รายงานการประชุมการจัดการองค์ความรู้เรื่อง ?แนวทางปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning”
รายงานการประชุมการจัดการองค์ความรู้เรื่อง ?แนวทางปฏิบัติการจัดการเรียนการสอน
แบบ Active Learning?
วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๐๐ ? ๑๖.๐๐ น.
ณ ห้อง ๓๒๔ ภาควิชาการพยาบาลอนามัยชุมชนและจิตเวช
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม
๑. นางสาววิไลวรรณ บุญเรือง หัวหน้าภาควิชาฯ
๒. นางวิมล อ่อนเส็ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๓. นางประภาพร มโนรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๔. นางสาวดุจเดือน เขียวเหลือง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๕. นายอดุลย์ วุฒิจูรีพันธุ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๖. นางอัญชรี รัตนเสถียร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๗. นายบุญฤทธิ์ ประสิทธินราพันธุ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๘. นางสาวจิระภา สุมาลี พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
๙. นายอิทธิพล แก้วฟอง พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
ผู้เข้าร่วมประชุมคิดเป็นร้อยละ ๑๐๐
ประธานที่ประชุม นางสาววิไลวรรณ บุญเรือง
เปิดประชุมเวลา ๑๓.๐๐ น.
ระเบียบวาระที่ ๑ เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
- แจ้งเรื่อง การนำความรู้ที่ได้รับจากการจัดการความรู้ เกี่ยวกับ การบูรณาการแนวคิดการให้บริการส่งเสริมสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์มาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดย อ.อิทธิพล แก้วฟอง ดังนี้
อ.อิทธิพล แจ้งว่าได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยทำการจัดการองค์ความรู้เรื่อง การบูรณาการแนวคิดการให้บริการส่งเสริมสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ โดยนำแนวปฏิบัติมาใช้ในรายวิชาการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วยในบทที่ ๘ เรื่อง การใช้ทรัพยากร เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการส่งเสริมสุขภาพ สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ ๒ โดย อ.อิทธิพล ได้ดำเนินการดังนี้
๑) ทบทวนทักษะการดูแลบุคคลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์โดยเน้นการสร้างเสริมสุขภาพด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่นักศึกษา โดยบรรยายถึง บทบาทพยาบาลในชุมชนที่ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานในการเข้าใจวิถีชีวิตตามความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นของลีลาชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นความเข้าใจภูมิปัญญาหรือวิถีชีวิตด้านการส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นกระบวนการหนึ่งของการให้กิจกรรมทางการพยาบาลในชุมชนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ
๒) จัดการการเรียนการสอนตามแผนการสอนดังนี้ โดยมอบหมายให้นักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตด้านการส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ของอำเภอต่างๆ ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามบริบทที่ตนเองศึกษา ซึ่งการแบ่งพื้นที่ได้แบ่งตามวัฒนธรรมและความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน
๓) สรุป ประเมินผล และถอดบทเรียน
จากการดำเนินการจัดการเรียนการสอนพบว่าหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ตัวผู้เรียนได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนมากขึ้น พร้อมทั้งมีแนวทางในการปรับประยุกต์ใช้ทรัพยากร เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับประยุกต์ในการให้การพยาบาลกลุ่มคน ครอบครัว และชุมชนบนพื้นฐานของความเข้าใจความเป็นมนุษย์ โดยนักศึกษาได้ถ่ายทอดผลการศึกษาผ่านวีดีทัศน์ในการสัมภาษณ์วิถีชีวิตของคนในชุมชนและบันทึกการเรียนรู้ที่ได้รับจากการศึกษา
๔) นำผลการจัดการเรียนการสอนที่ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งต่อไป
หากต้องการมีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ควรมีการกำหนดขอบเขตเนื้อหาในการศึกษาให้ชัดเจน พร้อมทั้งประสานงานพื้นที่ให้รับทราบก่อนที่นักศึกษาจะลงศึกษา
