Active Learning : แนวทางการบูรณาการการเรียนการสอนกับการสร้างเสริมสุขภาพ
องค์ความรู้ที่ได้จาการแลกเปลี่ยนความรู้และจากผลงานทางวิชาการ
โดย การนำแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์มาใช้ในการปฏิบัติ

อาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์

การศึกษา เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ, 2552) จากบทบัญญัติความหมายของการศึกษาในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ สามารถที่จะศึกษาและทำความเข้าใจได้ว่า สถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น ต้องมีการจัดการศึกษาที่มีการผสมผสานกันทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบเพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ ส่งเสริม ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ต่อไปในอนาคต
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ เป็นสถาบันการศึกษา ระดับอุดมศึกษา มีพันธกิจหลักคือการผลิตบัณฑิตพยาบาล เป็นพยาบาลวิชาชีพ เพื่อให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน การจัดการศึกษาด้านวิชาการจึงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และมีอัตลักษณ์บัณฑิตของวิทยาลัยฯ นับตั้งแต่ผู้เรียนหรือนักศึกษาพยาบาลเข้าสู่เส้นทางการศึกษาวิชาชีพการพยาบาล
ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษานับแต่เริ่มแรกหรือเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชาทางการพยาบาล หรือเรียกได้ว่า เป็นวิชาพื้นฐานทางการพยาบาล ดังนั้น สิ่งใดๆ ก็ตามถ้ามีฐานที่แข็งแรง เสมือนรากไม้ที่หยั่งลึกสร้างความมั่นคงให้แก่ลำต้นและกิ่งก้านสาขาได้ฉันใด วิชาพื้นฐานทางการพยาบาลก็เช่นเดียวกันย่อมมีความสำคัญในการที่สร้างนักศึกษาพยาบาลให้มีความรู้ความสามารถและเป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีคุณภาพทั้งทางด้านวิชาการ คุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพได้ฉันนั้น เมื่อข้อสรุปเป็นดังข้างต้น อาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล จึงได้ให้ความสำคัญในการออกแบบลักษณะการจัดการเรียนการสอน และได้นำแผนงาน/โครงการ การปฏิบัติราชการของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ นโยบายของกลุ่มงานวิชาการ และแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของกลุ่มงานวิจัย บริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มาเป็นแนวทางในการจัดการความรู้และการจัดการเรียนการการสอนแบบบูรณาการ 3 ด้านด้วยกันคือ ด้านการเรียนการสอนกับการสร้างเสริมสุขภาพ ด้านบริการวิชาการและด้านการวิจัย ในรายวิชา ปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาล เพื่อพัฒนานักศึกษาให้ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา โดยการจัดการศึกษาแบบเน้นพัฒนาการเรียนรู้ (Active Learning) ที่ผ่านกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ของอาจารย์ในภาควิชาฯ ซึ่งมีผลสรุปการสังเคราะห์ความรู้จากแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ อาทิ ผลงานวิจัย บทความและตำรา ได้ ดังนี้
การศึกษาแบบเน้นพัฒนาการเรียนรู้ (Active Learning)
จากการศึกษาแบบเน้นพัฒนาการเรียนรู้ (Active Learning) มีความหมายดังต่อไปนี้
Active Learning หมายถึง กระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือกระทำมากกว่าการฟัง การจัดกิจกรรมเป็นการจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการอ่าน การเขียน การโต้ตอบและการวิเคราะห์ปัญหา และการให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการประเมินค่า
Active Learning หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยการร่วมมือระหว่างผู้เรียน วิธีการสอนแบบบรรยายของผู้สอนจะลดลง และเพิ่มกระบวนการและกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการจะทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น และอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยการพูด การเขียน การอภิปราย

Active Learning หมายถึง กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยการลงมือกระทากิจกรรมที่หลากหลายและใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้กระทำ
สรุปความหมายของ Active learning คือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบเสริมสร้างกิจกรรมการเรียนรู้หรือใช้วิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติมากกว่าการฟังบรรยายจากผู้สอน ทั้งนี้ประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้จะสามารถพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินค่าในสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้

