แนวปฏิบัติที่ดีเรื่อง กระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยใช้รูปแบบการเรียนแบบโครงการ (Project- based learning) เป็นรูปแบบในการจัดการเรียนการสอน

สรุปการถอดบทเรียนการจัดการความรู้

ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์

ขั้นเตรียมการ

๑.? มอบหมายคณาจารย์ในภาควิชาฯ ทุกคนทบทวนแนวปฏิบัติที่ดีเรื่อง ?การจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต? และลักษณะรายวิชาทฤษฎีที่ภาควิชารับผิดชอบได้แก่การพยาบาลมารดา ทารกและผดุงครรภ์ ๑ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งจุดเด่นและอุปสรรคของการเรียนรู้แบบโครงการที่บูรณาการกับการบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตลอดจนแนวทางการพัฒนา เพื่อนำมาเป็นแนวทางและปรับปรุงพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๗

๒. คณาจารย์ในภาควิชาฯ ทบทวนความรู้ร่วมกันเกี่ยวกับ การเรียนรู้แบบโครงการ (Project-based learning) เพื่อนำมาเป็นกรอบในการออกแบบการเรียนการสอนซึ่งจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของ Active learning โดยศึกษาจากเอกสารรายงานการวิจัยของสุนันทา สุวรรณศิลป์และการสรุปบรรยายของ อ.ดร.วรรณวดี เนียมสกุล โดยสรุปแนวคิดรวบยอดเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบโครงการ (Project-based learning) ได้ดังนี้

การเรียนการสอนแบบโครงการเป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดหัวข้อโครงการด้วยตนเอง ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง วิเคราะห์วิจารณ์ และบูรณาการองค์ความรู้ภายในขอบเขตเรื่องที่ศึกษา ทำให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ก่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ทางสติปัญญา การพัฒนาการทางสุนทรียศาสตร์ การพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ การได้ฝึกเขียน เรียบเรียงความรู้ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบนำตนเองเกิดขึ้น สามารถคิดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ โดยมีขั้นตอนทั้งหมด ๖ ขั้นตอนดังต่อไปนี้

๑) การคิดและเลือกหัวข้อเรื่องการดำเนินงานตามขั้นตอน โดยผู้เรียนต้องตั้งต้นด้วยคำถามที่ว่า จะศึกษาอะไร ทำไมต้องศึกษาเรื่องดังกล่าว จากนั้นผู้เรียนต้องไปศึกษาค้นคว้า ทบทวนซึ่งจะใช้เวลาพอสมควรจึงจะได้หัวข้อจัดทำโครงการ

๒) การศึกษาเอกสารทบทวนวรรณกรรมตลอดจนพบผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เกี่ยวข้อง ปราชญ์ในเรื่องนั้น ๆ ?เพื่อให้ได้แนวคิดในการกำหนดขอบข่ายหรือเค้าโครงเรื่องที่จะศึกษา อาทิเช่น สิ่งที่จะทำ วัตถุประสงค์ ผลที่ได้รับ กระบวนการ ทรัพยากร บุคลากรที่เกี่ยวข้อง การนำเสนอ เป็นต้น

๓) การเขียนเค้าโครงการเป็นการสร้างแผนที่ความคิด โดยนำภาพของงานและภาพความสำเร็จของโครงการมาจัดทำรายละเอียดแสดงแนวคิด แผนและขั้นตอน โดยใช้การระดมสมอง การทำงานเป็นกลุ่ม ในขั้นตอนนี้ จะได้หัวข้อคือ ชื่อโครงการ ทำอะไร กับใคร เพื่ออะไร ชื่อผู้จัดทำโครงการ ผู้รับผิดชอบโครงการ ชื่อที่ปรึกษาโครงการ ระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่เริ่มต้นจะเสร็จสิ้น หลักการและเหตุผล ขั้นตอนการดำเนินงาน กิจกรรม วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ กำหนดการปฏิบัติโครงการ วัน เวลา กิจกรรมดำเนินการ ผลที่คาดว่าจะได้รับ เอกสารอ้างอิง