- ประธานแจ้งว่า จากการประชุมของคณะกรรมการบริหาร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ ได้กำหนดหัวข้อในการจัดการองค์ความรู้(KM) ของวิทยาลัยฯ ในหัวข้อ แนวทางปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning และเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ ในการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธี Active Learning และขอความร่วมมือให้อาจารย์แต่ละท่านช่วยเล่าประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อรวบรวมวิธีการสอน กระบวนการสอน ผลการสอน ข้อดี และข้อจำกัดในการสอนแต่ละวิธี และเพื่อให้เกิดการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่มีประสิทธิภาพแก่นักศึกษา
จึงแจ้งที่ประชุมทราบ
มติที่ประชุม รับทราบ
ระเบียบวาระที่ ๒ รับรองรายงานการประชุม
ไม่มี
ระเบียบวาระที่ ๓ เรื่องเพื่อพิจารณา
จากประธานแจ้งเรื่องหัวข้อการจัดการองค์ความรู้ เรื่อง แนวทางปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning และให้อาจารย์ในภาควิชาฯ เล่าประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อรวบรวมวิธีการสอน กระบวนการสอน ผลการสอน ข้อดี และข้อจำกัดในการสอนแต่ละวิธี และเพื่อให้เกิดการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่มีประสิทธิภาพ แก่นักศึกษา
๑. จากการทบทวนความรู้เรื่อง AL พบว่า “AL เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยการร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ในการนี้ ครูต้องลดบทบาทในการสอนและการให้ข้อความรู้แก่ผู้เรียนโดยตรงลง แต่ไปเพิ่มกระบวนการและกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการจะทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น และอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยการพูด การเขียน การอภิปรายกับเพื่อนๆ”
๒. รูปแบบของ AL การจัดการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งสามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับ ทั้งการเรียนรู้เป็นรายบุคคล, การเรียนรู้แบบกลุ่มเล็ก และการเรียนรู้แบบกลุ่มใหญ่ McKinney (๒๐๐๘) ได้เสนอรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้ดี ได้แก่
๑) การเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนคิดเกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดคนเดียว ๒-๓ นาที (Think) จากนั้นให้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนอีกคน ๓-๕ นาที (Pair) และนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด (Share)
๒) การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning group) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยจัดกลุ่มๆ ละ ๓-๖ คน
๓) การเรียนรู้แบบทบทวนโดยผู้เรียน (Student-led review sessions) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้และพิจารณาข้อสงสัยต่างๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ โดยครูจะคอยช่วยเหลือกรณีที่มีปัญหา
๔) การเรียนรู้แบบใช้เกม (Games) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนนำเกมเข้าบูรณาการในการเรียนการสอน ซึ่งใช้ได้ทั้งในขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน, การสอน, การมอบหมายงาน และหรือขั้นการประเมินผล
๕) การเรียนรู้แบบวิเคราะห์วิดีโอ (Analysis or reactions to videos) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ดูวิดีโอ ๕-๒๐ นาที แล้วให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น หรือสะท้อนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ดู อาจโดยวิธีการพูดโต้ตอบกัน การเขียน หรือ การร่วมกันสรุปเป็นรายกลุ่ม
๖) การเรียนรู้แบบโต้วาที (Student debates) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อยืนยันแนวคิดของตนเองหรือกลุ่ม
๗) การเรียนรู้แบบผู้เรียนสร้างแบบทดสอบ (Student generated exam questions) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างแบบทดสอบจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว
๘) การเรียนรู้แบบกระบวนการวิจัย (Mini-research proposals or project) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่อิงกระบวนการวิจัย โดยให้ผู้เรียนกำหนดหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้, วางแผนการเรียน, เรียนรู้ตามแผน, สรุปความรู้หรือสร้างผลงาน และสะท้อนความคิดในสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรืออาจเรียกว่าการสอนแบบโครงงาน(project-based learning) หรือ การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning)
