การเตรียมบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่ในวารสารและการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ : เทคนิคการนำเสนอผลงานวิชาการ
การเตรียมบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่ในวารสารและการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ : เทคนิคการนำเสนอผลงานวิชาการ
พิศิษฐ์ พวงนาค
ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาลและพัฒนาวิชาชีพ
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
บทนำ
การวิจัยและการเขียนบทความวิชาการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการปฏิบัติงาน สำหรับผู้เขียนนั้น ต้องขอบคุณคณาจารย์และผู้รู้ทุกท่านที่ให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำรายงานการวิจัยและเขียนบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่ในวารสารและการประชุมวิชาการ อย่างไรก็ตาม ก่อนเขียนบทความวิจัยต้องเริ่มต้นจากการทำวิจัย ซึ่งการวิจัยมีหลายรูปแบบ อาทิ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) และการวิจัยแบบผสม (Mixed method) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความถนัดของนักวิจัย สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) ประกอบด้วย การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) การวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi experiment research) และการวิจัยทดลอง (Experiment research)
จากประสบการณ์การปฏิบัติงานในระดับสถานีอนามัย (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสารณสุขอำเภอ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้ได้รับประสบการณ์และกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการวิจัยแลการนำเสนอบทความวิจัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการเป็นพนักงานสัมภาษณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลงานวิจัยในพื้นที่ รวมทั้งอบรมและประชุมวิชาการเกี่ยวกับการทำวิจัยที่ต้องเชื่อมโยงกับสถิติที่นำมาวิเคราะห์ข้อมูล จนกระทั่ง มารับผิดชอบงานวิจัยในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งบทบาทของการเป็นนักวิจัยที่ดีจะต้องเริ่มจากการออกแบบงานวิจัย การเขียนโครงร่างงานวิจัย การออกแบบเครื่องมือ รวมทั้งการเก็บข้อมูลด้วยตนเองในพื้นที่วิจัย การวิเคราะห์สถิติและการเขียนรายงานการวิจัยด้วยตนเอง ต้องขอบคุณคณาจารย์และนักวิชาการทุกท่านที่ให้คำแนะนำและแก้ไขรายงานการวิจัยด้วยดีเสมอมา ทั้งนี้ รายงานการวิจัยกว่าจะแล้วเสร็จหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ง่าย ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่ามีความพร้อมเพียงใด แต่รายงานวิจัยที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมิได้ถูกเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบผลการวิจัยที่อาจก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรายงานวิจัยที่ดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม การเตรียมบทความวิจัยและบทความวิชาการเพื่อเผยแพร่ในวารสารและการประชุมวิชาการเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสำหรับการเขียนรายงานวิจัยเพื่อตีพิมพิ์เผยแพร่ สำหรับผู้เขียน ในระยะแรกมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเขียนบทความวิจัย เพราะรายงานวิจัยที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ส่วนใหญ่จำนวนหน้าประมาณ ๘๐?๑๐๐หน้า ทำให้ต้องทบทวนแนวทางการเตรียมบทความวิจัยเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของวารสารหรือการประชุมวิชาการที่ต้องการตีพิมพ์หรือเผยแพร่งานวิจัย
การเตรียมบทความวิจัยและบทความวิชาการ
การนำเสนอบทความวิจัยเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการวิจัย เนื่องจากรายงานวิจัยจะไม่เกิดประโยชน์ใดเลย ถ้าไม่มีการนำเสนอผลการวิจัยให้กับสาธารณชนรับทราบ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงต้องสืบค้นวารสารหรือเวทีวิชาการเพื่อนำเสนอผลการวิจัยของตนเอง สำหรับผู้เขียนเลือกการนำเสนอบทความวิจัยในการประชุมวิชาการมากกว่าที่จะต้องตีพิมพิ์เผยแพร่ในวารสาร (เหตุผลส่วนบุคคล ขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็น) และในบทความนี้จะกล่าวถึง การเตรียมบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่ในการประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศ โดยเหตุผลส่วนตัวการนำเสนอบทความวิจัยในการประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติจะต้องคุ้มค่ากับงบประมาณของหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ซึ่งขั้นตอนการเตรียมบทความวิจัย ประกอบด้วย
๑. หาแหล่งข้อมูลเผยแพร่ : การสืบค้นแหล่งข้อมูลสำหรับเผยแพร่บทความวิจัยมีหลายช่องทางที่ผู้นำเสนอบทความวิจัยจะต้องสืบเสาะด้วยตนเอง ส่วนใหญ่หน่วยงานที่จัดประชุมวิชาการระดับชาติจะส่งรายละเอียดของการประชุมวิชาการและขอความร่วมมือในการส่งบทความวิจัยที่นำเสนอมายังหน่วยงานที่ปฏิบัติงาน แต่การประชุมวิชาการระดับนานาชาติจะต้องสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต เพราะหน่วยงานผู้จัดจะเผยแพร่รายละเอียดของการประชุมวิชาการและขอความร่วมมือในการส่งบทความวิจัยระบบอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ยกเว้นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่จัดภายในประเทศไทย ซึ่งผู้จัดการประชุมอาจส่งมายังหน่วยงานต้นสังกัดของผู้เขียนบทความวิจัย สำหรับความยากง่ายของการสืบค้นหน่วยงานที่จัดประชุมวิชาการขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและประสบการณ์ของแต่บุคคล รวมทั้งรายงานวิจัยที่อยู่ในมือของบุคคลนั้น
๑.๑ การเผยแพร่บทความวิจัยในการประชุมวิชาการระดับชาติ หน่วยงานผู้จัดส่วนใหญ่เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ สำหรับผู้เขียนมีประสบการณ์ในการนำเสนอบทความวิจัยในระดับชาติ ประมาณ ๗ เรื่อง ซึ่งจัดโดยสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ๕ เรื่อง สมาคมวิชาชีพ ๑ เรื่อง และสถาบันการศึกษาสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ๑ เรื่อง ซึ่งการสืบค้นหน่วยงานที่จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ส่วนใหญ่สืบค้นทางอินเตอร์เน็ต เช่น กองบริหารการวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อดีของการสืบค้นคือสามารถศึกษารายละเอียดของบทความวิจัยที่ต้องนำเสนอ เช่น จำนวนหน้า ขนาดตัวอักษร รูปแบบการเขียนบทความวิจัย รูปแบบการนำเสนอบทความวิจัย กำหนดส่งบทความวิจัย อย่างไรก็ตามรูปแบบการเขียนบทความวิจัยจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของหน่วยงานผู้จัด อาทิ กองบริหารการวิจัย และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนดบทความวิจัยในการนำเสนอแบบโปสเตอร์ ไม่เกิน ๖ หน้า และการนำเสนอแบบปากเปล่าไม่เกิน ๘ หน้า สมาคมกายวิภาคศาสตร์แห่งประเทศไทย ไม่เกิน ๓ หน้า
๑.๒ การเผยแพร่บทความวิจัยในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอบทความวิจัยระดับนานาชาติในประเทศ ๓ เรื่อง (จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาคมกายวิภาคศาสตร์แห่งประเทศไทย) ต่างประเทศ ๕ เรื่อง (ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศสวิสเซอร์แลนด์) โดยสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม การประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เปิดรับบทความวิจัย ส่วนใหญ่จะต้องส่งล่วงหน้าก่อนวันนำเสนอบทความวิจัยอย่างน้อย ๖ เดือน (ICEMT 2013, Jakarta Indonesia) และกำหนดรูปแบบบทความไม่เกิน ๖ หน้า เพื่อตีพิมพ์ใน International journal of e-Education, e-Business, e-Management and e-Learning Vol.3 No.4, August 2013 www.ijeeee.org ร่วมกับการนำเสนอบทความวิจัยแบบปากเปล่า
