การสังเคราะห์งานวิจัย

เรื่อง

มุมมองและประสบการณ์ของนักศึกษาพยาบาลต่อรูปแบบการเรียนการสอนด้วยวิธีการเรียนรู้แบบโครงการในรายวิชาการพยาบาลมารดา ทารก

และการผดุงครรภ์ 1

โดย

อ.ดร.วรรณวดี เนียมสกุลและคณะ

จากการสังเคราะห์งานวิจัย เรื่อง ?มุมมองและประสบการณ์ของนักศึกษาพยาบาลต่อรูปแบบการเรียนการสอนด้วยวิธีการเรียนรู้แบบโครงการในรายวิชาการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ 1 โดย นางสาว วรรณวดี? เนียมสกุลและคณะ นับว่าเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาการเรียนการสอนและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่แสดงถึงความรู้ความสามารถของคนสมัยก่อนที่ถ่ายทอดคุณค่าของความเป็นไทยสู่ลูกหลานทั้งด้านประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรมอันดีงามที่เกิดคุณค่าต่อชีวิตและสุขภาพ การให้นักศึกษาพยาบาลได้ค้นคว้าความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพของมารดาและทารกตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอดและระยะหลังคลอด จะทำให้นักศึกษาได้ตระหนักและซาบซึ้งถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยและสามารถผสมผสานให้การดูแลแก่ผู้มารับบริการได้อย่างลงตัวเหมาะสมตลอดจนเกิดความภูมิใจในตนเองที่สามารถให้การดูแลผู้มารับบริการที่คำนึงถึงกายจิตสังคมอย่างครบถ้วนภายใต้ความสอดคล้องกับบริบทไทยที่มีความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน

การศึกษามุมมองและประสบการณ์ของนักศึกษาพยาบาลต่อรูปแบบการเรียนการสอนด้วยวิธิการเรียนรู้แบบโครงการในรายวิชาการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ 1 นับว่าเป็นประโยชน์เนื่องจากกลุ่มนักศึกษาพยาบาลกลุ่มนี้เป็นนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่สามที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะเชิงวิชาชีพ ได้แก่ การทำงานเป็นทีม การวางแผน การค้นคว้าจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย การตัดสินใจ การคิดเชิงวิเคราะห์ การสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้แบบโครงการจะเป็นการช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

สำหรับการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenological study) มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจต่อมุมมองและประสบการณ์ต่อรูปแบบการเรียนการสอนด้วยวิธีการเรียนรู้แบบโครงการในการบริการวิชาการที่บูรณาการการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับการเรียนการสอนในรายวิชาการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ ๑ ของนักศึกษาพยาบาล ชั้นปีที่ ๓ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ คัดเลือกนักศึกษาผู้ให้ข้อมูลจำนวน ๑๒ คนแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ นักศึกษาตัวแทนแต่ละกลุ่มจำนวน ๗ กลุ่ม ๆ ละ ๑ คน โดยในแต่ละกลุ่มคัดเลือกผู้ที่เป็นหัวหน้าโครงการ ๑ คน และสมาชิก ๑ คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ (Interview guide) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือแบบสัมภาษณ์เชิงลึก ที่มีแนวคำถามสำหรับการทำอภิปรายกลุ่มจำนวน ๖ ข้อ ผู้วิจัยนำเครื่องมือที่ได้เสนอต่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๓ ท่านและปรับแก้ตามข้อเสนอแนะ การรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ ดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการทำอภิปรายกลุ่ม (focus group) กับนักศึกษาพยาบาลผู้ให้ข้อมูลโดยใช้แนวคำถามที่เตรียมไว้ การทำอภิปรายกลุ่มทำการบันทึกเทปและถอดเทปคำต่อคำ จัดทำเป็นบทสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการวิเคราะห์แก่นเนื้อหา (Thematic analysis)

