แนวทางการปฏิบัติสำหรับ ?การจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning? ภาควิชาการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
รายงานการประชุมกิจกรรมการสังเคราะห์ความรู้
ภาควิชาการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๓๐ น.
ณ ห้องประชุมบานชื่น
—————————————————————————————————————————
ผู้เข้าร่วมประชุม
๑. นางนิศารัตน์ นาคทั่ง หัวหน้าภาควิชา
๒. นางมณฑา อุดมเลิศ
๓. น.ส.นัยนา อินธิโชติ
๔. นางวาสนา ครุฑเมือง
๕. นายไพทูรย์ มาผิว
๖. นางสาวนัยนา แก้วคง
๗. นายสืบตระกูล ตันตลานุกุล
๘. นายวีระยุทธ อินพะเนา
๙. นายภราดร ล้อธรรมมา
๑๐. นายเสน่ห์ ขุนแก้ว
๑๑. น.ส.อลิษา ทรัพย์สังข์ เลขานุการที่ประชุม
ระเบียบวาระที่ ๑ เรื่องแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
อ.นิศารัตน์ นาคทั่ง แจ้งให้ทราบว่า คณะกรรมการจัดการองค์ความรู้ของวิทยาลัยฯ กำหนดให้ภาควิชา วิเคราะห์ความรู้ ในการจัดการความรู้ เรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยการใช้วิธีการสอนแบบ Active learning
ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องสืบเนื่อง
จากการประชุมการสังเคราะห์ความรู้ที่ผ่านมา โดย อ.ไพทูรย์ มาผิว หารือว่า ในที่ประชุมนี้ ให้อาจารย์ผู้เข้าร่วม ร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ที่เคยใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมา ว่ามีวีธีการอย่างไร และได้ผลเป็นอย่างไร
ระเบียบวาระที่ ๓ การสังเคราะห์ความรู้
อ.นิศารัตน์ นาคทั่ง ใช้วิธีการโดย
๑. แบ่งนักศึกษาออกเป็น ๗ กลุ่ม เท่าๆกัน
๒. จัดโต๊ะสำหรับเป็นพื้นที่เขียนคำตอบ ๗ ตัว
๓. มีคำถามแสดงบน Slide โดยคำถามจะเน้นเป็นลักษณะ รู้จำ และเข้าใจ จากนั้นให้นักศึกษาแต่ละกลุ่มวิ่งมาตอบคำถามบนโต๊ะที่จัดไว้ภายในเวลาที่กำหนด
๔. จนกระทั่งมีกลุ่มผู้ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ
๕. ขั้นสรุปผลโดยใช้กรณีศึกษา และมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้กรณีศึกษาเป็นแผ่นกระดาษ มาเป็นครูเป็นผู้แสดงบทบาทสมมติเป็นผู้ป่วย แล้วให้นักศึกษาซักประวัติ แล้วบอกว่าผู้ป่วยเป็นอะไร จะต้องทำอย่างไร ซึ่งเป็นการใช้คนจริงคือผู้สอนเป็นสิ่งกระตุ้นและมีการโต้ตอบที่คล้ายกับสถานการณ์จริง ให้นักศึกษาได้มีการเรียนรู้ และเพิ่มความน่าสนใจให้กับกรณีศึกษา
อ.วาสนา ครุฑเมือง ใช้วิธีการโดย
๑. เริ่มต้นจากการเกริ่นนำเข้าสู่บทเรียน โดยพูดถึงโรคที่สอน ว่านักศึกษาคิดอย่างไร
๒. แจกแบบฝึกหัดให้นักศึกษาทำ ซึ่งจะได้ทุกคน
๓. นำคำถามที่เกริ่นนำมาเฉลย และเข้าสู่เนื้อหา
๔. แจกกรณีศึกษาให้นักศึกษาทำ
๕. สุ่มเรียกชื่อ ให้นักศึกษาตอบคำถามจากกรณีศึกษา
๖. ครูเฉลย และอธิบายเพิ่มเติม
๗. ประเมินผล โดยใช้ข้อสอบให้นักศึกษาทำในชั่วโมงเรียน ซึ่งข้อสอบที่ใช้ต้องไม่ใช่ข้อสอบที่จะใช้สอบเก็บคะแนนจริง จากนั้นเฉลยคำตอบ แล้วให้นักศึกษาประเมินคะแนนตนเอง
ผลจากการจักการเรียนการสอนโดยวิธีนี้ พบว่าจำนวนนักศึกษาที่สอบตกมีน้อยลง และมีข้อเสนอแนะว่า การใช้กรณีศึกษาควรมีหลากหลาย และควรมีการกระตุ้นผู้เรียนให้มีความสนใจด้วยกิจกรรม ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี
อ.ภราดร ล้อธรรมมา ใช้วิธีการโดย
ใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Team base learning ร่วมกับ อ.ศศิธร ชิดนายี
๑. ชี้แจงกิจกรรม และแบ่งกลุ่มนักศึกษาตามผลการเรียน
๒. มอบหมายงานให้นักศึกษา ศึกษาค้นคว้าตามหัวข้อทีกำหนด ควรให้เวลานักศึกษาอย่างน้อย ๑-๒ สัปดาห์ในการศึกษา
๓. บรรยาย โดยแบ่งตามหัวข้อ และใช้สถาการณ์ประกอบ