๒. การเตรียมบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ภายหลังการสืบค้นแหล่งที่จะนำเสนอบทความวิจัย เจ้าของบทความต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบเพราะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการตอบรับบทความวิจัย สอดคล้องกับประเด็นการประชุมวิชาการหรือไม่ มีวิธีการอย่างไรในการย่อสาระสำคัญของงานวิจัยให้เหลือเพียง ๖-๘ หน้า โดยให้ได้ประเด็นสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ การเตรียมบทความมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตอบรับในการนำเสนอบทความวิจัยทั้งแบบโปสเตอร์และปากเปล่า ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวในการเขียนบทความวิจัย
๓. การเขียนบทความวิจัย
เมื่อสืบค้นแหล่งเผยแพร่บทความวิชาการในระดับชาติและนานาชาติได้ตามที่ต้องการ สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ การเขียนบทความวิจัย ซึ่งการเขียนบทความวิจัยเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกถึงความรู้ความสามารถในการย่อรายงานการวิจัยให้เหลือเพียง ๖-๘ หน้า ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ การพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ประจำปี ๒๕๕๖ หัวข้อ ?ชุมชนท้องถิ่น ฐานรากการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน? รวันที่ ๙-๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องคอนแวนชั่นแกรนด์ โรงแรมเซ็นธารา จังหวัดขอนแก่น โดยกำหนดบทความการนำเสนอแบบบรรยาย ความยาวไม่เกิน 8 หน้า การนำเสนอแบบโปสเตอร์ ความยาวไม่เกิน 6 หน้า โดย บทความจะต้องประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ได้แก่ ชื่อเรื่องและชื่อผู้วิจัย ชื่อเรื่องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชื่อผู้วิจัยภาษาไทย สถาบัน ที่อยู่สถาบันอย่างละเอียด โทรศัพท์ E-mail ส่วนที่ 2 เนื้อหาของบทความ ได้แก่ บทคัดย่อภาษาไทย และคำสำคัญภาษาไทย บทคัดย่อภาษาอังกฤษ และคำสำคัญภาษาอังกฤษ บทนำ วัตถุประสงค์ แนวคิด ทฤษฎี กรอบแนวคิดการวิจัยและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) วิธีการดำเนินงาน ผลการศึกษา/การทดลอง การอภิปรายผล (ถ้ามี) สรุปและข้อเสนอแนะ กิตติกรรมประกาศ เอกสารอ้างอิง สำหรับบทความวิจัยที่นำเสนอในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ?2013 4th International Conference on Education and Management Technology (ICEMT2013) ICEMT 2013 Jakarta, Indonesia. July 13-14, 2013? จะไม่เกิน ๖ หน้ากระดาษ A4 และมีความคล้ายคลึงกับการเขียนบทความวิจัยโดยทั่วไป สาระสำคัญที่แตกต่างไปจากบทความวิจัยที่นำเสนอในการประชุมระดับนานาชาติในประเทศไทย คือ ประวัติผู้วิจัยที่ต้องเขียนให้ระเอียดและมีสาระสำคัญที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นงานเด่นของตนเอง
เมื่อเขียนบทความวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ (ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับบทความวิจัยเท่านั้น) ซึ่งการตรวจสอบมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะข้อเสนอแนะและการปรับเปลี่ยนข้อความทางวิชาการหรือผลการวิจัยและการอภิปรายผลการวิจัยจะต้องอยู่ในขอบเขตที่กำหนดคือ ไม่เกิน ๖ หน้า ซึ่งการตรวจสอบคุณภาพบทความวิจัยของผู้เขียนก่อนลงทะเบียนไปยังหน่วยงานที่จัดการประชุมวิชาการ สำหรับผู้เขียนบทความได้รับความกรุณาเป็นอย่างดีจากกัลยาณมิตรที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ๓ แห่ง รวมทั้งบทความวิจัยที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม บทความวิจัยเมื่อได้รับการตอบรับและข้อเสนอแนะการแก้ไขปรับปรุงบทความวิจัยจากผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยงานที่จัดประชุมระดับชาติและระดับนานาชาติทั้งในและต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะต้องจัดส่งภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่จัดประชุวิชาการ เมื่อได้รับการตอบรับและแก้ไขบทความวิจัยพร้อมที่จัดส่งให้กับหน่วยงานผู้จัดประชุมวิชาการเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ ?การตรียมนำเสนอบทความวิจัยในรูปแบบปากเปล่าหรือแบบโปสเตอร์?