หลักการของการเรียนรู้แบบ Active Learning
1. ผู้สอนลดบทบาทในการสอนและการให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้เรียนโดยตรง แต่มุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้เรียน
2. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและท้าทาย เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและเกิดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม
3. จัดสภาพการเรียนรู้แบบร่วมมือ ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันและระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
4. พัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร และทักษะการคิดรูปแบบต่างๆ

หลักการของ active learning อธิบายว่า โดยทั่วไป ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้จากการอ่านร้อยละ 10 ร้อยละ 20 จากการได้ยิน ร้อยละ 30 จากการได้เห็น ร้อยละ 50 จากการได้เห็นและได้ยิน ร้อยละ 70 จากการที่ผู้เรียนสามารถพูดและเขียนสรุปได้ และร้อยละ 90 หากได้ลงมีปฏิบัติ ตามรูปภาพ

ภาพที่ 1 แสดงร้อยละของการเรียนรู้แบบ Passive Learning และ Active Learning อ้างอิงจาก http://mathsimulationtechnology.wordpress.com/2012/02/16/active-learning-passive-teaching/

จากผลร้อยละของรูปแบบการเรียนรู้ ทำให้มีการคิดและสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีการกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ยกตัวอย่างเช่น McKinney (2008) ได้เสนอรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้ดี ได้แก่
1. การเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนคิดเกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดคนเดียว 2-3 นาที (Think) จากนั้นให้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนอีกคน 3-5 นาที (Pair) และนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด (Share)
2. การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning group) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยจัดกลุ่มๆ ละ 3-6 คน
3. การเรียนรู้แบบทบทวนโดยผู้เรียน (Student-led review sessions) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้และพิจารณาข้อสงสัยต่าง ๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ โดยครูจะคอยช่วยเหลือกรณีที่มีปัญหา
4. การเรียนรู้แบบใช้เกม (Games) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนนำเกมเข้าบูรณาการในการเรียนการสอน ซึ่งใช้ได้ทั้งในขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน, การสอน, การมอบหมายงาน, และหรือขั้นการประเมินผล
5. การเรียนรู้แบบวิเคราะห์วีดีโอ (Analysis or reactions to videos) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ดูวีดีโอ 5-20 นาที แล้วให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น หรือสะท้อนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ดู อาจโดยวิธีการพูดโต้ตอบกัน การเขียน หรือ การร่วมกันสรุปเป็นรายกลุ่ม
6. การเรียนรู้แบบโต้วาที (Student debates) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อยืนยันแนวคิดของตนเองหรือกลุ่ม
7. การเรียนรู้แบบผู้เรียนสร้างแบบทดสอบ (Student generated exam questions) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างแบบทดสอบจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว
8. การเรียนรู้แบบกระบวนการวิจัย (Mini-research proposals or project) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่อิงกระบวนการวิจัย โดยให้ผู้เรียนกำหนดหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้, วางแผนการเรียน, เรียนรู้ตามแผน, สรุปความรู้หรือสร้างผลงาน, และสะท้อนความคิดในสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรืออาจเรียกว่าการสอนแบบโครงงาน(project-based learning) หรือ การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน(problem-based learning)
9. การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Analyze case studies) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้อ่านกรณีตัวอย่างที่ต้องการศึกษา จากนั้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือแนวทางแก้ปัญหาภายในกลุ่ม แล้วนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด
10. การเรียนรู้แบบการเขียนบันทึก (Keeping journals or logs) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเห็น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งเสนอความคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกที่เขียน
11. การเรียนรู้แบบการเขียนจดหมายข่าว (Write and produce a newsletter) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนร่วมกันผลิตจดหมายข่าว อันประกอบด้วย บทความ ข้อมูลสารสนเทศ ข่าวสาร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วแจกจ่ายไปยังบุคคลอื่นๆ
12. การเรียนรู้แบบแผนผังความคิด (Concept mapping) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนออกแบบแผนผังความคิด เพื่อนำเสนอความคิดรวบยอด และความเชื่อมโยงกันของกรอบความคิด โดยการใช้เส้นเป็นตัวเชื่อมโยง อาจจัดทำเป็นรายบุคคลหรืองานกลุ่ม แล้วนำเสนอผลงานต่อผู้เรียนอื่นๆ จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคนอื่นได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
จากการศึกษาและการสนทนาของอาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาล ได้มีการเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ตามแนวคิดของ McKinney (2008) มาใช้ในการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนรายวิชาปฏิบัติหลักการและเทคนิคการพยาบาล โดยใช้รูปแบบดังนี้
1. การเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share)
2. การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning group)
3. การเรียนรู้แบบทบทวนโดยผู้เรียน (Student-led review sessions)
5. การเรียนรู้แบบวิเคราะห์วีดีโอ (Analysis or reactions to videos)
8. การเรียนรู้แบบกระบวนการวิจัย (Mini-research proposals or project)
9. การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Analyze case studies)
12. การเรียนรู้แบบแผนผังความคิด (Concept mapping)
อย่างไรก็ตามในรูปแบบของ McKinney (2008) อาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการพยาบาลได้นำกระบวนการอื่นที่มีรูปแบบแนวคิดที่มีความคล้ายคลึงกันผสมผสานไปในรูปแบบของ McKinney ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ใช้กระบวนการเล่าประสบการณ์ (Story telling) และ การสะท้อนคิด (Reflective thinking) เข้าไปในรูปแบบที่ 1. การเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share) เป็นต้น
ผลการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้แบบ Active Learning พบว่ามีผลทั้งทางด้านบวกคือทำให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ สอดคล้องกับการศึกษาของสุภาพร กฤตยาพรนุพงศ์ (2550) เรื่อง ตัวแบบวิเคราะห์การถดถอยแบบ OLS และพหุคูณ แบบลำดับวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบ Active Learning ในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 64 คน พบว่า คุณภาพและปริมาณการเรียนของนักเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้ผลการเรียนรู้คณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น และ การศึกษาของ วรวรรณ เพชรอุไร เรื่อง ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้แบบแอคทีฟในรายวิชา อย.341 การแปรรูปยาง (Achievement of Teaching by Active Learning Method in RI 341 Rubber Processing) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ จำนวน 38 คน ผลการศึกษาสรุปว่า นักศึกษาที่เคยสอบไม่ผ่านการประเมินในภาคการศึกษาที่ 1/2554 มีผลการเรียนดีขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กล่าวคือสามารถสอบผ่านการการประเมินครั้งนี้ทุกคน และจากการประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาพบว่าการเรียนแบบ Activelearning โดยใช้กิจกรรมที่หลากหลายในการเรียนการสอน นักศึกษามีความพึงพอใจต่อกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี มีความกระตือรือร้น และมีความสนใจที่อยากจะร่วมกิจกรรมมากกว่าการสอนแบบบรรยายเพียงอย่างเดียว