๔. ใช้ข้อสอบในการเสนอเนื้อหาเพิ่มเติม โดยมีการให้ทำข้อสอบและแข่งขันกับตอบเป็นทีมตามที่แบ่งกลุ่มนักศึกษาไว้
๕. สรุปคะแนนที่ได้จากการทำกิจกรรม โดยทุกๆกิจกรรมจะมีคะแนน เป็นการสร้างบรรยากาศและสร้างแรงจูงใจในการแสวงหาความรู้
ผลที่ได้คือ สามารถประเมินผู้เรียนได้ โดยผู้เรียนที่มีความตื่นตัว สนใจ ผลคะแนนสอบก็จะดีตามมา
ในที่ประชุมมีข้อสรุปความเห็นที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนแบบ Team base learning เป็นลักษณะของการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ และหากผู้เรียนที่มีประสบการณ์ จะสามารถเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ได้เป็นอย่างดี และสิ่งที่กระตุ้นคือ การเรียนรู้ที่มีผลต่อผู้เรียนโดยตรง คือ คะแนน
อ.วีระยุทธ อินพะเนา ใช้วิธีการจัดการเรียนการสอน แบบ Active learning ๓ วิธี
๑.การเรียนการสอนแบบ Jigsaw
๑. แบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๗ คน กลุ่มบ้าน (Home group)
๒. กลุ่มบ้าน (Home group) แต่ละกลุ่มมอบหมายภาระงานให้สมาชิกรับผิดชอบ
๓. จัดกลุ่มเชี่ยวชาญ (Expert group) โดยให้นักศึกษากลุ่มบ้านของแต่ละกลุ่มที่รับผิดชอบเรื่องเดียวกันไปรวมกลุ่มใหม่ แล้วศึกษา ทำความเข้าใจเนื้อหา ร่วมกันจนเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างดี
๔. กลับกลุ่มบ้าน (Home group) โดยแต่ละคนกลับกลุ่มเดิม แล้วอธิบายให้สมาชิกในกลุ่มฟัง จนครบทุกคน สมาชิกในกลุ่มซักถามจนเป็นที่เข้าใจ
๕. ให้สมชิกกลุ่มบ้าน (Home group) ออกมาตอบคำถาม โดยผู้สอนจะแสดงคำถามขึ้นบนจอ ให้เวลาคำถามละ ๑ นาที
๖. ผู้สอนเฉลยคำตอบ และสอดแทรกเนื้อหาไปในระหว่างเฉลย
ประเด็นแลกเปลี่ยนจากการจัดการเรียนการสอนแบบ Jigsaw คือ
- ควรมีการสรุปเนื้อหาในตอนท้ายให้ครอบคลุม โดยอาจใช้รูปแบบข้อสอบ และข้อสอบจะต้องครอบคลุม
- เป็นการวิธีที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน และที่สำคัญคือผู้เรียนต้องมีความรับผิดชอบ เนื่องจากทุกคนต้องเป็น Expert และต้องมาถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อน Home group ฟัง
- อาจมีข้อจำกัด คือ ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก เนื่องจากนักศึกษาต้องทำความเข้าใจ เพื่อการนำมาถ่ายทอดในกลุ่ม และสำหรับผู้เรียนที่ยังไม่มีประสบการณ์ ในการสร้าง Expert ควรให้เวลาในการทำความเข้าใจพอสมควร
๒.จัดการเรียนการสอนโดยใช้ Clip VDO เป็นสื่อกระตุ้น
โดยการ ใช้ Clip VDO ที่เป็นสถานการณ์จริง เช่น เด็กจมน้ำแล้วได้รับการช่วยเหลือ แล้วถามนักศึกษาว่าเด็กได้รับการช่วยเหลือถูกต้องหรือไม่ แล้วครูก็ทำการเฉลยและอธิบายเนื้อหาสอดแทรก
๓.มอบหมายงานแสดงบทบาทสมมติ
๑. แจกสถานการณ์ก่อนถึงชั่วโมงเรียน ให้นักศึกษาวิเคราะห์ ว่าผู้ป่วยเป็นอะไร
๒. ให้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในโรคที่ผู้ป่วยเป็น
๓. มอบหมายให้ทำรายงานและนำเสนอ หน้าชั้นเรียน โดยไม่จำกัดรูปแบบการนำเสนอ
ผลจะพบว่านักศึกษามีการตื่นตัวในการเรียน และมีการสร้างสรรค์การนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนคนอื่นๆมีความสนใจ
การทำรายงาน การนำเสนอแบบอิสระ จะส่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และการใช้ VDO เป็นสื่อจะช่วยดึงดูดความสนใจในการบรรยายไก้มากขึ้น
อ.มณฑา อุดมเลิศ ใช้วิธีการโดย
ใช้การเรียนการสอนแบบ Jigsaw ซึ่งเป็นการประกอบการบรรยายแบบมีส่วนร่วม ช่วยให้ผู้เรียนมีความตื่นตัว ไม่ง่วง นอกจากนี้ยังมีการใช้รูปแบบการสอนโดยใช้คำถามกระตุ้น โดยใช้ ๕ คำถามของนักปราชญ์