การนำเสนอบทความวิจัยและบทความวิชาการ
เมื่อผู้วิจัยส่งบทความวิจัยและได้รับการตอบรับ ต้องเตรียมการนำเสนอบทความวิจัยเพื่อนำเสนอบทความวิจัยแบบปากเปล่า : จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในปี ๒๕๕๕ ? ๒๕๕๖ ผู้เขียนได้นำเสนอบทความวิจัยแบบปากเปล่า จำนวน ๕ เรื่อง โดยจำแนกเป็นการประชุมวิชาการระดับวิทยาลัย ๑ เรื่อง การประชุมวิชาการระดับชาติ ๒ เรื่อง และการประชุมวิชาการในระดับนานาชาติ ๒ เรื่อง ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมในการนำเสนอบทความวิจัยด้วยปากเปล่าจะต้องครอบคลุมสาระสำคัญของงานวิจัยภายในเวลาที่กำหนด ตัวอย่างเช่น การนำเสนอบทความวิจัยระดับชาติที่จัดโดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนดเวลาไม่เกิน ๑๐ นาที ซักถามโดยผู้เข้าร่วมประชุม ๕ นาที สำหรับการประชุมระดับนานาชาติที่จัดโดยกองบริหารการวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนดเวลานำเสนอบทความวิจัย ๑๕ นาที ซักถามโดยผู้เข้าร่วมประชุม ๕ นาที และการนำเสนอบทความวิจัยระดับนานาชาติที่จัดโดย ICEMT 2013, Jakarta Indonesia) ที่กำหนดรูปแบบบทความไม่เกิน ๖ หน้า เพื่อตีพิมพ์ใน International journal of e-Education, e-Business, e-Management and e-Learning Vol.3 No.4, August 2013 www.ijeeee.org กำหนดเวลา ไม่เกิน ๑๐ นาที และซักถามโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการไม่เกิน ๕ นาที ในที่นี้จะกล่าวถึงการนำเสนอบทความวิจัยที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ ๑๓-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ซึ่งผู้วิจัยนำเสนอบทความวิจัยเรื่อง ?The Effect of Utilizing of Movie Media on Learning Achievement Related to The Western Civilization Learning in the Civilization and Local Wisdom Subject among Freshmen Nursing Students at Boromarajonani College of Nursing Uttaradit.? โดย Prof. Patrick Letouze (Computer Science Department at the Federal University of Tocantins, Brazil) เป็นประธานในการวิพากษ์บทความวิจัย ซึ่งการนำเสนอครั้งนี้ ใช้เวลาประมาณ ๘ นาที แต่ไม่มีการซักถามเนื่องด้วยข้อกำหนดของระยะเวลาในการนำเสนอบทความวิจัย อย่างไรก็ตาม การนำเสนอบทความวิจัยนี้ได้รับเกียรติเป็นอย่างดี เนื่องจากภาษาอังกฤษของผู้บรรยายไม่แข็งแรง จึงต้องเขียนบทประกอบคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเกือบจะเป็นการอ่านให้ Prof. Patrick Letouze และผู้เข้าร่วมประชุมฟัง แต่เหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านไปด้วยดี ซึ่งแตกต่างกับการนำเสนอบทความวิจัยเรื่อง ?Medical Personal and Sub-district Administration Organization Member? s Opion toward the Readiness on Tranfering Health Stations to Local Admonistrative Organizaton : Case Study of? Uttaradit Province.? ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ : การพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ปี ๒๕๕๕ ที่จัดโดยกองบริหารการวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นคนไทย อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์การนำเสนอบทความวิจัย เรื่อง ?The Effect of Utilizing of Movie Media on Learning Achievement Related to The Western Civilization Learning in the Civilization and Local Wisdom Subject among Freshmen Nursing Students at Boromarajonani College of Nursing Uttaradit.? โดย Prof. Patrick Letouze (Computer Science Department at the Federal University of Tocantins, Brazil) ทำให้ได้รับประสบการณ์ในการนำเสนอบทความวิจัย ณ ต่างประเทศ ทำให้เกิดความมั่นใจในการนำเสนอบทความวิจัยด้วยภาษาอังกฤษ เพราะชาวต่างชาติส่วนใหญ่เข้าใจเกี่ยวกับสำเนียงและสำนวนภาษาอังกฤษของคนไทยเป็นอย่างดี ซึ่งความกล้าและความมั่นใจของตนเองทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปด้วยดี ซึ่งแตกต่างจากการนำเสนอบทความวิจัยด้วยโปสเตอร์
