การสังเคราะห์งานวิจัย

เรื่อง

ประสบการณ์การทำคลอดครั้งแรกของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3

โดย

อ.ดร.วรรณวดี เนียมสกุล

จากการสังเคราะห์งานวิจัย เรื่อง ?ประสบการณ์การทำคลอดครั้งแรกของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3? ซึ่งดำเนินการโดย นางสาว วรรณวดี? เนียมสกุล นับว่าเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากเป็นสิ่งท้าทายสำหรับอาจารย์พยาบาลที่จะต้องหาแนวทางที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะเชิงวิชาชีพ ?มีความมั่นใจและนำทักษะการดูแลมารดาและทารกในรยะคลอดไปใช้อย่างเต็มภาคภูมิ รู้สึกเป็นสุขเมื่อได้เรียนรู้และฝึกทักษะ มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ กระบวนการจัดการเรียนการสอน จึงต้องเปลี่ยนมาสู่การเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่ผู้สอนจะต้องเป็นทั้งนักวิชาการ นักปฏิบัติ และนักจัดการที่จะบูรณาการความรู้และกระบวนการเรียนรู้ใช้กลยุทธ์ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น ความเข้าใจต่อประสบการณ์ของผู้เรียนในการทำคลอดซึ่งเป็นทักษะที่ยากสำหรับนักศึกษาผู้ฝึกปฏิบัติเพราะต้องรับผิดชอบชีวิตทั้งมารดาและทารกจะสามารถสร้างนำมาเป็นข้อมูลในการสร้างบรรยากาศการเรียนที่เอื้อให้ผู้เรียนมีความสุข ผ่อนคลายความตึงเครียด ?เกิดการกระตุ้นวิธีการคิด การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ?ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของบัณฑิตไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)

การทำคลอดครั้งแรกเป็นทักษะที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ความชำนาญและเป็นเหตุการณ์ที่จะสร้างความรู้สึกได้ทั้งในแง่บวกและลบแก่นักศึกษาพยาบาล หากนักศึกษาพยาบาลผ่านกระบวนการทำคลอดไปอย่างราบรื่นก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง แต่หากประสบกับเหตุการณ์ทางลบเช่น ขณะช่วยทำคลอดทารกมีภาวะขาดออกซิเจน มารดาต้องได้รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องฉุกเฉิน ก็จะทำให้นักศึกษาเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อประสบการณ์ในการทำคลอดครั้งแรกได้และส่งผลต่อความรู้สึกมีคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเองตลอดจนทัศนคติต่อวิชาชีพ การศึกษาประสบการณ์ในการทำคลอดครั้งแรกของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่สาม จะสามารถนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและผลิตบัณฑิตพยาบาลที่สามารถทำงานด้านอนามัยแม่และเด็กได้อย่างมีคุณภาพต่อไป

สำหรับการวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) แบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenological study) ?มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อทำความเข้าใจต่อประสบการณ์ในการทำคลอดครั้งแรกในขณะฝึกปฏิบัติที่แผนกห้องคลอดของนักศึกษาพยาบาล ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ 1 ประชากรในการศึกษาได้แก่ นักศึกษาพยาบาล ชั้นปีที่ 3 ที่กำลังศึกษาวิชาปฏิบัติการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ 1 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 16 สัปดาห์ หลังสิ้นสุดการเรียน 3 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม? 2558 ถึงเดือนตุลาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 98 คน โดยคัดเลือกนักศึกษาผู้ให้ข้อมูลจำนวน 26 คนแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ นักศึกษาตัวแทนแต่ละกลุ่มจำนวน 13 กลุ่ม ๆ ละ 2-3 คน โดยในแต่ละกลุ่มคัดเลือกผู้ที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม 1 คน และสมาชิก 1 คน ผู้ให้ข้อมูลเต็มใจที่จะเข้าร่วมการวิจัยทุกคน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ 1) บันทึกความรู้สึกในการทำคลอดครั้งแรก โดยให้นักศึกษาได้เขียนบอกเล่าความรู้สึกในการทำคลอดครั้งแรกด้วยความจริงใจ เช่น การเตรียมความพร้อมของตนเอง ความรู้สึกต่าง ๆ ความต้องการการได้รับการนิเทศกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งการบันทึกให้เขียนทันทีภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากการทำคลอดครั้งแรก 2) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ที่มีแนวคำถามสำหรับการทำอภิปรายกลุ่มจำนวน 6 ข้อ ผู้วิจัยนำเครื่องมือที่ได้เสนอต่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่านและปรับแก้ตามข้อเสนอแนะ จากนั้นนำไปทดลองใช้กับนักศึกษาที่ไม่ซ้ำกับกลุ่มที่เก็บข้อมูลจำนวน 5 คน เพื่อทดลองใช้คำถามกับนักศึกษาและนำมาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อทำให้ได้แนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ละเอียดยิ่งขึ้น

