วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์

แนวปฏิบัติที่ดีในการเตรียมนักศึกษาเพื่อเป็นพยาบาลวิชาชีพ

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการค้นหาความรู้เพิ่มเติมในด้านการเตรียมนักศึกษาเพื่อเป็นพยาบาลที่ดี งานจัดการความรู้ได้สรุปออกมาเป็นแนวปฏิบัติดังนี้

ขั้นตอนการดำเนินงาน

๑.ปฐมนิเทศให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ทราบเส้นทางการเรียนการสอนและการก้าวเข้าสู่วิชาชีพพยาบาลตั้งแต่เริ่มต้นเรียน จนสอบประมวลความรู้ความสามารถทางการพยาบาล และการสอบขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

๒.การจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีใช้การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการกระตุ้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ สรุปเป็นความรู้ของตนเอง เช่น การทำแผนผังความคิด และการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติควรให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ (ใช้สรุปแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practiceการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติในคลินิก สำหรับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต)

๓. ในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติ อาจารย์ที่นิเทศภาคปฏิบัติควรสามารถชี้ประเด็นที่สำคัญๆของการฝึกปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับทฤษฎี และมีการเน้นย้ำให้นักศึกษามีกระบวนการจัดเก็บความรู้อย่างเป็นระบบ เช่น ทำแผนผังความคิดแต่ละโรค หรือการบันทึกย่อสิ่งที่สำคัญ สำหรับการฝึกในชั้นปี ๔ ควรมีการจัดให้มีการ Conference โดยเน้นการดูตาม Test Blue Print ของสภาการพยาบาลเพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ครบถ้วน

๔. สร้างขวัญและกำลังใจให้นักศึกษามีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพในแต่ละชั้นปี และบอกถึงเส้นทางความก้าวหน้าของการประกอบวิชาชีพพยาบาลโดยให้รุ่นพี่หรือศิษย์เก่ามีส่วนร่วม

๕.กระตุ้นให้นักศึกษามีความตั้งใจเรียนตั้งแต่ต้น คือ ชั้นปีที่ ๑ เพราะทุกรายวิชาสามารถนำมาเป็นพื้นฐานสำหรับวิชาในชั้นปีสูงๆ และให้แจกTest Blue Print ของสภาการพยาบาลให้กับนักศึกษา

๖. ในตอนปลายของชั้นปีที่ ๓ ควรมีการจัดสอบเพื่อประเมินความรู้ความสามารถทางการพยาบาลของนักศึกษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดกลุ่มนักศึกษาเพื่อเตรียมตัวในชั้นปีที่ ๔ การแบ่งกลุ่มเพื่อเตรียมทบทวนความรู้ควรแบ่งตามความรู้ที่มีอยู่ ทั้งนี้ฝ่ายวิชาการควรมีการอธิบายให้กับนักศึกษาทราบวัตถุประสงค์ของการแบ่งกลุ่ม ในขั้นนี้การตรวจข้อสอบแบ่งตามหัวข้อเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ทราบว่าเด็กแต่ละคนมีจุดบกพร่องด้านใด

๗. ในชั้นปีที่ ๔ การทบทวนความรู้ควรเริ่มจากให้นักศึกษามีการทบทวน Concept สำคัญก่อน โดยนักศึกษาสามารถทบทวนได้โดยการชี้ประเด็นโดยผู้สอนผ่านการประชุมปรึกษาทางการพยาบาล

๘. ในชั้นปีที่ ๔ นักศึกษาจะมีความเครียดมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะช่วงที่ใกล้สอบ วิทยาลัยควรจัดกิจกรรมในการเสริมสร้างพลังใจให้กับนักศึกษาเป็นระยะพร้อมกับให้นักศึกฯวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของตนเองรวมทั้งหาแนวทางในการกำจัดจุดอ่อน เช่น การจัดให้ออกนอกสถานที่ การจัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังใจ

๙. ในช่วงสุดท้ายการทบทวนความรู้ที่จัดให้ควรมีการแนะแนวเกี่ยวกับเทคนิควิธีการทำข้อสอบแต่ละรายวิชา เนื่องจากพบว่าศิษย์เก่าบอกว่าปัญหาที่สำคัญคือไม่รู้ว่าควรจะจัดการกับการทำข้อสอบแต่ละรายวิชาอย่างไร

๑๐.ในการทบทวนความรู้ควรให้นักศึกษามีส่วนร่วมโดยสอบถามความคิดเห็นถึงความต้องการการช่วยเหลือต่างๆ

๑๑. ผู้บริหารทุกระดับโดยเฉพาะระดับสูงของวิทยาลัยควรมีบทบาทในการสร้างขวัญและกำลังใจแก่นักศึกษา

๑๒. ใช้มาตรการหรือแนวทางการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาเรื่องการเรียนอย่างเคร่งครัด หากนักศึกษามีผลการเรียนในรายวิชาไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ควรดำเนินการตามมาตรการเพื่อเสริมสร้างความรู้ของนักศึกษาอย่างเคร่งครัด จนกว่าผลที่ออกมาจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

ซึ่งการจัดทำแนวปฏิบัติดังกล่าวต้องการการยืนยันถึงประสิทธิภาพของการนำแนวปฏิบัติไปใช้และต้องการเพิ่มเติมรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนหากภาควิชาใดนำไปปฏิบัติแล้วและมีข้อเสนอแนะ ช่วยเสนอให้ทราบ เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์

ศศิธร ชิดนายี

หัวหน้างานวิจัย การจัดการความรู้และวิเทศสัมพันธ์