๙) การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Analyze case studies) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้อ่านกรณีตัวอย่างที่ต้องการศึกษา จากนั้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือแนวทางแก้ปัญหาภายในกลุ่ม แล้วนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด
๑๐) การเรียนรู้แบบการเขียนบันทึก (Keeping journals or logs) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเห็น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งเสนอความคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกที่เขียน
๑๑) การเรียนรู้แบบการเขียนจดหมายข่าว (Write and produce a newsletter) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนร่วมกันผลิตจดหมายข่าว อันประกอบด้วย บทความ ข้อมูลสารสนเทศ ข่าวสาร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วแจกจ่ายไปยังบุคคลอื่นๆ
๑๒) การเรียนรู้แบบแผนผังความคิด (Concept mapping) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนออกแบบแผนผังความคิด เพื่อนำเสนอความคิดรวบยอด และความเชื่อมโยงกันของกรอบความคิด โดยการใช้เส้นเป็นตัวเชื่อมโยง อาจจัดทำเป็นรายบุคคลหรืองานกลุ่ม แล้วนำเสนอผลงานต่อผู้เรียนอื่นๆ จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคนอื่นได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ลักษณะของ Active Learning
ไชยยศ เรืองสุวรรณ (มปป.) ได้อธิบายถึงลักษณะสำคัญของการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ดังนี้
๑) เป็นการเรียนการสอนที่พัฒนาศักยภาพทางสมอง ได้แก่ การคิด การแก้ปัญหา การแก้ปัญหาและการนําความรู้ไปประยุกต์ใช้
๒) เป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้สูงสุด
๓) ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้และจัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
๔) ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ การสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน และร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขัน
๕) ผู้เรียนได้เรียนรู้ความรับผิดชอบร่วมกัน การมีวินัยในการทํางาน และการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
๖) เป็นกระบวนการสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนอ่าน พูด ฟัง คิดอย่างลุ่มลึก ผู้เรียนจะเป็นผู้จัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
๗) เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนเน้นทักษะการคิดขั้นสูง
๘) เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนบูรณาการข้อมูล, ข่าวสาร, สารสนเทศ และหลักการสู่การสร้างความคิดรวบยอดความคิดรวบยอด
๙) ผู้สอนจะเป็นผู้อํานวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง
๑๐) ความรู้เกิดจากประสบการณ์ การสร้างองค์ความรู้ และการสรุปทบทวนของผู้เรียน
บทบาทของครู กับ Active Learning
ณัชนัน แก้วชัยเจริญกิจ (๒๕๕๐) ได้กล่าวถึงบทบาทของครูผู้สอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางของ Active Learning ดังนี้
๑) จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน กิจกรรมต้องสะท้อนความต้องการในการพัฒนาผู้เรียนและเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงของผู้เรียน
๒) สร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วม และการเจรจาโต้ตอบที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สอนและเพื่อนในชั้นเรียน
๓) จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เป็นพลวัต ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมรวมทั้งกระตุ้นให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้
๔) จัดสภาพการเรียนรู้แบบร่วมมือ ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือในกลุ่มผู้เรียน
๕) จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ท้าทาย และให้โอกาสผู้เรียนได้รับวิธีการสอนที่หลากหลาย
๖) วางแผนเกี่ยวกับเวลาในจัดการเรียนการสอนอย่างชัดเจน ทั้งในส่วนของเนื้อหา และกิจกรรม
๗) ครูผู้สอนต้องใจกว้าง ยอมรับในความสามารถในการแสดงออก และความคิดของที่ผู้เรียน
