การถอดบทเรียนเทคนิคการบริหารงานวิจัยให้ประสบผลสำเร็จ
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
การถอดบทเรียนเทคนิคการบริหารงานวิจัยให้ประสบผลสำเร็จ
จากการประชุมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการบริหารงานวิจัย ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ที่ห้องประชุมบานชื่น สรุปแนวทางเทคนิคการบริหารงานวิจัยให้ประสบผลสำเร็จ ดังนี้
๑.ผู้วิจัยควรศึกษาทำความเข้าใจขอบเขตและกระบวนการดำเนินงานการผลิตผลงานทางวิชาการ การวิจัย/งานสร้างสรรค์ ตำราที่ตนเองสนใจ
๒. เน้นการบูรณาการงานวิจัยกับงานประจำและวิถีชีวิต
๓. มีวินัยและกำกับตนเองให้งานเป็นไปตามแผน
๔.ประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะและปรับพัฒนางานและแผน
๕.รวบรวมสรุปผลการดำเนินงานและดำเนินงานอย่างเป็นระบบ
๖. ทีมวิจัยหรือคณะทำงานควรเป็นผู้ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกัน
๗. ควรมีใจรักในงานวิชาการ
๘. ศึกษาเรียนรู้แนวทางการจัดการจากผู้รู้ที่สำเร็จในการขับเคลื่อนงานทั้งโดยการขอคำปรึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาเอกสารของผู้ที่สำเร็จในด้านต่างๆเช่น การเขียนโครงร่าง การเบิกจ่ายต่างๆเป็นต้น
กลุ่มงานวิจัย บริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์
๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๘
สิ่งสำคัญอีกประเด็นในการบริหารงานวิจัยให้ประสบผลสำเร็จ คือ การบริหารเวลา ของนักวิจัยซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนด้วยและมีหน้าที่ในหลายพันธกิจหลักของหน่วยงาน นักวิจัยจึงจำเป็นต้องจัดสรรเวลาในแต่ละพันธกิจให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถมีเวลาไปทำงานวิจัยตามแผนการดำเนินการวิจัยที่กำหนดไว้
การบริหารเวลาสำหรับนักวิจัยเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนักวิจัยมีภาระกิจหลายๆด้านที่ต้องปฏิบัติให้สำเร็จ โดยเฉพาะด้านการสอนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สำหรับตัวเองส่วนมากจะติดค้างอยู่ที่การวิเคราะห์และอภิปรายผล ซึ่งต้องใช้เวลาที่ต่อเนื่องและพุ่งความสนใจในกระบวนการดังกล่าว อย่างไรก็ตามจะพยายามบริหารเวลาให้ดีขึ้นเพื่อผลิตงานวิจัยให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพมากที่สุด
ความมีวินัยในตนเองและการกำกับตนเองเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการจะทำวิจัยให้สำเร็จซึ่งปัจจุบันครูทุกคนมีความรู้และแหล่งทุนที่จะเอื้อและสนับสนุนเบื้องต้นอยู่แล้ว
ระบบกำกับตนเอง ในการทำวิจัยถือว่ามีความสำคัญมากในการควบคุมทั้งเวลา คุณภาพ ให้เป็นไปตามที่กำหนด ฉะนั้น การจะกำกับตนเองได้ต้องเริ่มจาการวางแผนในการทำวิจัย อย่างชัดเจน และครอบคลุม และฝึกความมีวินัยกับตนเองจะทำให้นักวิจัย สามารถ บริหารงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำวิจัย ที่คิดว่าสำคัญที่สุดคือ ผู้ทำวิจัยต้อง รู้จักการบริหารเวลา การทำงานร่วมกับกลุ่มผู้สนใจหัวข้อหรือการวิจัยในแนวเดียวกัน(Cluster)มีการอบรมข้อมูล และความรู้ใหม่ๆด้านการวิจัยให้กับอาจารย์ ระบบสนับสนุนในการทำวิจัย เช่น แหล่งข้อมูล โครงการวิจัยที่อาจารย์ริเริ่มทำ การให้ทุนในการทำวิจัยมากขึ้น และอำนวยข้อมูลเรื่องทุนวิจัยทั้งในและนอกคณะฯ รวมทั้งการสร้างระบบการวิจัยที่ดี เช่น มี Mentor และ Consult แต่ที่สำคัญที่สุดจะทำให้งานวิจัยสำเร็จได้ต้องขึ้นกับผู้ดำเนินการวิจัย