๑.ความหมาย ๒.สาเหตุ ๓.ทำไม ๔.อย่างไร ๕.อธิบายเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่
เพื่อกระตุ้นและสร้างให้ผู้เรียนรู้จักคิด และช่างสงสัย คิดหาคำตอบ และอธิบาย
นอกจากนี้ยังใช้วีธีการมอบหมายงาน เช่นใน วิชา วิจัย มอบหมายให้นักศึกษาศึกษางานวิจัยในห้องสมุด แล้วนำมาเขียนโครงร่างงานวิจัยจากงานที่อ่านและศึกษามา เพื่อให้นักศึกษาได้ทำความเข้าใจและฝึกเขียนโครงร่างงานวิจัย เป็นลักษณะการเรียนการสอนแบบ Backward design
อ.อลิษา ทรัพย์สังข์ ใช้วิธีการโดย
๑. เริ่มบรรยายสรุปเนื้อหาโดยย่อ เพื่อทำความเข้าใจใน Concept เนื้อหา
๒. แบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น ๘ กลุ่มตาม
๓. มอบหมายให้นักศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม โดยแนะนำหนังสือ และแหล่งค้นคว้าให้
๔. ให้นักศึกษานำเสนอหน้าชั้นเรียนแบบอิสระ โดยไม่กำหนดรูปแบบการนำเสนอ
๕. ในขณะที่นำเสนอ กลุ่มที่ฟังอยู่ต้องตั้งใจฟัง และหลังจากที่แต่ละกลุ่มนำเสนอ จะจับฉลากกลุ่มในการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่กลุ่มเพื่อนนำเสนอ
๖. ครูสรุป และอธิบายเพิ่มเติม
ใช้วิธีการให้ผู้ฟังตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียน หรือผู้ฟังสนใจในสิ่งที่เพื่อนนำเสนอ และได้คิดตามเนื่องจากต้องนำมาตั้งคำถาม
อ.นัยนา แก้วคง ใช้วิธีการโดย
๑. เริ่มบรรยายโดยการซักถาม แบบกว้างๆ ยังไม่ลงรายละเอียดของโรค
๒. แบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น ๗ กลุ่ม
๓. แจกสถานการณ์ให้แต่ละกลุ่มคิด และบอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร แล้วครูตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้อง ให้ทำข้อต่อไป
๔. ให้นักศึกษาศึกษา ค้นคว้าในเรื่องนั้นๆ แล้วนำเสนอหน้าชั้นเรียน
๕. ครูตั้งคำถามจากการที่นำเสนอ แล้วถามผู้เรียนที่ฟังอยู่ ให้ผู้เรียนตอบ
๖. ครูสรุปแต่ละโรค โดยใช้ Mapping
อ.นัยนา อินธิโชติ ใช้วิธีการโดย
๑. แบ่งกลุ่มนักศึกษาออกตามที่กำหนดเท่าๆกัน
๒. ให้นักศึกษาดูสื่อ แล้วให้ช่วยกันสรุปแนวคิดที่ได้จากการดู เป็นรายงาน ๑ แผ่น
๓. ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอ
จะเห็นว่าได้ประเด็นจากการสรุปของนักศึกษาที่หลากหลาย
อ.ไพทูรย์ มาผิว ใช้วิธีการโดย
๑. เกริ่นนำเนื้อหา
๒. แบ่งกลุ่มนักศึกษา
๓. ให้สถานการณ์ แล้วถามว่าผู้ป่วยเป็นอะไร อะไรเป็นข้อมูลสนับสนุน และจะให้การพยาบาลอย่างไร
๔. ให้นักศึกษาตอบตามความรู้ที่มีอยู่ และความสามารถในการค้นคว้าข้อมูล โดยยังไม่แจกเอกสารประกอบการสอนก่อน
๕. ให้นักศึกษานำเสนอคำตอบ
๖. ครูสรุปเนื้อหาที่สำคัญ
เป็นการเรียนรู้จากการใช้ประสบการณ์เดิม และการค้นคว้าจากเทคโนโลยีต่างๆที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ และในช่วงที่นักศึกษาทำกลุ่ม ครูก็สามารถเข้าไปให้คำแนะนำหรือกระตุ้นผู้เรียนไดใกล้ชิดขึ้น
อีกวิธีที่ใช้ก็คือ การให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสภาพจริง เช่นการเยนรู้การรับรู้ของผู้สูงอายุ โดยให้นักศึกษาปิดตา ใส่แว่นมัว อุดหูแล้วฟัง เพื่อให้รับรู้ถึงความรู้สึกจริงที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ
อ.สืบตระกูล ตันตลานุกุล ใช้วิธีการโดย
การใช้สื่อประกอบการบรรยาย การวิเคราะห์กรณีศึกษา และการใช่สื่อ E-Book ให้นักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้ เป็นการช่วยสร้างความน่าสนใจกับเนื้อหา
ปิดประชุม ๑๖.๓๐ น.
………………………………………….
(นางสาวอลิษา ทรัพย์สังข์)
ผู้บันทึกการประชุม
สรุปแนวทางการปฏิบัติ
สำหรับ ?การจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning?