การนำประสบการณ์การนำเสนอบทความวิจัยและบทความวิชาการไปใช้ประโยชน์
จากประสบการณ์การนำเสนอบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่ในการประชุมวิชาการระดับวิทยาลัย ระดับชาติและนานาชาติ อาจกล่าวได้ว่า มีความแตกต่างกันไปตามระดับการนำเสนอบทความวิจัยในแต่ละระดับ โดยส่วนตัวผู้เขียนได้รับประสบการณ์จาการนำเสนอบทความวิจัยระดับชาติและนานาชาติ อาทิ การเขียนบทความวิจัยอย่างไรให้ได้รับการตอบรับในการนำเสนอและตีพิมพ์ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ การวิพากษ์โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแบบสร้างสรรค์ ซึ่งในเวทีระดับชาติและนานาชาติส่วนใหญ่จะเป็นข้อเสนอแนะและเพิ่มเติมให้บทความวิจัยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกเว้นการประชุมวิชาการของหน่วยงานบางแห่ง จะซักถามความเป็นมาของงานวิจัย ทำไมต้องใช้สถิติวิเคราะห์บางรายการวิเคราะห์ ทำไมอภิปรายผลแบบนี้ จะนำผลงานวิจัยไปใช้ทำอะไร จะเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากบทความวิจัยนี้ ซึ่งประสบการณ์ในการประชุมวิชาการดังกล่าว สร้างประสบการณ์ให้กับผู้เขียนเป็นอย่างดี เพราะถ้าผู้เขียนทำหน้าที่วิพากษ์บทความวิจัยคงไม่ปฏิบัติเช่นนั้น โดยเด็ดขาด เพราะ อาจมีผู้เข้าร่วมประชุมบางท่านมีประสบการณ์ที่เหนือกว่าตนเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถ้าเกิดข้อผิดพลาดจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย อย่างไรก็ตาม การเขียนบทความวิจัยเพื่อนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ ผู้เขียนนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับอาจารย์ในภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุตรดิตถ์ และนำมาจัดการเรียนการสอนในรายวิชาการวิจัยทางการพยาบาล การเป็นกรรมการผู้วิพากษ์งานวิจัยของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอน้ำปาด ฟากท่า บ้านโคก และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์
สรุป
การเตรียมบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่ในวารสารและการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ เป็นเทคนิคและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล เริ่มตั้งแต่การสืบค้นข้อมูลการจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างบทความวิจัยกับหัวข้อการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ องค์ประกอบของบทความวิจัย ได้แก่ ชื่อเรื่องและชื่อผู้วิจัย ชื่อเรื่องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชื่อผู้วิจัยภาษาไทย สถาบัน ที่อยู่สถาบันอย่างละเอียด โทรศัพท์ E-mail เนื้อหาของบทความ ได้แก่ บทคัดย่อภาษาไทย และคำสำคัญภาษาไทย บทคัดย่อภาษาอังกฤษ และคำสำคัญภาษาอังกฤษ บทนำ วัตถุประสงค์ แนวคิด ทฤษฎี กรอบแนวคิดการวิจัยและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) วิธีการดำเนินงาน ผลการศึกษา/การทดลอง การอภิปรายผล (ถ้ามี) สรุปและข้อเสนอแนะ กิตติกรรมประกาศ เอกสารอ้างอิง ประการสำคัญผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจสอบบทความวิจัยที่จะนำเสนอในการประชุมวิชาการก่อนที่จะลงเบียนไปยังหน่วยงานที่จัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ การแก้ไขบทความวิชาการเมื่อได้รับการตรวจสอบคุณภาพงานวิจัยจากหน่วยงานที่จัดประชุมและการส่งบทความวิจัยที่ได้รับการนำเสนอและตีพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ การเตรียมการนำเสนอบทความวิจัยในรูปแบบปากเปล่าและโปสเตอร์