จากการสรุปแนวทางและเทคนิคในการบริหารงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จนั้น ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก และที่สำคัญอีกข้อคือ ความมีวินัยในตนเอง และการกำกับตนเอง ในการจัดทำวิจัยให้เป็นไปตามขอบเขต ระยะเวลาและเกณฑ์ของงานวิจัย
การปรับทัศนคติเกี่ยวกับการทำวิจัย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเรามักคิดว่าการวิจัยเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน และเข้าใจว่าคนที่จะทำวิจัยได้ต้องมีความรู้ด้านการวิจัยและสถิติในระดับสูง ซึ่งที่จริงแล้วทุกคนสามารถทำวิจัยได้ถ้ามีความตั้งใจจริงที่จะศึกษาค้นคว้าและพร้อมที่จะลงมือทำ สำหรับความความรู้เกี่ยวกับการวิจัยในปัจจุบันสามารถหาเอกสารตำรามาอ่านซึ่งมีอยู่มากมายตามห้องสมุด หรือหาอ่านได้ในอินเตอร์เน็ต ในด้านสถิติในปัจจุบันมีผู้เขียนโปรแกรมสำเร็จรูปที่ช่วยให้วิเคราะห์ข้อมูลสะดวก ง่าย รวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ ถ้ารู้หลักการใช้สถิติและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นและศึกษาวิธีการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปให้เข้าใจก็สามารถทำได้
เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า การบริหารงานวิจัยให้ประสบผลสำเร็จนั้นนักวิจัยควรมีใจรักในงานวิชาการหรือการทำวิจัย เพราะเหนือสิ่งอื่นใดแล้วไม่ว่าจะมีเวลาหรือไม่มี จะมีวินัยในตนเองและกำกับตนเองได้ดีเพียงใด ถ้ามีใจรักนักวิจัยจะมีวิธีการบริหารจัดการสร้างสรรค์ให้เกิดงานวิจัยที่มีคุณภาพได้
การที่จะทำงานวิจัยให้สำเร็จได้นั้น โดยส่วนตัวคิดว่าอันดับแรก ผู้วิจัยจะต้องมีใจและทัศนคติที่ดีต่อการทำวิจัย จากนั้นก็ต้องมีเวลาในการที่จะทำให้กระบวนการต่างๆเกิดขึ้น และเมื่อมีเวลาแล้วผู้วิจัยต้องเข้มงวดกับการกำกับติดตามงานของตนให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ตลอดจนมีองค์ความรู้ด้านการวิจัยเป็นพื้นฐานเดิมด้วย นอกจากนี้ควรมีกัลยาณมิตรที่ดีในการเป็นที่ปรึกษาด้วย นักวิจัยควรมีจริยธรรมในการวิจัย ควรมีแหล่งสืบค้นข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย และถ้ามองผลประโยชน์ขององค์กรควรมีทิศทางการทำวิจัยที่ชัดเจนว่าทำอะไร เพื่ออะไร ประโยชน์สูงสุดคืออะไร
การทำงานวิจัยให้สำเร็จตามเป้าหมาย และระยะเวลาที่กำหนด อาจมีบางขั้นตอนที่พบปัญหา หรือติดขัดในกระบวนการดำเนินการ การศึกษาแนวทางการจัดการจากผู้รู้ที่ประสบความสำเร็จ หรือกัลยาณมิตรผู้มีประสบการณ์ จะช่วยทำให้เราแก้ไขปัญหาหรือข้อติดขัดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ผู้วิจัยเกิดการเรียนรู้ และเปิดมุมมองในการบริหารงานวิจัย ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น