แนวปฏิบัติที่ดีในการเตรียมนักศึกษาเพื่อเป็นพยาบาลวิชาชีพ
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
แนวปฏิบัติที่ดีในการเตรียมนักศึกษาเพื่อเป็นพยาบาลวิชาชีพ
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการค้นหาความรู้เพิ่มเติมในด้านการเตรียมนักศึกษาเพื่อเป็นพยาบาลที่ดี งานจัดการความรู้ได้สรุปออกมาเป็นแนวปฏิบัติดังนี้
ขั้นตอนการดำเนินงาน
๑.ปฐมนิเทศให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ทราบเส้นทางการเรียนการสอนและการก้าวเข้าสู่วิชาชีพพยาบาลตั้งแต่เริ่มต้นเรียน จนสอบประมวลความรู้ความสามารถทางการพยาบาล และการสอบขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
๒.การจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีใช้การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการกระตุ้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ สรุปเป็นความรู้ของตนเอง เช่น การทำแผนผังความคิด และการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติควรให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ (ใช้สรุปแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practiceการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติในคลินิก สำหรับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต)
๓. ในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติ อาจารย์ที่นิเทศภาคปฏิบัติควรสามารถชี้ประเด็นที่สำคัญๆของการฝึกปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับทฤษฎี และมีการเน้นย้ำให้นักศึกษามีกระบวนการจัดเก็บความรู้อย่างเป็นระบบ เช่น ทำแผนผังความคิดแต่ละโรค หรือการบันทึกย่อสิ่งที่สำคัญ สำหรับการฝึกในชั้นปี ๔ ควรมีการจัดให้มีการ Conference โดยเน้นการดูตาม Test Blue Print ของสภาการพยาบาลเพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ครบถ้วน
๔. สร้างขวัญและกำลังใจให้นักศึกษามีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพในแต่ละชั้นปี และบอกถึงเส้นทางความก้าวหน้าของการประกอบวิชาชีพพยาบาลโดยให้รุ่นพี่หรือศิษย์เก่ามีส่วนร่วม
๕.กระตุ้นให้นักศึกษามีความตั้งใจเรียนตั้งแต่ต้น คือ ชั้นปีที่ ๑ เพราะทุกรายวิชาสามารถนำมาเป็นพื้นฐานสำหรับวิชาในชั้นปีสูงๆ และให้แจกTest Blue Print ของสภาการพยาบาลให้กับนักศึกษา
๖. ในตอนปลายของชั้นปีที่ ๓ ควรมีการจัดสอบเพื่อประเมินความรู้ความสามารถทางการพยาบาลของนักศึกษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดกลุ่มนักศึกษาเพื่อเตรียมตัวในชั้นปีที่ ๔ การแบ่งกลุ่มเพื่อเตรียมทบทวนความรู้ควรแบ่งตามความรู้ที่มีอยู่ ทั้งนี้ฝ่ายวิชาการควรมีการอธิบายให้กับนักศึกษาทราบวัตถุประสงค์ของการแบ่งกลุ่ม ในขั้นนี้การตรวจข้อสอบแบ่งตามหัวข้อเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ทราบว่าเด็กแต่ละคนมีจุดบกพร่องด้านใด
๗. ในชั้นปีที่ ๔ การทบทวนความรู้ควรเริ่มจากให้นักศึกษามีการทบทวน Concept สำคัญก่อน โดยนักศึกษาสามารถทบทวนได้โดยการชี้ประเด็นโดยผู้สอนผ่านการประชุมปรึกษาทางการพยาบาล
๘. ในชั้นปีที่ ๔ นักศึกษาจะมีความเครียดมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะช่วงที่ใกล้สอบ วิทยาลัยควรจัดกิจกรรมในการเสริมสร้างพลังใจให้กับนักศึกษาเป็นระยะพร้อมกับให้นักศึกฯวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของตนเองรวมทั้งหาแนวทางในการกำจัดจุดอ่อน เช่น การจัดให้ออกนอกสถานที่ การจัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังใจ
๙. ในช่วงสุดท้ายการทบทวนความรู้ที่จัดให้ควรมีการแนะแนวเกี่ยวกับเทคนิควิธีการทำข้อสอบแต่ละรายวิชา เนื่องจากพบว่าศิษย์เก่าบอกว่าปัญหาที่สำคัญคือไม่รู้ว่าควรจะจัดการกับการทำข้อสอบแต่ละรายวิชาอย่างไร
๑๐.ในการทบทวนความรู้ควรให้นักศึกษามีส่วนร่วมโดยสอบถามความคิดเห็นถึงความต้องการการช่วยเหลือต่างๆ
๑๑. ผู้บริหารทุกระดับโดยเฉพาะระดับสูงของวิทยาลัยควรมีบทบาทในการสร้างขวัญและกำลังใจแก่นักศึกษา
๑๒. ใช้มาตรการหรือแนวทางการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาเรื่องการเรียนอย่างเคร่งครัด หากนักศึกษามีผลการเรียนในรายวิชาไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ควรดำเนินการตามมาตรการเพื่อเสริมสร้างความรู้ของนักศึกษาอย่างเคร่งครัด จนกว่าผลที่ออกมาจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ซึ่งการจัดทำแนวปฏิบัติดังกล่าวต้องการการยืนยันถึงประสิทธิภาพของการนำแนวปฏิบัติไปใช้และต้องการเพิ่มเติมรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนหากภาควิชาใดนำไปปฏิบัติแล้วและมีข้อเสนอแนะ ช่วยเสนอให้ทราบ เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์
ศศิธร ชิดนายี
หัวหน้างานวิจัย การจัดการความรู้และวิเทศสัมพันธ์
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปี 1 ควรมีการจัดให้ศึกษาดูงานบนหอผู้ป่วย เพื่อสร้างความคุ้นเคย และเพื่อจะได้เป็นการเตรียมความพร้อมสู่วิชาชีพค่ะ และนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 ควคจัดกิจกรรมออกค่ายเพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบสภาการพยาบาล เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจและให้ตัวแทนอาจารย์แต่ละภาควิชาเข้ามามีส่วนร่วมตลอดการจัดกิจกรรม
จากประสบการณ์การเป็นอาจารย์ประจำชั้นนศ.ปี4เมื่อปีการศึกษา 2554 จากการพูดคุยพบว่านักศึกษาปี 4 บอกว่ามีความเครียดค่อนข้างมากในช่วงฝึกปฏิบัติและใกล้สอบใบประกอบวิชาชีพ แต่ในทางปฏิบัติพบว่ามีนักศึกษาบางคนเท่านั้นที่มีการเตรียมตัวอย่างจริงจังเพื่อการสอบที่สำคัญนี้ นศ.บางคนพยายามหาแนวข้อสอบเพื่อมาฝึกทำ และเข้าหาอาจารย์เฉพาะสาขาเพื่อช่วยเฉลยและอธิบายข้อสอบให้เพื่อความกระจ่างชัด แต่บางรายยังคงรอเฉพาะช่วงเวลาของการติวก่อนสอบ เมื่อถึงช่วงเวลาติว ทำการเช็คชื่อ พบว่าส่วนใหญ่นักศึกษาเข้าติวไม่ครบทุกคน จึงเสนอว่าต้องทำการกระตุ้นความตระหนักถึงการเตรียมตัวของนักศึกษาเพื่อการสอบเป็นระยะ เนื่องจากนักศึกษาจะกระตือรือร้นในช่วงต้นๆเท่านั้น
อาจารย์พยาบาล น่าจะมีโอกาศให้นักศึกษาควรได้เห็นแบบอย่างที่ดี ในการทำงานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นงานชุมชน หรืองานบนโรงพยาบาล รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับผู้ที่ทำงานแล้วประสบความสำเร็จ ในสายวิชาชีพ รวมทั้งการปลูกฝังคุณธรรม ให้กับนักศึกษา ตลอดระยะเวลา 4ปี
ครูควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักศึกษา และกระตุ้นให้นักศึกษาแสดงความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ รวมถึงให้นักศึกษาเห็นคุณค่าของตัวเองและวิชาชีพ มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามีความสุขในการปฏิบัติงานและคุณภาพงานจะดีตามไปด้วย