ภาควิชา การพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
การจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning คือ กระบวนการหรือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีปฏิบัติกิจกรรมหรือกระทำใดๆ ด้วยตนเอง อย่างกระตือรือร้นและใฝ่รู้ เช่น ได้คิด ได้ทำ ได้ค้นคว้า ได้แก้ปัญหา ได้สร้างสรรค์อย่างอิสระ ฯลฯ โดยผู้สอนลดบทบาทในการให้ข้อความรู้แบบการบรรยายแก่ผู้เรียนลง
ขั้นตอนการดำเนินการ
๑. ขั้นเตรียมการ เป็นขั้นตอนการวางแผนการจัดการเรียนการสอนอย่างมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุซึ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning outcome) ของรายวิชา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สอน โดยประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา มีดังนี้
๑.๑ ทำความเข้าใจผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการหลังเสร็จสิ้นการสอน
๑.๒ เลือกรูปแบบหรือเทคนิควิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหา/สาระความรู้ และกระตุ้นให้ผู้เรียนมีกระตือรือร้นหรือใฝ่รู้ใฝ่เรียนอยู่ตลอดเวลา
๑.๓ เตรียมสื่อและอุปกรณ์ที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย เป็นระบบ เช่น ใบงาน สถานการณ์การเรียนรู้ ข้อคำถาม รูปภาพ เสียง วีดีทัศน์ เป็นต้น โดยจุดเน้นที่สำคัญของสื่อนั้นๆ ควรเร่งเร้าการรับรู้ทางประสาทสัมผัสต่างๆ ของผู้เรียน
๑.๔ วางแผน จัดลำดับ และแบ่งช่วงกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย เป็นระบบ ซึ่งหมายความรวมถึงรูปแบบการเรียนการสอนบางกรณีมีความจำเป็นต้องมอบหมายงานหรือความรับผิดชอบแก่ผู้เรียนก่อนที่จะมีการเรียนการสอนตามเวลาที่กำหนด ก็จำเป็นต้องหาเวลาพบผู้เรียนเพื่อกระทำการดังกล่าว พร้อมการชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้เรียนอย่างกระจ่างชัด
๑.๕ กรณีมีการแบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อย ควรพิจารณาอย่างเหมาะสม มีเป้าหมาย มีความลงตัว เช่น จำนวนกี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องมีจำนวนผู้เรียนเท่าๆ กันหรือไม่ จำเป็นต้องการกระจ่ายเด็กเก่งเด็กอ่อนหรือไม่ เป็นต้น
๒. ขั้นสอน เป็นขั้นตอนการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ๓ ขั้นตอน ดังนี้
๒.๑ ขั้นนำสู่บทเรียน ควรเริ่มต้นด้วยเทคนิคหรือวิธีการที่กระตุ้นหรือเร่งเร้าการรับรู้ทางประสาทสัมผัสต่างๆ อันจะนำไปสู่การเกิดความรู้สึกนึกคิด (feeling) หรือความตื่นตัวของผู้เรียน และเชื่อมโยงสู่เนื้อหาความรู้ เช่น ข้อคำถามสะท้อนคิด รูปภาพ สถานการณ์ที่เกิดจริง เสียง วีดีทัศน์ เกม เป็นต้น
๒.๒ ขั้นสอนและประเมินผลแบบ Active learning ประเด็นที่สำคัญ คือ ผู้สอนจะต้องลดบทบาทในการให้ข้อความรู้แบบการบรรยายแก่ผู้เรียนลงอย่างเหมาะสม องค์ประกอบที่ควรพิจารณา มีดังนี้
๒.๒.๑ รูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning มีดังนี้
๑) การใช้กรณีศึกษา (Case Study) เป็นวิธีการหนึ่งที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักวิเคราะห์สถานการณ์แวดล้อมของกรณีศึกษาที่กำหนดขึ้น ซึ่งการใช้กรณีศึกษานี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ร่วมพิจารณา อภิปราย แสดงความรู้สึก เพื่อสรุปปัญหา แนวคิด และแนวทางแก้ปัญหา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจเนื้อหา และสภาพความเป็นจริงที่ลึกซึ้ง พัฒนาความคิดทักษะการแก้ปัญหา การประยุกต์ใช้หรือเชื่อมโยงความรู้เดิมสู่สถานการณ์
๒) การใช้เทคนิคจิ๊กซอว์ (Jigsaw) เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ โดยผู้สอนแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสม (จำนวนกลุ่มและจำนวนสมาชิกของแต่ละกลุ่ม ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่ครูต้องการสอน) สมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม เรียกว่า Home Group จะแยกกันไปศึกษาหัวข้อที่ผู้สอนจะมอบหมายให้ร่วมกับสมาชิกของกลุ่มอื่นๆ เรียกว่า Expert Group จากนั้นสมาชิกทุกคนของกลุ่ม จะกลับไปกลุ่มของตน (Home Group) และเล่าความรู้ที่ตนเองได้ศึกษาให้เพื่อนในกลุ่มฟัง จากนั้นผู้สอนอาจจะให้ตัวแทนของกลุ่มสรุปเนื้อหาของสมาชิกทุกคนเข้าด้วยกัน
๓) การแสดงบทบาทสมมุติ (Role Playing) เป็นวิธีการหนึ่ง ที่มีเป้าประสงค์ให้ผู้เรียนรู้ชัดว่า บุคคลที่อยู่ในสถานการณ์หนึ่งๆ นั้นเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร โดยผู้เรียน สวมบทบาทเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในสถานการณ์นั้น และสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เจตคติ คือ การอภิปรายหลังการแสดง และการให้ความอิสระแก่นักศึกษาในการสร้างสรรค์และกำกับการแสดงบทบาทสมมุตินั้นๆ
