีการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับรูปแบบ/กระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะวิธีเชิงคุณภาพ : การสะท้อนคิด (Reflection) จากการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการที่ควรนำมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะรูปแบบการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน หรือการเขียนการเรียนรู้ ภายใต้คำถามกระตุ้นหรือนำสู่กระบวนการสะท้อนคิด ทั้งนี้ วิธีการประเมินผลแบบการสะท้อนคิดนั้น จะช่วยให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงคุณภาพที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง/พัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบ PBL และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ผ่านการถ่ายทอดจากตัวผู้เรียนรายบุคคลสู่การรับรู้ของบุคคลอื่น ซึ่งการสะท้อนคิด ทั้งรูปแบบการเขียนและการพูด จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษา/อาจารย์/ผู้สอนได้ทบทวนและตระหนักรู้ในความรู้สึก ความคิดของตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตระหนักรู้ดังกล่าว จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งในความเป็นไปของเหตุการณ์ ความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนา/ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL ให้มีคุณภาพต่อไป
ชุมชนนักปฏิบัติการจัดการความรู้ PBL
ผู้ถอดบทเรียน
9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
การสอนโดยใช้รูปแบบ Problem-based Learning สิ่งที่ผู้สอนควรตะหนักถึงคือ การสอนด้วยวิธีนี้ไม่ใช่ “การสอนแบบแก้ปัญหา” (Problem solving method) ซึ่งเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น สอนเนื้อหาไปบางส่วนก่อน จากนั้นก็ทดลองให้นักศึกษาแก้ปัญหาเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เป็นวิธีสอนแบบแก้ปัญหาไม่ใช่การสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
การเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบ Problem-based Learning : PBL คือ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยปัญหานั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้เรียน อาจเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจหรือ มีความหมายกับผู้เรียนที่สามารถนำมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้โดยปัญหา แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ปัญหาไม่ซับซ้อนสามารถค้นคว้าและคิดหาคำตอบในระยะสั้น กระบวนการเรียนรู้ด้วย Problem-based Learning ก็จะสามารถหาคำตอบของปัญหาหรือประเด็นที่สนใจ และปัญหาที่ซับซ้อน ต้องศึกษาค้นคว้า พัฒนา ตรวจสอบ โดยใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่า อาจต้องสร้างชิ้นงานเพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา ลักษณะนี้ มักจะใช้ Project-based Learning เข้ามาช่วย
การเรียนรู้ด้วย PBL มุ่งสร้างประสบการณ์ตรง จึงเน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ ฝึกทักษะการคิด เผชิญสถานการณ์ปัญหา วางแผนการเรียนรู้ และตรวจสอบกำกับการเรียนรู้
การเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบ Problem-based Learning (PBL) คือ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยปัญหานั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้เรียน อาจเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจหรือ มีความหมายกับผู้เรียนที่สามารถนำมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้โดยปัญหา การเรียนรู้ด้วย PBL จึงเป็น “การใช้ปัญหา ทำให้เกิดปัญญา” สิ่งสำคัญผู้สอนควรตระหนักและเข้าใจถึงบริบทผู้เรียนและควรมีการ Empowerment ผู้เรียนเป็นระยะๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาวิธีคิด ทักษะการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบ Problem-based Learning : PBL เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนเรียนรู้นักศึกษาจะเกิดทักษะที่สำคัญในด้านความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความสามารถในการแก้ปัญหา และ ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
PBL จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้และทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากผู้เรียนจะได้ฝึกการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล วิพากษ์ สร้างสรรค์ และคิดอย่างมีวิจารณญาณ ที่ผ่านจากการเรียนรู้กับกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจากการเรียนการสอนในรูปแบบบรรยาย ที่ผู้เรียนจะมีส่วนร่วมน้อย และทำให้ผู้เรียนไม่สามารถฝึกคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหาหรือให้การพยาบาลเมื่อเจอกับสถานการณ์ต่างๆ และส่วนที่สำคัญคือเกิดความท้าทายต่ออาจารย์ผู้สอนที่จะต้องทำความเข้าใจและเตรียมการสอนแบบ PBL รวมถึงการวัดประเมินผลในลักษณะการสอนเช่นนี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น
การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักเป็นการบูรณาการระหว่างความรู้ (knowledge) กับปัญญา (cognitive and wisdom) ทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดที่ผ่านประสบการณ์การค้นคว้าด้วยตนเองเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาหรือโจทย์คำถามที่เกิดขึ้นในใจของตนเองด้วยการกระตุ้นให้คิดจากอาจารย์หรือ การเกิดความคิดสงสัยในสิ่งที่เป็นปัญหาหรือประเด็นการเรียนรู้นั้นด้วยตนเอง PBL เป็นการเรียนรู้โดยผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผสมผสานกับการยอมรับฟังความคิดเห็นระหว่างกันและกันกับผู้อื่นเพื่อส่งเสริมปัญญาการเรียนรู้ (Knowing) อย่างแท้จริง
การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยใช้กระบวนการ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem Based Learning [PBL])ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน 1) ขั้นเตรียมการ 2) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (PBL) และ 3) ขั้นประเมินผล มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน พบว่า มีความชัดเจน เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ดี เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษา/อาจารย์/ผู้สอนได้ทบทวนและตระหนักรู้ในความรู้สึก ความคิดของตนเองต่อผู้อื่น ต่อเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตระหนักรู้ดังกล่าว จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งในความเป็นไปของเหตุการณ์ ความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนา/ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL ให้มีคุณภาพต่อไป
การเรียนการสอนแบบ PBL เป็นวิธีการที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้แบบ active learning อย่างแท้จริง เพราะผู้เรียนได้มีการสืบค้น ค้นหาความรู้ข้อเท็จจริงต่างๆด้วยตนเองจากประเด็นปัญหาหรือข้อคำถามที่ตนเองยังสัยหรือหาคำตอบไม่ได้ ทั้งนี้ในโลกแห่งการเรียนรู้ในปัจจุบันแหล่งความรู้มีอยู่มากมาย เมื่อผู้เรียนมีวิธีการที่ค้นหาด้วยตนเองจะทำให้ความรู้ต่างๆเหล่านั้นอยู่คงทนกับตัวเอง จึงควรสนับสนุนให้เลือกใช้วิธีการเรียนการสอนแบบ PBL โดยเฉพาะวิชาทางการพยาบาลเพราะจุดเริ่มต้นมาจากประเด็นปัญหาที่ยังคงต้องหาคำตอบด้วยตนเอง
PBL เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้อย่างแท้จริง และควรทำเป็นกลุ่มย่อยไม่เกิน 8 คน จึงเหมาะกับการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ ที่จะทำให้นักศึกษาเห็นปัญหาจากสถานการณ์จริง และนำมาวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบซึ่งอาจมีมากกว่า ๑ คำตอบจึงจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning หรือ PBL) เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์นิยม (Constructivism) โดยให้ผู้เรียนสร้างความรู้ใหม่จากการใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโลกเป็นบริบท (context) ของการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์และคิดแก้ปัญหา รวมทั้งได้ความรู้ตามศาสตร์ในสาขาวิชาที่ตนศึกษาไปพร้อมกันด้วย การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจึงเป็นผลมาจากกระบวนการทำงานที่ต้องอาศัยความเข้าใจและการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก จะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านปัญญาเนื่องจากเป็นเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแสวงหาความรู้ เป็นสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ผู้เรียนจะต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในทุกด้าน การแสวงหาคำตอบขึ้นอยู่กับทักษะในการใช้ปัญญาของตนเอง เพราะการเรียนรู้เพื่อหาคำตอบนั้นไม่สามารถเรียนรู้ได้หมด ส่วนการเรียนรู้โดยมีทักษะการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนที่สมรรถนะที่ตอบสนองการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงานในอนาคต
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning หรือ PBL) เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะกับการพัฒนาผู้เรียนในศตวรรตที่ ๒๑ เน่ืองจากเป็นการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านการคิดของผู้เรียน ซึ่งต้องอาศัยความพร้อมของทั้งผู้สอนและผู้เรียนจึงสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL เป็นวิธีการเรียนการสอนหนึ่งที่น่าสนใจเพราะนักศึกษาสามารถใช้เป็นแนวทางในการฝึกภาคปฏิบัติบนหอผู้ป่วยในสถานการณ์จริงได้ ครูต้องทำหน้าที่ในการ ให้คำปรึกษาแนะนำ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียน และให้ข้อมูลย้อนกลับ เพื่อให้นักศึกษาสามารถพัฒนาต่อยอดได้ต่อไป
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นการเรียนที่เน้นการพัฒนาตัวผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่ผู้เรียนจะใช้ทั้ง Head Heart และ Hand พร้อมๆ กัน คือใช้สมองในการคิด ใช้หัวใจในการทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ ใช้มือในการจดบันทึกและค้นคว้า
PBL เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้อย่างแท้จริง และควรทำเป็นกลุ่มย่อยไม่เกิน 8 คน จึงเหมาะกับการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning หรือ PBL) เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์นิยม (Constructivism) โดยให้ผู้เรียนสร้างความรู้ใหม่ จากการใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโลกเป็นบริบทของการเรียนรู้(Learning Context) เพื่อให้ผู้เรียน
เกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์และคิดแก้ปัญหา รวมทั้งได้ความรู้ตามศาสตร์ในสาขาวิชาที่ตนศึกษา ไปพร้อมกันด้วย การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจึงเป็นผลมาจากกระบวนการท างานที่ต้องอาศัยความเข้าใจและการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก ถ้ามองในแง่ของยุทธศาสตร์การสอน PBL เป็นเทคนิคการสอน ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เผชิญหน้ากับปัญหาด้วยตนเอง จะท าให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะในการคิดหลายรูปแบบ เช่นการคิดวิจารณญาณ คิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมสำหรับการนำมาจัดการเรียนการสอนด้านการพยาบาล โดยสำคัญที่ผุ้สอนต้องเข้าใจเทคนิคการที่จะทำให้ผุู้เรียนเกิดการเรียนรู้กับปัญหานั้นด้วยตนเอง และฝึกทักษะการคิด เพื่อเป็นการส่งเสริมทักษะทางปัญญากับผู้เรียนได้
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักป็นวิธีการเรียนการสอนที่น่าสนใจ
ได้รับความนิยมสำหรับการนำมาจัดการเรียนการสอนด้านการพยาบาลป็นสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ จึงเหมาะกับการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะวิชาทางการพยาบาลเพราะจุดเริ่มต้นมาจากประเด็นปัญหาที่ยังคงต้องหาคำตอบ ความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL ให้มีคุณภาพต่อไป
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (PBL) เป็นวิธีการเรียนการสอนที่ใช้ปัญหาหรือสถานการณ์เป็นจุดเริ่มต้นและกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการใฝ่หาความรู้เพื่อแก้ปัญหา โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการแสวงหาและรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายในกลุ่มผู้เรียนโดยผู้สอนมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องน้อยที่สุด ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบนี้จะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านปัญญาให้กับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้เรียนต้องการแสวงหาความรู้ เป็นสมรรถนะของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในทุกด้าน
Problem-based Learning : PBL คือ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยปัญหานั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้เรียน อาจเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจ การจัดการเรียนรู้นี้มุ่งสร้างประสบการณ์ตรง จึงเน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ ฝึกทักษะการคิด เผชิญกับปัญหา วางแผนการเรียนรู้ และตรวจสอบกำกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ พัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
จากข้อมูลของงานวิจัยของคุณสิริวัฒน์ อายุวัฒน์ (2560) พบว่าการปรับเปลี่ยนการเรียนแบบบรรยายสู่การเรียนการสอนโดยใช้ ปัญหาเป็นหลักต้องอาศัยเวลา ผู้สอนจะต้องเชื่อมั่นในผู้เรียนว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และต้องกระตุ้น สนับสนุนผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ การสอน PBL จะช่วยส่งเสริมการทำงานเป็นทีม บทบาทผู้นำและสมาชิกกลุ่ม การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งเป็นการเตรียมนักศึกษาสู่การทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ การแลกเปลี่ยนความรู้และการตัดสินใจแก้ปัญหา ผู้เรียนจะคงความรู้ได้ยาวนานและมีทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองดีกว่า ผู้เรียน มีทักษะการให้แก้ปัญหามากกว่าซึ่งเป็นทักษะของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ส่วนข้อจำกัดของการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก คือ อาจทำให้ผู้เรียนเกิดความเครียด ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักต้องการแหล่งค้นคว้ามากมาย หลากหลาย และอาจารย์ผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ต้องมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก(Problem Based Learning [PBL])เป็นวิธีการเรียนการสอนที่ได้รับความนิยมสำหรับการนำมาจัดการเรียนการสอนด้านการพยาบาล เพราะมีความจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ จึงเหมาะกับการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะวิชาทางการพยาบาลโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก นักศึกษาต้องมีแหล่งค้นคว้ามากมาย หลากหลาย และความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ระหว่างบุคคล ซึ่งทำให้นักศึกษาเกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ และเกิดทักษะทางปัญญาขึ้น
รูปแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบให้แก่นักเรียนโดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ คิดวิจารณญาณ การสืบค้นและรวบรวมข้อมูล กระบวนการกลุ่ม การบันทึกและการอภิปราย การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานครูผู้สอนจะทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน คอย ให้คำปรึกษา กระตุ้นให้ผู้เรียนเอาความรู้เดิมที่มีอยู่มาใช้และเกิดการเรียนรู้โดยการตั้งคำถาม ส่งเสริมให้ผู้เรียนประเมินการเรียนรู้ของตนเอง รวมทั้งเป็นผู้ประเมินทักษะของผู้เรียนและกลุ่ม พร้อมให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการพัฒนาตนเอง
การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เป็นactive learning ที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นการกระตุ้นผู้เรียนให้มีการคิดวิเคราะห์จากปัญหาทางการพยาบาล เชื่อมโยงความรู้ ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจที่แท้จริงและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการฝึกปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ
การเรียนการสอนแบบ PBL เป็นการเรียนการสอนที่ทำให้นักศึกษาได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 การจัดแนวทางในการสอนแบบ PBL ที่เป็นรูปธรรมส่งเสริมให้อาจารย์จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีของนักศึกษา
การเรียนแบบ PBL ของวพบ.อต. ยังคงต้องพัฒนาต่อไป เพื่อความมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อนำไปปฏิบัติแล้ว และประเมินมาแล้วก็ควรนำผลที่ได้มาพัฒนาต่อๆไป ทั้งนี้ไม่ว่าจะด้านอาจารย์ นักศึกษา สิ่งสนับสนุนต่างๆล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
การเรียนรู้ด้วย PBL มุ่งสร้างประสบการณ์ตรง จึงเน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ ฝึกทักษะการคิด เผชิญสถานการณ์ปัญหา วางแผนการเรียนรู้ และตรวจสอบกำกับการเรียนรู้ และนอกจากนี้ PBL ยังช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้กับผู้เรียนได้อีกด้วยอาจกล่าวได้ว่า “ภาระงานที่ท้าท้าย ช่วยสร้างทักษะการคิดและแก้ปัญหาได้ดี”ดังนั้น การเรียนรู้ด้วย PBL จึงเป็น “การใช้ปัญหา ทำให้เกิดปัญญา”
“การเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะให้เกิดผล ต้องไม่ใช้วิธีคิดแบบเดิม” จุดเน้นการพัฒนาผู้เรียนของโรงเรียนสุขภาวะเน้นให้เกิด “ปัญญาภายใน” ที่ใช้กิจกรรมจิตศึกษา และ “ปัญญาภายนอก” ซึ่งการสร้างปัญญาภายนอก เป็นเรื่องของการพัฒนาวิธีคิด ทักษะการเรียนรู้ ให้กับผู้เรียน โดยการจัดการเรียนรู้ด้วย PBL ที่เป็นการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนจากเดิม
การเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-Based Learning : PBL) เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่มีแนวคิดในการส่งเสริมทักษะการคิดวิจารณญาณ จึงเป็นความท้าทายของอาจารย์ผู้สอนในการออกแบบการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 บทความนี้นำเสนอแนวคิดการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การประยุกต์วิธีการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักกับวิชาการพยาบาลครอบครัวและชุมชน 2 บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ และความท้าทายในการนำไปใช้เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการคิดวิจารณญาณ การเรียนรู้ด้วยตนเอง และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การจัดการเรียนสอนด้วยรูปแบบ PBL เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองอย่างกระตือรือร้นและใฝ่รู้ ทั้งคิด ทำ ค้นคว้า แก้ปัญหา และสร้างสรรค์การเรียนรู้อย่างอิสระ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติเมื่อต้องเป็นพยาบาลวิชาชีพ และสามารถนำไปประยุกต์เข้ากับกระบวนการพยาบาลในการดูลแลผู้ป่วย โดยรูปแบบการสอนแบบ PBL ผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ นศ.จะเป็นผู้ที่ต้องแสดงศักยภาพ ในการหาทาง/วิธีการต่างเพื่อแก้ปัญหาตามสถานการณ์
คุณสมบัติของผู้เรียนPBL ควรมีการเตรียมความพร้อมในการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและเชื่อถือได้ เนื่องจากมีความรู้พื้นฐานแตกต่างกัน สำหรับผู้สอน ควรมีการกระตุ้นชี้แนะแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและนำมาใช้ได้จริง
คุณสมบัติของผู้เรียนPBL ควรมีการเตรียมความพร้อมในการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและเชื่อถือได้ เนื่องจากมีความรู้พื้นฐานแตกต่างกัน สำหรับผู้สอน ควรมีการกระตุ้นชี้แนะแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและนำมาใช้ได้จริง
การเรียนการสอนแบบ PBL สิ่งสำคัญประการหนึ่งเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในการเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ในห้องเรียน โสต สื่อ และจำนวนนักศึกษาที่ไม่ควรมีจำนวนมากจนเกินไป
การเตรียมผู้เรียนในการเรียนการสอนแบบ PBL ที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ คือ การกระตุ้นให้นักศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น บทความวิชาการ วิจัย ตำรา ทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งอาจารย์ผู้สอนอาจต้องกระตุ้นและแนะนำวิธีการให้นักศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ
การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนการสอนแบบ PBL ซึ่งจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ให้เกิดขึ้น แลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เรียนด้วยกัน