เป็นแนวทางที่ดีสำหรับการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาตั้งแต่ปีหนึ่ง ในการปฐมนิเทศให้นักศึกษาทราบแนวทางตั้งแต่การเรียนการสอน การขึ้นฝึกปฏิบัติงาน โดยเน้นการกระตุ้นให้นักศึกษาตั้งใจเรียน ปลูกฝังและเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้นักศึกษามีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้นักศึกษากระตือรือร้น ทบทวนความรู้จากการเรียน การฝึกปฏิบัติ เพื่อเตรียมสอบขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและความก้าวหน้าทางวิชาชีพพยาบาลต่อไป
ขั้นตอนการปฏิบัติในข้อที่ 8 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ขณะใกล้สอบนักศึกษาจะมีความเครียดตามลำดับ การดูแลนักศึกษาในช่วงเวลานี้มีส่วนสำคัญในการเตรียมนักศึกษาอย่างมากเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหลายปัจจัย ต้องใช้องค์ประกอบจากหลายฝ่าย เช่น อาจารย์ พยาบาลพี่เลี้ยงแหล่งฝึก พยาบาลรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ผ่านการสอบขึ้นทะเบียน ผู้ปกครอง กลุ่มเพื่อน ในการช่วยเหลือดูแลให้คำปรึกษา
การเตรียมนักศึกษาต้องเตรียมความพร้อมหลายด้านด้วยกัน ทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติการพยาบาล การครองตน และอาจารย์ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้นักศึกษาด้วยค่ะ
อ.ดวงดาว
แนวปฏิบัติที่ร่วมกันคิดสร้างสรรค์มาเห็นว่าอาจารย์และทางวิทยาลัยก็พยายามหาวิธีการต่างๆมาทำให้ผลผลิตของเราซึ่งคือนักศึกษาน่าจะถูกบ่มเพาะไปเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ดีและสมบูรณ์แบบได้ หากแต่ว่าบางช่วงรอยต่อความเข้มข้นหรือความใส่ใจของระหว่างผู้จัดและผู้ถูกกระทำอาจจะสวนทางกันได้ เช่น ช่วงใกล้จบผู้เรียนอาจรู้ถึงว่าทุกอย่างมันถาถมเข้ามาจนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะวางแผนตัวเองอย่างไร ผู้สอนหรืออาจารย์ก็ต้องมีกลวิธีที่จะต้องไวต่อความรู้สึกหรือการเปลี่ยนแปลงของนศ. ส่วนนศ.ก็จะต้องมีการวางแผนที่ดี บริหารจัดการเวลาให้เป็น เพราะทุกอย่างคือการทำเพื่อตัวเองของนศ.เอง ส่วนนศ.ในช่วงชั้นปีต้นประมาณปี ๑ และ ๒ ก็ควรจะได้รับความเอาใจใส่ ปลูกฝังทัศนคติเกี่ยวกับวิชาชีพ การเป็นแบบอย่างที่ดีของอาจารย์ให้กับนศ.ค่ะ
อ.วาสนา
การเตรียมนศ.เพื่อการเป็นพยาบาลวิชาชีพนั้นหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันอย่างจริงจัง และการเตีรยมนศ.ซึ่งจะเป็นผลผลิตไปให้บริการแก่ผู้รับบริการนั้นจะต้องสมบูรณ์แบบ เริ่มต้นที่ต้นแบบจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาทั้งการพูดจา บุคลิกภาพ ความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติการพยาบาลที่ถูกต้อง ส่วนนักศึกษาก็ควรจะมีการวางแผนชีวิตที่ดี ภายใต้ตนเองและคำแนะนำจากอาจารย์ในสถานศึกษาตามระดับของนศ.ในแต่ละชั้นปี รู้จักการบริหารจัดการเวลาที่ดีซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักศึกษาในยุคปัจจุบัน ควรแบ่งเวลาในการทบทวนเนื้อหาสาระบ้าง ลดการท่องโลกออนไลน์ลงบ้าง เพิ่มการใส่ใจ การพูดคุย “high tech low touch” อ.วาสนา
การทบทวนความรู้ให้นักศึกษา ควรจัดให้มีขึ้นก่อนการเลื่อนชั้นปีทุกครั้ง เพื่อเป็นการสรุปรวบยอดความรู้ โดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการการทบทวน
การเตรียมความรู้และทักษะในการพยาบาลเห็นด้วยกับทุกๆท่านค่ะเพราะวิชาชีพพยาบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งทั้งในส่วนของความรู้คือศาสตร์และทักษะปฏิบัติในส่วนที่เป็นศิลป์ แต่ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ทางด้านจิตใจ ดังกล่าวในแนวปฏิบัติข้อที่ ๔ คือ สร้างขวัญและกำลังใจให้นักศึกษามีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพในแต่ละชั้นปี และบอกถึงเส้นทางความก้าวหน้าของการประกอบวิชาชีพพยาบาลโดยให้รุ่นพี่หรือศิษย์เก่ามีส่วนร่วม เพราะถ้ามีความรู้แล้ว ทักษะก็เยี่ยมแล้ว แต่ถ้าใจไม่มาเราก็อาจจะรักษาให้นักศึกษาที่จบแล้วอยู่ในวิชาชีพของเราได้ยากค่ะ
การสร้างขวัญกำลังใจ การเสริมสร้างพลังอำนาจ และพัฒนาการคิดเชิงบวกให้กับนักศึกษาเป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีความพร้อมทั้งความรู้ ทัศนคติและทักษะการพยาบาล เพื่อเตรียมการสอบวัดความรู้และจบไปเป็นพยาบาลที่ดี โดยอีกแนวทางเคยใช้ในการเสริมพลังอำนาจให้กับนักศึกษา คือการให้กำลังใจและกระตุ้นเตือนให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการมุ่งมั่นตั้งใจลงมือกระทำเพื่อตัวเองและครอบครัว ครูปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีและให้ความช่วยเหลือนักศึกษาในทุกเรื่องด้วยใจที่หวังดี จะทำให้นักศึกษามีความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มีทักษะการแก้ปัญหาและมีความพร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่พยาบาลวิชาชีพที่ดีต่อไป
อยากจะชวนมองอย่างจริงจังว่า อย่าลืมเตรียมครูซึ่งเป็นต้นแบบของนักศึกษาในการเป็นนักปฏิบัติการพยาบาลมืออาชีพด้วยนะครับ ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ควรจะเป็นด้วย
จะเห็นได้ว่า ในแต่ละชั้นปีจะมีแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นลำดับขั้นตอน ในการที่เตรียมนักศึกษา ให้มีความรู้และทักษะการปฏิบัติ และสิ่งสำคัญที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับนักศึกษาที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลที่ดีก็คือคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงการสร้างแบบอย่างที่ดี อาจเริ่มต้นจาก ตัวครูผู้สอน พยาบาลบนหอผู้ป่วย และนักศึกษารุ่นพี่ เนื่องจากนักกกศึกษาจะได้ซึมซับรูปแบบ และพฤติกรรมที่ดีเหล่านี้ และนำไปสร้างให้เกิดขึ้นกับตัวเองต่อไป
การเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ดีนั้นมิใช่อยู่ที่มีความรู้ดีอย่างเดียว จริงๆแล้วความรู้นั้นหาได้ด้วยการอ่าน ถาม สังเกตและหัดทำแต่สิ่งที่พยาบาลวิชาชีพพึงมีคือความอยากเป็นพยาบาล ความอยากที่จะช่วยเหลือคนอื่น อยากรู้ถึงความต้องการของผู้รับบริการและสามารถให้บริการตามความเหมาะสมสำหรับผู้รับบริการแต่ละรายได้รวมถึงเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ทำอย่างไรให้นักศึกษาพยาบาลมีความอยากดังข้างต้นที่กล่าวมา คำตอบคืออยู่ที่ครูพยาบาล ต้องเป็นตัวอย่างเป็นผู้ชี้นำชี้แนะให้นักศึกษาได้เห็นคุณค่าของวิชาชีพและคุณประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์
การเป็นมีอย่างการปฏิบัติที่ดีจะช่วยได้มาก
การมีตัวอย่างการปฏิบัติที่ดีร่วมกับการชี้นำที่เหมาะสมกับกาลเวลาจะช่วยได้มาก