การเตรียมตัวด้านผู้เรียน
นอกจากจะต้องพาตัวเองหรือบังคับตัวเองให้ไปเข้าชั้นเรียนแล้ว สิ่งที่จะก่อให้เกิดบรรยากาศของ AL ได้ ผู้เรียนก็จะต้องเตรียมตัวในเรื่องต่อไปนี้ คือ
อ่านบทเรียนและหรือทำการบ้านที่ได้รับมอบหมายมาล่วงหน้า
ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว
เตรียมใจที่จะเรียนอย่างสนใจ
เตรียมกายให้พร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ
ขณะเรียน สิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศ AL ได้นั้น ผู้เรียนจะต้องไม่ออกไปนอกห้องบ่อย พยายามนั่งแถวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับเด็กโตๆ ที่มีโอกาสได้เลือกที่นั่งเอง และมักจะไม่เลือกนั่งแถวหน้า นอกจากนี้ ต้องพยายามเป็นผู้ฟังที่ Active คือ ตื่นตัวตลอดเวลาว่าใครพูดอะไร ไม่ว่าจะเป็นครูหรือเพื่อนร่วมชั้น และต้องมีส่วนร่วมในการสนองตอบต่อการพูดคุยนั้น และสุดท้ายต้องจดบันทึกสม่ำเสมอ
๓. อ.ดร.ประภาพร สอนแบบ Didactic Strategic เป็นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยครูเป็นผู้ออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการสอน เน้นให้เกิดการเรียนรู้จากกระบวนการคิดวิเคราะห์ สรุปองค์ความรู้ได้เอง ใช้สอนนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ ๒ วิชาการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วย ในบทที่ ๙ เรื่อง สถานบริการสุขภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่จัดบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน ๔ ชั่วโมง ใช้วิธีการสอน เริ่มเข้าสู่เนื้อหาโดยใช้วีดีโอ เนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์จริง พบว่า นักศึกษามีความตื่นตัว สนใจในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ ให้นักศึกษาได้ดูวีดีทัศน์ ๒๐ นาที เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพที่เชื่อมโยงกับ รพ.สต. จากนั้นให้แบ่งกลุ่มอภิปรายร่วมกัน ๒๐ นาที โดยให้ประเด็นคำถาม เหตุเกิดที่ไหน มีใครเกี่ยวข้องบ้าง เกิดผลดีอย่างไร มีความแตกต่างอย่างระหว่างสถานบริการในและนอก มีอาจารย์พิเศษจากสถานบริการร่วมบรรยาย โดยให้นักศึกษาแบ่งเป็นนายสถานี ให้นายสถานีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่รับผิดชอบ สรุปผลการแลกเปลี่ยนลงใน Flip Chart และอาจารย์สรุป Concept หลัก ๑๕ นาที ซึ่งวิธีการสอนแบบนี้สามารถแก้ปัญหาเรื่อง การสอนในกลุ่มใหญ่ได้ สำหรับข้อเสนอแนะในการจัดการเรียนการสอนแบบนี้คือ ควรมีการจัดการเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำกิจกรรมให้พร้อม เช่น บอร์ด กระดาษFlip Chart เก้าอี้ เป็นต้น ตัวผู้สอนต้องเตรียมตัวให้พร้อม
๔. อ.วิมล สอนโดยให้นักศึกษาออกแบบผังความคิด (Concept Mapping) เป็นรายบุคคลในหัวข้อ การบริหารหอผู้ป่วย บทที่ ๖ วิชาบริหารการพยาบาล ให้นักศึกษานำเสนอความคิดรวบยอดและเชื่อมโยงกับกรอบความคิดในการใช้ เป็นตัวเชื่อมโยงและสุ่มนำเสนอหน้าชั้นเรียน ๒ คน และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามแสดงความคิดเห็น ครูบรรยายสรุป การบริหารหอผู้ป่วย การสอนรูปแบบนี้พบว่า นักศึกษาบอกว่าดี ทำให้มีความเข้าใจภาพรวมการบริหารหอผู้ป่วยได้มากขึ้น การสอนวิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาให้นักศึกษาเข้าใจรูปแบบการบริหารหอผู้ป่วยในเชิงรูปธรรมมากขึ้น
๕. อ.วิไลวรรณ จัดการเรียนการสอนโดยใช้กรณีศึกษาในรายวิชา ปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยใช้กรณีศึกษาที่พบแล้วเขียน Concept Mapping ของวิธีการรักษาพยาบาล มาประชุมปรึกษาทางการพยาบาลในกลุ่มย่อย ๗-๘ คน พบว่า นักศึกษาสนใจดี จำได้ดี เนื่องจากประสบการณ์ตรงกับตนเองและเป็นประสบการณ์จริง, กระตือรือร้นกับผู้ป่วย, เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน
๖. อ.บุญฤทธิ์ ใช้วิธีการสอน แบบ การแลกเปลี่ยนความคิด(Think-Pair-Share) ในรายวิชาสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ ๒ โดยมีการบรรยาย หลักทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ และยกตัวอย่างcase หลังจากนั้นให้นักศึกษาฝึกจับคู่ และวิเคราะห์พฤติกรรมสุขภาพสร้างเสริมสุขภาพของเพื่อนที่ควรทำอย่างน้อย ๑ เรื่อง และออกแบบกิจกรรมการพยาบาลโดยให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ร่วมออกแบบกิจกรรมผู้ถูกสัมภาษณ์ หลังจากสอน นักศึกษามีความตื่นตัว ในการเรียนการสอน รู้จักวิธีในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับบริการ เข้าใจว่าเพื่อนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ต้องปรับปรุงและมีการวางแผนดูแลสุขภาพร่วมกัน ช่วยให้เข้าใจทฤษฎีการสร้างเสริมสุขภาพที่เป็นนามธรรมมากขึ้น