ซึ่งผลจากการวิจัยสามารถตอบวัตถุประสงค์การวิจัยดังนี้นักศึกษาพยาบาลมีประสบการณ์ในการทำคลอดครั้งแรกแบ่งเป็นแก่นเนื้อหาหลัก (major themes) 3 ประการ ได้แก่ 1) ความรู้สึกหลากหลายต่อประสบการณ์ในการทำคลอดครั้งแรก 2) สิ่งที่คาดหวังในการทำคลอดอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงเสมอไป และ 3) ความตระหนักถึงความสำเร็จและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำคลอดครั้งแรก

ประสบการณ์ของนักศึกษาในการทำคลอดครั้งแรกมีหลากหลายตั้งแต่ก่อนการทำคลอดซึ่งเป็นความรู้สึกด้านลบได้แก่ ความรู้สึกเครียด วิตกกังวล กลัว ตื่นเต้น ประหม่า งุนงง ลนลาน สับสน ตกใจ ทำอะไรไม่ค่อยถูกลืมทุกอย่างแม้ว่าจะเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี แต่การได้เตรียมตัวทำคลอดกับหุ่นจำลองช่วงก่อนฝึกจริงหนึ่งสัปดาห์ หรือการได้เข้าช่วยทำคลอดกับพยาบาลวิชาชีพหรือแพทย์ ทำให้อาการดังกล่าวลดลง

การทำคลอดครั้งแรกทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ว่าสิ่งที่ตนเองคาดหวังในการทำคลอดนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงเสมอไป โดยนักศึกษาได้บอกเล่าสิ่งที่คาดหวังออกเป็น 3 ประการได้แก่ ด้านตนเอง ด้านมารดา และด้านอาจารย์นิเทศ (ทั้งนี้อาจารย์นิเทศในที่นี้จะหมายถึงอาจารย์นิเทศจากวิทยาลัย และ/หรืออาจารย์พี่เลี้ยงในแหล่งฝึก)

การทำคลอดครั้งแรกทำให้เกิดประสบการณ์ที่ทำให้นักศึกษาได้ตระหนักถึงความสำเร็จและอุปสรรค์ที่เกิดขึ้นหลายประการ โดยความสำเร็จในการทำคลอดครั้งแรกประกอบไปด้วยความสำเร็จจากตนเอง มารดา และอาจารย์นิเทศ สำหรับอุปสรรคที่เกิดขึ้น ได้แก่ อุปสรรคที่มาจากตนเอง เพื่อน และการสนทนาในขณะคลอด

จากผลการสังเคราะห์การวิจัยครั้งนี้ ทำให้เกิดแนวคิดสำหรับการพัฒนาอาจารย์นิเทศจากวิทยาลัยและอาจารย์พยาบาลพี่เลี้ยงในแหล่งฝึกในการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติร่วมกันโดยมีจุดมุ่งเน้นการจัดประสบการณ์ที่ประทับใจแก่นักศึกษาพยาบาลเพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพพยาบาล และการจัดหาทรัพยากรการเรียนรู้ที่หลากหลายเช่น ห้องปฏิบัติการพยาบาลที่ทันสมัย ประกอบด้วยหุ่นจำลองสำหรับฝึกทักษะปฏิบัติการพยาบาลทำคลอด หนังสือตำราเกี่ยวกับการพยาบาลสูติศาสตร์ วารสารงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนฐานข้อมูลสำหรับการสืบค้นที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้นักศึกษาได้เป็นแหล่งความรู้และฝึกฝนทักษะจนชำนาญก่อนขึ้นฝึกปฏิบัติจริงเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ

******************************************************