๔) การปฏิบัติโครงการ หลังได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว ผู้เรียนลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ในโครงการ โดยระหว่างลงมือปฏิบัติตามแผนงานนั้นผู้เรียนต้องมีการสังเกต จดบันทึกว่ามีจุดเด่นหรือปัญหาอุปสรรคใดบ้าง เพื่อนำมาปรับปรุงในโอกาสต่อไป

๕) การเขียนสรุปรายงานผล ได้แก่ บทคัดย่อ ผลการศึกษา บทนำ สรุปและอภิปรายผล เอกสารที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอแนะ เพื่อให้ผู้เรียนได้จัดระเบียบความคิดและวิธีการปฏิบัติว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่ มิสิ่งใดที่ต้องการพัฒนาปรับปรุง

๖) การแสดงผลงานเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำโครงการ เป็นการนำเสนอผลทั้งหมดให้ผู้อื่นได้รับทราบ ผลผลิตจากโครงการเป็นอะไรบ้าง ทั้งนี้อาจนำเสนอเป็นนิทรรศการหรือด้วยวาจา

๓. คณาจารย์ในภาควิชา ฯ ร่วมกันออกแบบการเรียนการสอนภาคทฤษฎีโดยจัดทำแบบฟอร์มการเขียนโครงการบริการวิชาการส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ ผู้คลอดและมารดาหลังคลอด ได้แก่ ชื่อโครงการ ผู้รับผิดชอบ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์การเรียนรู้ ขั้นตอนการดำเนินการ กลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลา สถานที่ดำเนินโครงการ งบประมาณ การประเมินผลโครงการ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และลงชื่อผู้จัดทำโครงการและผู้อนุมัติโครงการ การจัดตารางเวลาสำหรับพบอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นระยะ ๆ เพื่อมอบให้นักศึกษาในวันเปิดภาคเรียนในการปฐมนิเทศรายวิชา

๔. ผู้รับผิดชอบรายวิชานำผลการออกแบบการเรียนการสอนร่วมกันของคณาจารย์ในภาควิชาฯ ลงในรายละเอียดประสบการณ์ภาคสนาม (มคอ. ๓) และ Course outline ของรายวิชาอย่างครบถ้วน

ขั้นดำเนินการ

โดยการเตรียมความพร้อมนักศึกษาตามแนวปฏิบัติที่ดีและคณาจารย์ที่สอนภาคทฤษฎี

วางแผนการดำเนินการสอนแบบโครงการตามที่ได้ออกแบบการเรียนการสอนแบบ Active learning ไว้อย่างครบถ้วน อาทิเช่น การชี้แจงรายละเอียดการเรียนรู้แบบโครงการ การมาพบอาจารย์ที่ปรึกษา การจัดทำโครงการตามรูปแบบและส่งโครงการตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น

ขั้นสรุปและประเมินผล

การประเมินผลการจัดทำโครงการประกอบไปด้วยรายการประเมิน ๑๐ รายการ ได้แก่ ความเหมาะสมของโครงการที่บูรณาการการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับการส่งเสริมสุขภาพมารดาทารก การเขียนโครงงานเหมาะสม ประโยชน์ของโครงการ ความประหยัดด้านทรัพยากรและงบประมาณในโครงการ ความรับผิดชอบในการทำงาน การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ความตรงต่อเวลาและความสม่ำเสมอในการพบอาจารย์ที่ปรึกษา การนำเสนอโครงงานและการสรุปโครงการ

อ้างอิงความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการจาก สุนันทา สุวรรณศิลป์. (๒๕๔๗). รายงานวิจัยเรื่องการพัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยโครงการในวิชาไทยศึกษาของนักศึกษาพยาบาล (ต่อเนื่อง) รุ่นที่ ๑๓. วิทยาลัยพพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี: ราชบุรี.

คณาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์

ผู้ถอดบทเรียน

๕ ก.ย. ๕๗