๗. อ.จิระภา ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบ LT(Learning Together) ในรายวิชา ทักษะชีวิต (พยบ.๑) บทที่ ๒ เรื่องการพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก หัวข้อเรื่อง มารยาทไทยและมารยาททางสังคม เนื่องจากผู้สอนคิดว่าเนื้อหามีค่อนข้างมาก และจากประสบการณ์สอนใน ๒ ปีที่ผ่านมา พบว่าเนื้อหามีมากกว่าชั่วโมงที่มีการจัดการเรียนการสอนจริง และเพื่อเป็นการกระตุ้นผู้เรียนให้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น จึงใช้วิธีการ LT ซึ่งผู้สอนได้เตรียมวีดีโอที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเรื่อง มารยาทไทย และมารยาทสังคม ซึ่งเป็นวิดีโอของรายการสุภาพบุรุษจุฑาเทพของช่อง ๓ เปิดให้กับผู้เรียนดูและมอบหมายให้ผู้เรียนแต่ละคนจดบันทึก เป็นบันทึกความรู้รายบุคคลจากนั้นให้ผู้เรียนเข้ากลุ่มๆละ ๔-๕ คน เล่าถึงบันทึกความรู้ให้กับเพื่อนสมาชิกในกลุ่มฟัง จึงเป็นการทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันให้เวลา ๒๐ นาที จากนั้นให้ทำแบบทดสอบเพื่อเป็นการประเมินผลการเรียนรู้จากนั้นผู้สอนเฉลยคำตอบและสรุปประเด็นสำคัญให้ผู้เรียน แล้วมีรางวัลให้กับกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุดเพื่อเป็นแรงจูงใจ ซึ่งคะแนนส่วนใหญ่อยู่ที่ ๖๐-๑๐๐ % ซึ่งทำให้ผู้สอนทราบว่าการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและให้ฝึกคิดวิเคราะห์กันเองทำให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหามากขึ้นภายในเวลาที่จำกัด(ชั่วโมงการเรียนการสอน) ซึ่งเปรียบเทียบจากผลการสอบรายบทจาก ๒ ปีที่ผ่านมาพบว่ามีความก้าวหน้า ข้อดี คือ ผู้สอนสามารถใช้เวลาในการสอนได้เพียงพอกับลักษณะเนื้อหาที่มีมาก ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้น ฝึกการคิดวิเคราะห์ ข้อเสียคือ ไม่สามารถวัดเป็นรายบุคคลได้
๘. อ.ดุจเดือน ได้นำผลจากการวิจัย ?การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบการสะท้อนคิด เพื่อสร้างเสริมความสามารถในการตัดสินใจเชิงจริยธรรมทางการพยาบาลสำหรับนักศึกษาพยาบาล? มาใช้พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นนี้ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการตัดสินใจเชิงจริยธรรมทางการพยาบาลซึ่งมีองค์ประกอบ ๗ ขั้นตอนคือ ๑) อธิบายสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น ๒) อธิบายความรู้สึกต่อสถานการณ์ ๓) บอกแนวคิด/หลักการ/ความเชื่อที่สนับสนุนการกระทำ ๔) เปิดใจรับฟังความคิดเห็น/ทางเลือกที่หลากหลาย ๕) จัดลำดับความคิด/หาข้อสรุปร่วมอย่างเป็นเหตุเป็นผล ๖) นำข้อสรุปไปปฏิบัติ ๗) สะท้อนคิดการเรียนรู้/ประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนนี้ ทำให้นักศึกษาพยาบาลเกิดพฤติกรรมการสะท้อนคิด ข้อจำกัดของการเรียนการสอนรูปแบบนี้คือ นักศึกษาต้องไม่เกินกลุ่มละ ๘-๑๐ คน และควรจัดสถานการณ์ ๑ เรื่องต่อ ๑ กลุ่ม อ.บุญฤทธิ์ เพิ่มเติมสิ่งที่ต้องวิเคราะห์ในกรณีศึกษา คือ what is informatics, patient centered acre, teamwork and collaboration, quality improvement, evidence based practice and safetyเพื่อให้นักศึกษาเกิดมุมมองในประเด็นต่างๆ
๙. อ.อิทธิพล ใช้วิธีการการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ในรายวิชาการพยาบาลครอบครัวและชุมชน ๑ ในหัวข้อ การพยาบาลอาชีวอนามัย โดยใช้เทคนิค คือ การเรียนรู้แบบวิเคราะห์วีดีโอ (Analysis or reactions to video) เช่น ให้นักศึกษาชมวีดีทัศน์ ?เหตุการณ์ก๊าซรั่ว ในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง?ทั้ง ๔ กลุ่ม สะท้อนความคิดตามบทบาทสมมุติของตนเองในการแก้ไขปัญหาตามเหตุการณ์ก๊าซรั่ว การแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share) เช่น นักศึกษาร่วมกันวิเคราะห์ในฐานะพยาบาลอาชีวอนามัยเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพตามสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ,แรงงานในสถานประกอบการและประชาชน พร้อมยกตัวอย่างโครงการ/กิจกรรมแก้ไขปัญหาระยะสั้น/ระยะยาว การเรียนรู้จากกรณีศึกษาโดยผ่านการแสดงบทบาทสมมติ (Analysis case studies) และสรุปรวบยอดแบบแผนผังความคิด เช่น ใบงานวิเคราะห์สถานการณ์ตามบทบาทสมมุติที่นักศึกษาได้รับ นักศึกษาสร้าง Mind Mapping เรื่อง ความรู้เรื่องการพยาบาลอาชีวอนามัยของชั้นเรียนโดยผ่านกระบวนการดอกไม้ความคิด ซึ่งวิธีการนี้สามารถทำให้นักศึกษาเข้าใจในเนื้อหาและสามารถมองเห็นภาพที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งดีกว่าการสอนแบบบรรยายเพียงอย่างเดียว กล่าวโดยสรุปเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการจัดการเรียนการสอน คือ CIP-3P ประกอบไปด้วย C- Construction of the new knowledge คือการสร้างความรู้ในสิ่งที่นักเรียนอยากทราบ หรือเกิดการตั้งคำถาม I- Interaction การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียน p- Process of learning คือ กระบวนการเรียนรู้ และกลับมาสู่ 3P ที่ประกอบไปด้วย presentation จะเน้นจากอธิบายเสริมจากครู, practice ทำแบบฝึกหัดอย่างเข้าใจ และ production เป็นการสร้างชิ้นงานที่แสดงความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนมา
๑๐. อ.อดุลย์ ใช้ในรายวิชาการประเมินสุขภาพ(ภาคทดลอง) ปัจจัยที่ผ่านมา การสอนเรื่อง การอภิปรายผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ใช้การเรียนรู้ โดยการมอบหมายไปค้นคว้า แล้วนำมานำเสนอในกลุ่มย่อย ซึ่งความรู้ส่วนใหญ่นักศึกษานำมาจากตำรา ทำให้บรรยากาศการเรียนน่าเบื่อ ทั้งผู้สอนและผู้เรียน แนวทางแก้ไขในปีที่ผ่านมาได้มอบหมายให้นักศึกษาไปศึกษาจาก กรณีศึกษาจริงบนหอผู้ป่วย ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และดูผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แล้วนำผลการศึกษามาอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มย่อยผลพบว่า นักศึกษามีการวิเคราะห์อภิปรายผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยใช้ข้อมูลทางทฤษฎี ข้อมูลจากการซักประวัติ และข้อมูลจากการตรวจร่างกายประกอบ ทำให้มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่น่าสนใจ นำไปใช้ในการปฏิบัติจริงได้ และเป็นการทบทวนความรู้เดิมจากการสาธิตย้อนกลับในการตรวจร่างกายได้ชัดเจนขึ้น
๑๑. อ.อัญชรี การเรียนการสอนในรายวิชาทักษะชีวิต ในส่วนภาคทดลองมีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมรายบุคคล และการเรียนรู้เป็นกลุ่มเล็ก รวมถึงการเรียนรู้เป็นกลุ่มใหญ่ เช่น เกม ศึกษาจากกรณีศึกษา แก้ปัญหาเป็นกลุ่ม อภิปรายกลุ่มใหญ่ ทำให้นักศึกษาสนใจ ข้อเสนอแนะคือ จำนวนคนในกลุ่มไม่ควรเกิน ๑๒ คน เพราะทำให้กระตุ้นผู้เรียนไม่ทั่วถึง
ประเด็นที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การจัดการเรียนแบบ AL พบว่ามีหลายรูปแบบแล้วแต่จะเลือกตามความสมในบริบทของแต่ละบุคคล ส่วนในเรื่องการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบ่งเป็น ๒ ส่วนดังนี้ดังนี้
๑. บทบาทของครู
- การเตรียมตัวให้พร้อมที่จะสอนหรือศึกษาขอบเขตและกรอบในการทำงาน
- ศึกษาผู้เรียน วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง
- จัดระบบการเรียนการสอน ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด
- สร้างความเข้าใจรูปแบบการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน
- เตรียมความพร้อมทรัพยากร สื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่สนับสนุนการเรียนรู้
- ดำเนินการพัฒนาผู้เรียนและพัฒนางาน
- ประเมินผล-สรุปผลและนำมาปรับปรุง
๒. บทบาทผู้เรียน
- ทบทวนความรู้ อ่านบทเรียนและหรือทำการบ้านที่ได้รับมอบหมายมาล่วงหน้า
- ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว
- เตรียมใจที่จะเรียนอย่างสนใจ
- เตรียมกายให้พร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ
- ผู้เรียนต้องมีความพร้อมที่จะเรียน และอยู่กับปัจจุบัน
- ขณะเรียน สิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศ AL ได้นั้น ผู้เรียนจะต้องไม่ออกไปนอกห้องบ่อย พยายามนั่งแถวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับเด็กโตๆ ที่มีโอกาสได้เลือกที่นั่งเอง และมักจะไม่เลือกนั่งแถวหน้า นอกจากนี้ ต้องพยายามเป็นผู้ฟังที่ Active คือ ตื่นตัวตลอดเวลาว่าใครพูดอะไร ไม่ว่าจะเป็นครูหรือเพื่อนร่วมชั้น และต้องมีส่วนร่วมในการสนองตอบต่อการพูดคุยนั้น และสุดท้ายต้องจดบันทึกสม่ำเสมอ
…………………………………………….