จากรายงานผลการศึกษาของการนำรูปแบบ Active Learning ไปใช้ในการวิจัยและมีผลการศึกษาออกมาทางบวกนั้น ผลการศึกษาในบทความวิชาการมีการอภิปรายถึงข้อด้อยของการใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning ว่า ผู้ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการนำรูปแบบ Active Learning ไปใช้อย่างแท้จริง คิดว่า การลดบทบาทของการเป็นผู้สอนและปล่อยให้ผู้เรียนศึกษาอย่างอิสระ ผู้สอนเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกและบริหารจัดการหลักสูตร การที่มุ่งเน้นเฉพาะให้ผู้เรียนเกิดกระตือรือร้น ตื่นตัวในกิจกรรม อาจไม่ได้ทำให้ผู้เรียนเกิดการรู้คิดเสมอไป (R.E.Mayer,2004 อ้างในสุระ บรรจงจิต ,2551) ดังนั้นการเรียนรู้แบบ Active Learning แต่ผลลัพธ์การเรียนรู้ทำให้เกิดความจำระยะสั้น จะทำให้ผู้เรียนไม่สามารถจำหรือเก็บข้อมูลไว้ในสมองส่วนของความจำได้ไม่เกิน 7 ข้อมูล และข้อมูลระยะสั้นจะถูกลืมไปภายใน 30 วินาทีหากไม่มีการทบทวนซ้ำ ส่วนความจำระยะยาวนั้นที่อาจมีกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning มาก่อนเป็นพื้นฐานนั้น ทำให้เกิดแนวความคิดในการเรียนรู้แขนงใหม่ เรียกว่า Constructivist หรือการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ทางปัญญา (Construcionism) ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่สร้างข้อมูลใหม่ให้มีความจำระยะยาวด้วยการนำข้อมูลที่ได้รับจากกระบวนการของ Active Learning ที่ได้รับความจำระยะสั้นมาผสมผสานกับข้อมูลที่มีอยู่เดิม ดังนั้นผู้เรียนจะเป็นผู้สร้างความรู้ที่ได้รับมาใหม่มาประกอบกับประสบการณ์ที่เคยได้รับ
สาระความรู้ที่ได้จากการสนทนาจัดการความรู้ของอาจารย์ในภาควิชาฯ โดยการศึกษาองค์ความรู้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning จากแหล่งอ้างอิงทำให้เกิดแนวคิดในการเรียนรู้สู่การปฏิบัติด้วยการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนด้านการส่งเสริมสุขภาพ การบริการวิชาการและการวิจัยและการติดตามประเมินผลการนำรูปแบบไปใช้ต่อไป
อ้างอิง
ชานินท์ ศรียาภัย, นาวาตรี. ?การพัฒนาการศึกษาแบบ Active Learning ของสถาบันวิชาการทหารเรือ
ชั้นสูง?เอกสารวิจัยโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ, ๒๕๔๖.
ไชยยศ เรื่องสุวรรณ. Active Learning. สืบค้นจาก http://www.drchaiyot.com เมื่อ 25 กรกฎาคม
2552.
ประกิต รำพึงกุล, นาวาตรี. ?การจัดการศึกษาแบบ Active Learning สำหรับโรงเรียนนายเรือ?, เอกสารวิจัย
โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ, ๒๕๔๘.
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๓.
วรวรรณ เพชรอุไร.รายงานการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน/การวิจัยในชั้นเรียนเรื่อง ผลสัมฤทธิ์จากการ
เรียนรู้แบบแอคทีฟในรายวิชา อย.341 การแปรรูปยาง.สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะ
วิศวะกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้.๒๕๕๕
สุภาพร กฤตยากรนุพงศ์.ตัวแบบการถดถอยแบบ OLS และแบบพหุคูณ แบบลำดับในการวิเคราะห์ปัจจัยที่มี
ผลต่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบActive Learning.ปริญญานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขา
คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศิลปกร.๒๕๕๑.
สุระ บรรจงจิตร. วารสารนายเรือ.?Active Learning: ดาบสองคม?,ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑มกราคม-มีนาคม
๒๕๕๑, หน้า๓๕-๔๑.
C.C. Bonwell, J.A. Eison, ?Active Learning: Creating Excitement in the Classroom.? ERIC Digest.Washington D.C.: ERIC Clearinghouse on Higher Education, 1991.
P.A. Kirschner, J. Sweller, R.E. Clark, ?Why Minimal Guidance During Instruction Does Not
Work: An Analysis of the Failure of Constructivist, Discovery, Problem-Based,
McKinney,K. Sociology Through Active Learning. Pine Forge Pr, 2008. San Francisco : Jossey-
Bass, 1993.