๔) การเรียนรู?เป็นทีม (Team-based learning [TBL]) เป็นรูปแบบการสอนที่เน้นการร่วมมือกันในการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ การทำงานด้วยกันเป็นทีมเล็กตามความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน สมาชิกภายในทีมมีหน้าที่รับผิดชอบและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน โดยกระบวนการเรียนรู้แบบทีม แบ่งเป็น ๓ ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ ก่อนเข้าชั้นเรียน เป็นการมอบหมายงานให้ผู้เรียนอ่านหนังสือก่อนเข้าห้องเรียนประมาณ ๑ สัปดาห์ ตามที่อาจารย์ผู้สอนกำหนดหัวข้อและ scope เนื้อหาที่ชัดเจน
ระยะที่ ๒ ในชั้นเรียน เป็นการประยุกต์เนื้อหาที่อ่านมาในห้องเรียน โดยแบ่งเป็น ๓ ช่วง ช่วงแรก คือ การทำแบบทดสอบรายบุคคล ช่วงที่ ๒ เมื่อผู้เรียนทำ Test เสร็จแล้วให้เข้ากลุ่ม โดยผู้สอนจะแจกข้อสอบชุดเดิม และให้ผู้เรียนในกลุ่มช่วยกันหาคำตอบและตอบคำถามที่เป็นความคิดเห็นรวมของทีม โดยที่ผู้เรียนสามารถทราบคำตอบแบบทันที
ระยะที่ ๓ หลังจากได้ทำแบบฝึกหัดแบบกลุ่มแล้ว ผู้เรียนจะได้ฝึกวิเคราะห์สถานการณ์ Case ผู้ป่วย โดยให้ผู้เรียนร่วมกันทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม โดยเน้นให้ใช้ความรู้จากการอภิปรายและหนังสือเพื่อแก้ปัญหา หลังจากนั้นกลุ่มจะอภิปรายคำตอบและเหตุผล โดยผู้สอนจะทำกระบวนการกลุ่มการอภิปรายร่วมกันในห้องเรียน หลังสิ้นสุดการเรียนการสอนแบบ TBL ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาในหัวข้อที่กำหนด สามารถใช้แนวคิดของการเรียนในการแก้ปัญหาและการคิด และพัฒนาทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กลุ่มและทักษะระหว่างบุคคล
๒.๒.๒ เทคนิคหรือวิธีการกระตุ้นผู้เรียนให้มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน อย่างต่อเนื่อง มีดังนี้
๑) การใช้เกม (Games) เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนสนุก ตื่นเต้น มีส่วนร่วมและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะแก้ปัญหา สื่อสาร การฟัง ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ผู้สอนสามารถใช้เกมในการเสริมแรง ทบทวน สอนข้อเท็จจริง ทักษะ และมโนทัศน์ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้เรียนสนใจบทเรียน อีกทั้งยังใช้เป็นการประเมินผลการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการได้ด้วย ตัวอย่างเกม เช่น การจับคู่ การทายคำ ปริศนาอักษรไขว้ ใบ้คำ เป็นต้น
๒) การอภิปรายกลุ่ม (Group Discussion) เป็นกลวิธีที่จัดให้มีขึ้น ด้วยเจตนาร่วมกันที่จะพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยนำข้อปัญหา และแง่คิดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นมากล่าวให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็น หรือช่วยขบคิดเกี่ยวกับข้อปัญหานั้น เพื่อหาข้อสรุป ทุกคนมีส่วนร่วมในการพูด ออกความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน
๓) การตั้งคำถามหรือใช้คำถามกระตุ้น
(๑) การใช้ ๕ คำถามของนักปราชญ์ ได้แก่ ๑) หมายความว่าอย่างไร ๒) อะไร ๓) ทำไม ๔) อย่างไร และ ๕) สรุปหรืออธิบายเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ เพื่อกระตุ้นและสร้างให้ผู้เรียนรู้จักคิด และช่างสงสัย คิดหาคำตอบ และอธิบาย
(๒) การใช้คำถามตามวิธีการของโสเครติส (Socratic Method) เป็นการสนทนาที่มีการใช้คำถามนำเป็นชุดแบบต่อเนื่องเป็นเครื่องสำคัญเพื่อเข้าถึงความรู้หรือความจริงที่มีอยู่ ซึ่งคำถามที่ใช้ต้องเป็นสิ่งที่ผู้เรียนมีประสบการณ์มาแล้ว
๔) การสร้างแผนผังความคิด (mapping)
๕) การใช้สื่อวีดีทัศน์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาความรู้ และมีความรุกเร้าประสาทสัมผัสการรับรู้ต่างๆ ของผู้เรียน
๕) การสร้างเงื่อนไขให้มีผลกระทบต่อผู้เรียน ทั้งด้านบวกและลบ เช่น การแบ่งกลุ่มแข่งขันตอบปัญหาชิงรางวัล หรือให้คะแนนสะสม ถือว่าเป็นกลอุบายให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกระทำด้วยตัวเอง
๖) การประเมินและการสร้างบรรยายการเรียนรู้ โดยใช้วิธีสำรวจหรือตรวจจับ ด้วยสายตาและความรู้สึก (Scan) กรณีพบว่าบรรยายการเรียนรู้เริ่มเฉื่อยชา อาจพิจารณากระตุ้นหรือขั้นเวลาการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ ด้วยกิจกรรมสันทนาการ เช่น เกม เพลงประกอบจังหวะ เป็นต้น
Active learning เป็นรูปแบบการจัดการเรัยนการสอนที่น่าสนใจ เนื่องจากทำให้ผู้เรียนตื่นตัวในการเรียน สามารถเลือกใช้ได้หลากหลายวิธี แต่จากประสบการณ์พบว่าต้องพืจารณาความเหมาะสมของจำนวนผู้เรียน ลักษณะของห้องเรียน และเนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในแต่ละครั้งด้วย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนของอาจารย์แต่ละท่าน ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการ ปัญหาอุปสรรค เพื่อจะได้นำไปใช้ในการสอนครั้งต่อไปของตนเองเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาต่อไป
การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ (Experiential Learning)ก็จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติของอาจารย์ทำให้เข้าใจได้ง่ายเพราะเห็นเป็นรูปธรรม และขณะนักศึกษาลงมือปฏิบัติงานอาจารย์คอยให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดหรือแนะนำวิธีแก้ปัญหา ซึ่งทดลองใช้สอนในการจัดการเรียนการสอนภาคทดลอง วิชา การประเมินภาวะสุขภาพ ทำให้ย่นระยะเวลาในการเรียนรู้ของนักศึกษาได้มาก
Active Learning เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งกับผู้สอนและผู้เรียน ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากวิธีการสอนที่หลากหลาย แต่อุปสรรคมักเกิดจากจำนวนผู้เรียนที่มากเกินไป ห้องเรียนไม่เอื้อต่อการจัดกิจกรรม ทำให้ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ จึงควรมีการวางแผนร่วมกันตั้งแต่ระดับนโยบายในเรื่องของการเตรียมจำนวนนักเรียน และสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในรายวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 1 มีการใช้กรณีศึกษา (Case Study) โดยให้นักศึกษาได้ศึกษาจากกรณีศึกษาจริงที่มีปัญหาสุขภาพตามระบบต่างๆ ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์สถานการณ์แวดล้อมของกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เก็บรวบรวมข้อมูล ร่วมกันอภิปราย แสดงความรู้สึก สรุปปัญหา และวางแผนที่ใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและให้ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพกรณีศึกษาและครอบครัว วิธีการเรียนการสอนนี้ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจเนื้อหา และสภาพความเป็นจริงที่ลึกซึ้ง พัฒนาความคิดทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเชื่อมโยงความรู้เดิมสู่สถานการณ์จริงได้อย่างดีมาก
Active learning เป็นรูปแบบการจัดการเรัยนการสอนที่น่าสนใจ เนื่องจากทำให้ผู้เรียนตื่นตัวในการเรียน สามารถเลือกใช้ได้หลากหลายวิธี แต่จากประสบการณ์พบว่าต้องพืจารณาความเหมาะสมของจำนวนผู้เรียน ลักษณะของห้องเรียน และเนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในแต่ละครั้งด้วย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนของอาจารย์แต่ละท่าน ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการ ปัญหาอุปสรรค เพื่อจะได้นำไปใช้ในการสอนครั้งต่อไปของตนเองเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาต่อไป
เทคนิคการใช้คำถามกระตุ้น เป็นวิธีการที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นผู้เรียนให้สามารถเชื่อมโยงความรู้หรือบูรณาการความรู้ของตนเอง โดยคำถามที่ครูใช้ถามกระตุ้นนั้นจะทำให้ผู้เรียน สามารถนำความรู้หน่วยย่อยแต่ละเรื่องของตนเองที่มีความสัมพันธ์เชิงเหตุผล มาเชื่อมโยงรวมเข้าด้วยกันกับเรื่องหลักได้ และรวบรวมเป็นความรู้ใหม่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เรียนในการเชื่อมโยงความรู้ภาคทฤษฎีไปใช้ในการเรียนภาคปฏิบัติ ครูผู้สอนควรใช้เทคนิคการตั้งคำถามเพื่อฝึกกระบวนการ Active learning ให้ผู้เรียน
การจัดการเรียนการสอน แบบ Active learning เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้กับผู้เรียน สิ่งสำคัญคือการหาแนวทางและการวางแผนในการจัดกิจกรรมให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมกันอย่างทั่วถึง และต้องคำนึงถึงความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน เพื่อนนำมาวางแผนการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน จากวิธีการที่หลากหลายที่อาจารย์หลายท่านได้ใช้มา จะเห็นได้ว่าสิ่งที่จะมีส่วนในการสนับสนุนการเรียนรู้คือบรรยากาศในการเรียนด้วย ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ผู้สอนต้องมีการศึกษาผู้เรียนก่อนว่าพื้นฐาน หรือสภาพ รวมถึงความรู้และประสบการณ์เดิมที่ผู้เรียนมีอยู่ เพื่อนนำมาวางแผนในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิธิภาพและเกิดประโยชน์กับผู้เรียนสูงสุด
นอกจาก การเลือกหรือวางแผนการจัดการเรียนการสอนให้เป็นในลักษณะ Active Learning แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ ตัวอาจารย์เอง ซึ่งอาจารย์ต้องเข้าใจธรรมชาติของกลุ่มในชั้นเรียน ย่อมเป็นไปทั้งตื่นตื่น สนุกสนาน หรือเฉื่อยชา เงียบเหงา ดังนั้น อาจารย์ต้องคอยสำรวจ ตรวจสอบบรรยากาศภายในชั้นเรียนว่าเป็นเช่นไร กรณีบรรยายเริ่มเฉื่อยชา เงียบเหงา ตึงเครียด อาจารย์จำเป็นต้องหยุดและเปลี่ยนห้วงเวลาเฉื่อยๆ นั้นให้กลับมีชีวิตชีวาเสียใหม่ ซึ่งอาจกระทำโดยการใช้เกม เพลงประกอบท่าทาง สันทนาการ ฯลฯ อันกระทำเพื่อกระตุ้นความตื่นตัวทั้งร่างกาย จิตใจ และนำไปสู่ชีวาชีวีที่มีสุขของผู้เรียนในการเรียนรู้ต่อไป