(นางสาวจิระภา สุมาลี)
ผู้บันทึกรายงานการประชุม
การเรียนการสอนแบบเชิงรุก(Active Learning)จากที่ภาควิชาการพยาบาลอนามัยครอบครัวชุมชน และจิคเวชได้ สรุปประเด็นในการทำKM เป็นแนวทางการสอนเชิงรุกที่หลากหลายและน่าสนใจ ซึ่งดิฉันเคยใช้การสอนรูปแบบกรณีศึกษาในการทดสอบสอนในคลินิกขณะอบรมครูคลินิก ได้ฝึกสอนเรื่อง การจัดลำดับรายเยี่ยม เพื่อให้นักศึกษาได้วิเคราะห์การจัดลำดับก่อนหลัง เพื่อการจัดลำดับรายเยี่ยมในการเยี่ยมบ้านที่มีประสิทธิภาพ โดยรูปแบบการสอนในคลินิก เป็นการสอนALแบบกรณีศึกษา มีดังนี้
1.เริ่มต้นด้วยการบรรยายความสำคัญของการเยี่ยมบ้าน การจัดลำดับรายเยี่ยม
2.ให้นักศึกษาวิเคราะห์กรณีศึกษาที่นักศึกษาลงชุมชนจริงๆมาร่วมกันวิเคราะห์ และอภิปรายภายในกลุ่ม(กลุ่มมีสมาชิก7-8คน)และเรียงลำดับรายเยี่ยมก่อนหลังพร้อมเหตุผล
3.ร่วมกันสรุปเกณฑ์ในการจัดลำดับรายเยี่ยม(Concept)
การจัดการเรียนการสอน แบบ Active Learning นั้น อาจารย์ผู้สอน สามารถนำมาใช้ได้กับ ทุกรูปแบบการสอน หรือทุกเทคนิคการสอน การที่ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอน ทำให้อาจารย์ได้เห็น มุมมองที่หลากหลายในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning หรือได้เห็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งผลสุดท้าย จะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนเอง และมีความคงทนทางความรู้มากกว่าการที่ผู้เรียน ท่องจำเพียงอย่างเดียว
การเรียนการสอนแบบ AT เป็นวิธีการสอนที่แตกต่างจากการบรรยาย ส่วนใหญ่จะมีเทคนิคที่กระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ฝึกการคิดวิเคราะห์ ทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงบทเรียนด้วยตนเอง สามารถสรุปความคิดรวบยอดที่มาจากความเข้าใจของตนเอง ไม่ใช่เพียงการท่องจำ ซึ่งผู้เรียนจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องใช้ทักษะในการคิดวิเคราะห์ได้ และกระบวนการ AT จะเป็นการใช้ความรู้ที่ยั่งยืน สามารถปรับใช้กับทุกสถานการณ์ได้ตลอดจนการประกอบวิชาชีพของผู้เรียน
การเรียนการสอนแบบ AL มีเทคนิคการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ฝึกการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดรวบยอดที่มากจากความเข้าใจของตนเองอย่างแท้จริง แตกต่างจากการเรียนแบบบรรยายหรือจากการท่องจำ เพราะหากผู้เรียนพบกับสถานการณ์ที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์หรืิอพบสถานการณ์ที่ซับซ้อนในการปฏิบัติงาน เขาก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
การเรียนในรูปแบบ Active Learning เป็นรูปแบบของการเรียนการสอนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการตื่นตัว เรียนรู้ศึกษาด้วยตนเองก่อนเรียน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ไปฝึกอบรมครูคลินิก ที่ วพบ.พะเยา ได้ใช้รูปแบบการเรียนโดยใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้ VDO ประกอบการสอน พบว่าผู้เรียนได้ให้ความสนใจอย่างมาก มีความกระตือรือร้นในการเรียน จึงมองว่า การใช้รูปแบบการสอนที่หลากหลาย +สื่อที่ทันสมัย บรรยากาศเสริมแรงทางบวกกับผู้เรียน มีผลต่อความสนใจของผู้เรียนได้อีกทางหนึ่งที่จะทำให้คุณภาพการเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพที่ดี
การเรียนการสอนแบบ Active Learning เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และลงมือปฏิบัติจริง องค์ความรู้ที่ผู้เรียนได้ทำการสังเคราะห์มาผู้สอนควรถ่ายทอดข้อเท็จจริง หรือทฤษฎีเพิ่มเติม ส่งผลให้ประสิทธผลของการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
การเรียนแบบ AL บทบาทผู้สอนมีความสำคัญมาก ตั้งแต่การปรับแนวคิดเทคนิคการสอนโดยเชื่อว่าการสอนวิธีการนี้จะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้บรรลุนิติภาวะมากขึ้น ไม่ใช่สอนให้ผู้เรียนท่องจำแบบเดิมๆ ผู้เรียนไม่ต้องรอฟังเนื้อหาจากผู้สอนเท่านั้น และเชื่อว่าแหล่งความรู้มีมากมาย ไม่ใช่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น และผู้สอนต้องยอมรับว่ายุคสมัยปัจจุบัน เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะในวัยเรียน วัยรุ่น เป็นวัยที่เปิดรับเทคโนโลยีต่างๆได้ง่าย และเข้าถึงได้ง่าย คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน
การสอนโดยใช้วิธีการสะท้อนคิดจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ได้รับเกี่ยวกับผู้ป่วยในแต่ละวัน และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักถึงการปฏิบัติที่น่าพึงพอใจ โดยวิธีการนี้เป็นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ (learning by doing) ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสามรถหาข้อสรุปได้ด้วยตนเอง ได้มีโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์อย่างมีความหมาย มีการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง นอกจากนี้ การเรียนรู้ผ่านการสะท้อนคิดจากการปฏิบัติยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น (Active learning) สามารถเปลี่ยนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้แทนที่จะเป็นผู้รับความรู้เพียงอย่างเดียว
การจัดการเรียนการสอนด้วยวิธี Active Learning มีหลากหลายวิธีการสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจำนวนผู้เรียน และต้องคำนึงถึงสื่อ, สถานที่ และอุปกรณ์การจัดการเรียนการสอน รวมถึงผู้สอนกรณีที่สอนเป็นทีมควรวางแผนร่วมกันเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
จากรายงานการประชุมการจัดการองค์ความรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning มากขึ้น ซึ่งคิดว่าน่าจะนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนทางการศึกษาพยาบาล เพื่อเป็นการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับบริบทของนักศึกษาพยาบาลได้
คิดว่าอาจารย์ทุกคนเคยมีประสบการณ์ตรงกับการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learningมาแล้ว แต่อาจต้องมีการเติมเต็มบางประเด็นเช่น การเตรียมผู้เรียน
การเตรียมแบบประเมินที่ชัดเจน เหมาะสม เพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพมากข้น
เห็นด้วยกับอ.วิไลวรรณคะ่ เพราะสื่อและอุปกรณ์ สถานที่เป็นปัยจัยสร้างบบรยากาศการเรียนแบบ active learning เช่น อากาศที่เหมาะสม ขนาดของห้องเรียน และที่นักศึกษาตื่นเต้นมากก็คือ ความทันสมัย ของเทคโนโลยี และจากการไปศึกษาดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ Alexandra Hospital มีการให้บริการอบรมทักษะทางการพยาบาลโดยใช้ Simulation ที่เสมือนจริงน่าสนใจ ตื่นตาตื่นใจจริงๆคะ่