ซึ่งผลจากการวิจัยสามารถตอบวัตถุประสงค์การวิจัยดังนี้

นักศึกษาได้จัดทำโครงการและดำเนินการจำนวนทั้งสิ้น ๑๒ โครงการ ได้แก่ น้ำสมุนไพรตามธาตุเจ้าเรือนบำรุงครรภ์ สร้างเสริมสุขภาพด้วยโยคะประกอบเพลงพื้นเมือง ยำผักกูดเสริมธาตุเหล็กในหญิงตั้งครรภ์ นวดเท้าคลายเจ็บครรภ์ด้วยกลิ่นน้ำมันลาเวนเดอร์ น้ำมันหอมระเหยกลิ่นมะกรูดนวดบรรเทาปวดมารดาระยะคลอด ลูกกลิ้งบรรเทาปวดถุงนวดสมุนไพร เมี่ยงคำสมุนไพรบำรุงร่างกายคุณแม่หลังคลอด ลูกประคบสมุนไพรกระตุ้นการไหลของน้ำนม หญิงหลังคลอดน้ำนมดีด้วยหัวปลีลุยสวนและลูกประคบสมุนไพรคลายปวดหญิงตั้งครรภ์ในระยะคลอด โดยโครงการทั้งหมดครอบคลุมมิติทางการพยาบาลทั้งสี่ด้านตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอดและระยะหลังคลอด ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟูสภาพ อาทิเช่น โครงการยำผักกูดเสริมธาตุเหล็กในหญิงตั้งครรภ์ ช่วยส่งเสริมสุขภาพแก่หญิงตั้งครรภ์ให้มีภาวะโภชนาการที่ดี และป้องกันโรคโลหิตจาง ทำให้สุขภาพทั้งมารดาและทารกในครรภ์แข็งแรง? โครงการสร้างเสริมสุขภาพด้วยโยคะประกอบเพลงพื้นเมือง ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั้งขณะตั้งครรภ์ ระยะคลอดและระยะหลังคลอด เป็นต้น

จากการอภิปรายกลุ่ม (focus group) นักศึกษาที่ผ่านประสบการณ์ในการบริการวิชาการที่บูรณาการการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับการเรียนการสอนในรายวิชาการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ ๑ การศึกษาโครงการ พบว่านักศึกษามีมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับการบริการวิชาการที่บูรณาการงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับการเรียนการสอนด้วยวิธีการเรียนรู้แบบโครงการ แบ่งได้เป็นแก่นเนื้อหาหลัก (major themes) ๓ ประการได้แก่ ๑) ความรู้สึกที่มีต่อวิธีเรียนรู้แบบโครงการ ๒) ?สมรรถนะหลากหลายที่ได้จากโครงการ และ? ๓) ความตระหนักถึงความสำเร็จและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในโครงการ

จากผลการสังเคราะห์การวิจัยครั้งนี้ จะพบว่าการเรียนการสอนที่มอบหมายให้นักศึกษาจัดทำโครงการที่ผสมผสานวิถีไทย ภูมิปัญญาไทยเข้ากับรายวิชาการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ ๑ โดยให้นักศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม ออกแบบ เขียนโครงการด้วยความร่วมมือของกลุ่ม ทำให้นักศึกษาได้พัฒนาผลการเรียนรู้ที่มุ่งหวังตามรายวิชาทั้ง ๖ ประการได้แก่ คุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ทักษะทางปัญญา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและทักษะการปฏิบัติทางวิชาชีพ? ดังจะเห็นได้จากผลวิจัยที่พบว่านักศึกษามีความรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทที่ได้รับผิดชอบในกลุ่ม เช่น การเป็นหัวหน้ากลุ่ม การเป็นสมาชิกกลุ่ม มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ มีความเอื้ออาทร ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้จากค้นคว้าโดยใช้เทคโนโลยี และสามารถถ่ายทอดความรู้อย่างมั่นใจ มีการบริหารงบประมาณ และสร้างสัมพันธภาพกับผู้มารับบริการจนบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ เมื่อนักศึกษามีความรู้ และได้ฝึกทักษะการถ่ายทอดความรู้ผ่านการบริการวิชาการที่บูรณาการกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น การได้ฝึกทักษะการถ่ายทอดความรู้ที่ผสมผสานภูมิปัญญาไทยแก่สตรีที่มารับบริการที่แผนกสูติกรรม โดยออกแบบกิจกรรมในแต่ละซุ้มอย่างสอดคล้องกับวิถีไทย ทำให้นักศึกษาเกิดสมรรถนะทางวัฒนธรรมที่จะเข้าใจถึงความหลากหลายของสตรีที่มารับบริการแม้จะอาศัยอยู่ในจังหวัดเดียวกัน?? เมื่อขึ้นไปฝึกปฏิบัติบนตึกผู้ป่วยทำให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างมั่นใจและเหมาะสมกับผู้มารับบริการที่มีความต่างทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

คุณประโยชน์ที่ได้จากการศึกษามุมมองและประสบการณ์ของนักศึกษาในการบริการวิชาการที่บูรณาการงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับการเรียนการสอนด้วยวิธีการเรียนรู้แบบโครงการรายวิชาการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ 1 สามารถนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการกับการบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมได้ ทั้งนี้ผู้สอนควรมีการวางแผนด้านงบประมาณเพื่อให้การจัดทำโครงการบูรณาการบริการวิชาการกับการเรียนการสอนและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมสามารถดำเนินไปด้วยดี ทั้งนี้เพื่อสร้างเสริมผลการเรียนรู้แก่นักศึกษาพยาบาลให้ครบถ้วนตามหลักสูตรหรือรายวิชา