ลักษณะการเรียนการสอนแบบ Active Learning สิ่งที่อาจารย์ต้องเข้าใจเป็นอันดับแรก คือ ธรรมชาติของกลุ่มนักศึกษาในชั้นเรียน ซึ่งมีทั้ง เฉื่อยชา สนุกสนาน เงียบเหงา หรือสนใจตื่นเต้นตลอดเวลา อาจารย์จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนแบบ Active Learning มีชีวิตชีวามากขึ้น ประกอบกับการเรียนการสอนแบบนี่้ ผู้เรียนต้อง Active ตลอดเวลา และเหมาะสมกับขนาดผู้เรียนไม่มากเกินไป ดังนั้นอุปสรรคการเรียนแบบ Active Learning ที่พบในวิทยาลัยคือ จำนวนผู้เรียนมีจำนวนมาก และสถานที่ในห้องเรียนไม่เอื้ออำนวยในการจัดกิจกรรม คือ ห้องสโลป ซึ่งสถานที่่การทำกลุ่มควรมีลักษณะกว้าง อยู่ในบริเวณเดียวกันได้ แต่ต้องไม่รบกวนกันระหว่างทำกลุ่ม
เทคนิคการกำหนดข้อตกลงร่วมในชั้นเรียน หรือข้อตกลงกลุ่ม ก่อนการเรียนการสอนแบบ Active Learning เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ช่วยให้นักศึกษาทำกิจกรรมการเรียนการสอน ตามกติกา ตรงเวลา เนื่องจากเป็นการควบคุมโดยส่วนรวม เมื่อคนส่วนใหญ่ปฏิบัติ คนส่วนน้อยกลัวการถูกจับผิดจึงปฏิบัติตาม
การจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ขั้นแรกอาจารย์ผู้สอนต้องทราบถึงศักยภาพของผู้เรียน และจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับศักยภาพของผู้เรียน พยายามดึงศักยภาพของผู้เรียนที่มีอยู่ให้มากที่สุด โดยครูทำหน้าที่เป็น facilitator ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนการสอนวิธีนี้ คือ ผู้เรียนยังต้องได้ concept เนื้อหาที่เหมือนเดิม
เห็นด้วยกับหลายท่านค่ะว่า Active learning จะช่วยพัฒนาผู้เรียนได้เป็นอย่างดี เพราะการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัว มีการใช้ความคิดและความรู้ต่างๆที่ได้รับ รวมทั้งประสบการณ์มาประมวลผลเป็นความรู้ที่จะทำให้นักศึกษาจดจำได้เป็นอย่างดี
การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เป็นกระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องได้มีโอกาสลงมือกระทำมากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงทำให้ผู้เรียน มีกระบวนการคิด การแก้ปัญหา การแก้ปัญหาและการนําความรู้ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีที่นักศึกษาจะใช้กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
การจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ก็เป็นอีกกระบวนการหรือวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบมีชีวิตชีวา มีส่วนร่วม แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลายๆด้านที่มีผลต่อนักศึกษาด้วย บางครั้งครู design กิจกรรมไว้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบ active แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัด เช่น กลุ่มผู้เรียนมากเกินไปทำให้กระตุ้นผู้เรียนไม่ทั่วถึง ประสบการณ์ชีวิตของผู้เรียนต่อการศึกษาให้เรื่องๆนั้นๆ ยังไม่มากพอที่จะนำไปใช้ เป็นต้น ดังนั้นคิดว่าผู้สอนจะต้องมีความไวพอต่อปฏิกิริยาโต้ตอบจากผู้เรียน ผู้สอนต้องมีศิลปะและลีลาที่จะต้องกระตุ้นผู้เรียน มีเทคนิคที่หลากหลายและแม่นยำในสาระหลักของเรื่องนั้นๆเพื่อให้ผู้เรียนได้ความบันเทิงเชิงสาระ
การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ไม่เฉพาะแต่นักศึกษาเท่านั้นที่ active ครูต้อง activeกว่า เพราะต้องออกแบบกิจกรรมที่รัดกุม ในขั้นตอนของการวางแผนการเตรียมสื่อ ขั้นสอนและขั้นสรุป ตลอดจนวิธีการประเมินผู้เรียนในระหว่างการสอนต้องออกแบบให้ชัดเจน
การจัดการเรียนการสอนแบบ active learning มีความสำคัญในการเตรียมคนเพื่ออยู่ในศตวรรษที่ 21 ที่มีแนวคิดว่าเยาวชนควรมี ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม หรือ 3R และ 4C ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้
3 R ได้แก่ Reading (การอ่าน), การเขียน(Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic) และ
4 C (Critical Thinking – การคิดวิเคราะห์, Communication- การสื่อสาร Collaboration-การร่วมมือ และ Creativity-ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่
Active Learning เป็นกระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องได้มีโอกาสลงมือกระทำด้วยตนเอง ซึ่งผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้การเรียนรู้โดยการอ่าน, การเขียน, การโต้ตอบ, และการวิเคราะห์ปัญหา อีกทั้งให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่ การวิเคราะห์, การสังเคราะห์, และการประเมินค่า ซึ่งเป็นแนวทางในการเตรียมให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการสอบขึ้นทะเบียนฯซึงในปัจจุบันจะต้องอาศัยทักษะการคิดวิเคราะห์ในการทำข้อสอบและการประยุกต์ใช้ในการทำงานต่อไปด้วย
ผู้สอนควรศึกษาภูมิหลังทางการเรียน สภาวะแวดล้อมขณะเรียน อันจะส่งผลถึงการว่างแผน
และออกแบบการสอนอย่างเหมาะสมสำหรับนักศึกษา ผู้เรียน ควรมีความกระตือรือร้น
พูดคุยความก้าวหน้าในการค้นคว้ากับผู้สอน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์
และการตกผลึกความรู้ที่ Active