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เขียน การสืบค้นข้อมูลหน่วยงานที่จัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ จะต้องมีบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่ในการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อประโยชน์ของผู้เขียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด นอกจากความรู้ความสามารถของตนเองที่ได้เผยแพร่บทความวิจัยไปสู่สาธารณชน ผ่านเวทีการนำเสนอบทความวิจัยในการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖
*************************
บทความนี้เขียนจากประสบการณ์การนำเสนอบทความวิจัย ของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสนำเสนอบทความวิจัยของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ และการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติที่จัดโดยสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในส่วนภูมิภาค ซึ่งแตกต่างกันตามข้อแนะนำการเขียนบทความวิจัยของแต่ละหน่วยงาน ผู้เขียนมีความประทับใจการวิพากษ์งานวิจัยของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เติมเต็มให้กับบทความวิจัย มากกว่าการซักถามระเบียบวิธีวิจัย สถิติสำหรับวิเคราะห์ข้อมูล นำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์อะไร ที่ผู้วิพากษ์บางหน่วยงานนิยมปฏิบัติ
สำหรับประสบการณ์ในการทำวิจัยของแต่ละคน บางคนอาจเคยมีประสบการณ์ในการเขียนผลงานวิจัย หรือไม่เคยเริ่มต้นในการเขียนบทความวิจัย ซึ่งดิฉันเชื่อว่าท่านใดที่ยังไม่เคยเริ่มต้น คงไม่ยากเกินไปถ้าหากเริ่มในการเขียนผลงานวิจัยจากสิ่งที่เคยปฏิบัติรอบตัวก่อน จากนั้นสิ่งที่ต้องคิดต่อคือการทำอย่างไรให้สามารถนำผลงานวิจัยของตนเองเผยแพร่ โดยการนำเสนอในเวทีระดับชาติหรือนานาชาติต่อไป
การนำเสนอผลงานวิชาการ ต้องอาศัยการเตรียมตัวอย่างมากเพราะความพร้อมจะทำให้การนำเสนอมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งเนื้อหา รูปแบบและบุคลิกภาพที่ดีของการนำเสนอผลงาน
การนำเสนอผลงานวิชาการนั้นเป็นการนำความรู้ไปเผยแพร่แก่บุคคลอื่นเพื่อให้เกิดแนวทางการนำความรู่ไปปฏิบัติต่อไป เทคนิคที่ใช้นำเสนอเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ผู้รับฟังมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ผู้ที่มีประสบการณ์มากก็จะส่งผลให้มีกระบวนการและเทคนิคที่หลากหลาย พัฒนาในรูปแบบอื่นต่อๆไป
การนำเสนอผลงานวิชาการ ต้ิองอาศัยประสบการณ์ เทคนิคและความรู้ของผู้นำเสนอเป็นอย่างมาก เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจและสามารถเป็นแนวทางในการนำไปใช้ต่อไป
การเขียนบทความวิจัยเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกถึงความรู้ความสามารถในการย่อรายงานการวิจัยให้เหลือเพียง ๖-๘ หน้า ดังนั้้นการที่ได้มีประสบการณ์ในการทำวิจัยจะช่วยให้อาจารย์มีทักษะในการเขียนงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเรื่องนั้นๆ ส่งเสริมให้อาจารย์มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นเพิ่มขึ้นด้วย