การจัดการเียนสอน แบบactive learning จากที่ได้ศึกษา และอ่านข้อคิดเห็นของจากอาจารย์หลายๆท่าน การจัดการเรียนสอนด้วยวิธี เป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักศึกษา ให้เกิดการคิดอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ได้ดีมากขึ้น แต่จะเห็นว่าการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีนี้ มีข้อกำจัดค่อนข้างมาก ดังนั้นควรมีการวางแผนการจัดการเรียนสอนอย่างดีและครอบคลุม
การจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีนี้ทำให้นักศึกษามีความมั่นใจ การคิดและกล้าแสดงออกเพิ่มมากขึ้น จากกิจกรรมต่างๆที่อาจารย์เตรียมการเรียนการสอนให้
การจัดการเรียนสอน แบบactive learning นั้นเป็นวิธีการสอนวิธีหนึ่งที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (child-center approach)ซึ่งมีแนวคิดมาจากปรัชญา constructivism ที่เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียน ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้จากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม เน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้โดยผ่านกระบวนการคิดด้วยตนเอง โดยผู้สอนไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาของผู้เรียนได้ แต่ช่วยให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาได้ โดยจัดสภาพการณ์ให้ผู้เรียนเกิดความขัดแย้งทางปัญญาหรือเกิดภาวะไม่สมดุลย์ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสบการณ์ใหม่ไม่สอดคล้องกับประสบการณ์เดิม หรือเรียกว่าทำให้ผู้เรียนเกิด “เอ๊ะ” เพื่อให้ผู้เรียนต้องพยายามปรับข้อมูลใหม่กับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ แล้วสร้างเป็นความรู้ใหม่
ในการสอนแบบ active learning นั้น บางครั้งอาจารย์อาจเข้าใจผิดว่า การที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างกระตือรือร้นจึงต้องมีส่วนร่วมมากๆ โดยแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อยให้มากที่สุด ซึ่งการที่นักเรียนถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เพียงกลุ่มละ 2-3 คน แล้วก็นั่งเรียนอยู่ด้วยกัน หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายด้วยกัน ไม่ใช่การเรียนรู้ในลักษณะของ Active Learning ไม่ การที่จะตัดสินว่าเป็น Active Learning ได้ก็ต่อเมื่อ มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนด้วยกัน บรรลุสำเร็จทางด้านวิชาการ เกิดทักษะทางด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน มีการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดไปสู่ในระดับที่สูงขึ้น และเกิดเจตคติที่ดีต่อวิชาที่เรียนและเกิดแรงจูงใจต่อการเรียนรู้
การเรียนการสอนแบบ active learning เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความตื่นตัวและกระตือรือร้นด้านการรู้คิดมากกว่าวิธีการฟังผู้สอนสอนในห้องเรียนและการท่องจำ ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูง และเป็นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องนอกห้องเรียน แต่การเรียนการสอนรูปแบบนี้ก็อาจจะมีผลกระทบต่อผู้เรียน หากผู้สอนมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ active learning โดยที่ผู้สอนมีการลดบทบาทการเป็นผู้ให้ความรู้ลง เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกและผู้บริหารจัดการหลักสูตรโดยปล่อยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างอิสระจากการทำกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยกันในระหว่างนักศึกษาเอง
จัดการเรียนการสอนแบบ active learning เป็นรูปแบบการเรียนที่เหมาะสมในการเรียนสำหรับนักศึกษาในยุคนี้ เพราะเนื้อหาการเรียนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าอยู่ที่ใด ไม่จำกัดเวลาเรียน ขึ้นกับความพร้อมของผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่น บทเรียนโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ การสืบค้นทางอินเทอร็เนต ผู้เรียนรู้สึกสนุกกับการเรียนที่มีรูปภาพ เสียง การเคลื่อนไหว สามารถย้อนกลับมาทบทวนได้ บางบทเรียนมีบททดสอบให้ด้วย
การใช้เกมในการจัดการเรียนการสอนมีข้อควรคำนึงได้แก่ การออกแบบเกมที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน และความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน โดยเฉพาะนักศึกษายุคนี้เป็นยุคที่อยู่ใน generation Y กล่าวคือ ชอบกิจกรรมที่เห็นผลรวดเร็วทันใจ สนุก และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ถ้าออกแบบได้ดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนสนุกสนานและสนใจบทเรียนมากยิ่งขึ้น
การเรียนการสอนแบบactive learning เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความตื่นตัวและกระตือรือร้นด้านการรู้คิดมากกว่าวิธีการฟังผู้สอนสอนในห้องเรียนและการท่องจำ ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูง