แนวปฏิบัติการเขียนบทความวิชาการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
แนวปฏิบัติการเขียนบทความวิชาการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
รวบรวมโดย งานวิจัย การจัดการความรู้ฯ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
บทความทางวิชาการของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ เป็นงานเขียนที่อาจารย์พยาบาลมุ่งนำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการพยาบาล หรือการจัดการเรียนการสอนสุขภาพ ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง อาจเป็นความรู้ ข้อเท็จจริงหรือมุมมองทรรศนะใหม่ๆที่ผ่านการค้นคว้า วิเคราะห์ อย่างเป็นระบบ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งนำเสนอต่อกลุ่มผู้อ่านที่เป็นนักศึกษาพยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพ โดยมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการด้านวิชาชีพการพยาบาลและการสาธารณสุข มีแนวปฏิบัติปฏิบัติการเขียนบทความวิชาการดังนี้
1. ขั้นตอนการเตรียม
1.1 การเลือกเรื่องหรือประเด็น
เป็นการกำหนดประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวที่มีสาระวิชาการตรงกับความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความสนใจของผู้เขียน มีความทันสมัย อยู่ในขอบข่ายที่สามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ง่าย เพื่อให้สามารถสอดแทรกความคิดเห็นของผู้เขียนได้อย่างเหมาะสม และควรมีการทบทวนเรื่องหรือประเด็นที่จะเขียนจากแหล่งเผยแพร่ต่างๆว่ามีการเสนอในแง่มุมใดบ้าง มีแง่มุมใดที่ยังไม่มีการกล่าวถึง ซึ่งผู้เขียนจะสามารถหยิบยกมากล่าวถึงเพื่อชี้นำว่ามีความสำคัญและน่าสนใจ
แนวทางในการกำหนดประเด็นที่จะเขียนบทความวิชาการอาจได้มาจากแหล่งความรู้ต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือ วารสาร เอกสารต่างๆ การสนทนากับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง การปรึกษาหารือในกลุ่มนักวิชาการ คำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ การสังเกตจากเหตุการณ์จริงในชีวิตประจำวันหรือการปฏิบัติงานในหน้าที่ ผู้เขียนอาจจะได้ประเด็นเรื่องที่จะเขียนจากความคิดที่แวบขึ้นมาทันทีทันใด หรือสิ่งที่สนใจและได้ใคร่ครวญมาในระยะเวลาหนึ่งก็ได้
1.2 การกำหนดวัตถุประสงค์การเขียนบทความวิชาการ
เป็นการกำหนดว่าความต้องการให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากบทความความในด้านใด เพื่อตอบคำถามตามหลัก 5 W 1 ในการกำหนดทิศทางของการเขียนและรูปแบบการนำเสนอ ประกอบด้วย Who “จะเขียนให้ใครอ่าน” เพื่อทราบกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้วิเคราะห์ความต้องการ คุณค่าหรือประโยชน์ ที่ผู้อ่านจะได้รับ What “จะเขียนเรื่องอะไร” Where “จะเขียนเพื่อเผยแพร่ที่ไหน” เพื่อคัดเลือกวารสารที่จะเผยแพร่พร้อมทั้งทบทวนแนวทางการเขียน ศึกษาแนวทางและเทคนิคการเขียนให้สอดคล้องกับรูปแบบวารสารนั้นๆ When “เวลาที่จะนำบทความลงเผยแพร่เมื่อใด” เพื่อพิจารณาช่วงเวลาที่นำเสนอที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน Why “จะนำเสนอเรื่องนี้ไปทำไม”เพื่อทบทวนวัตถุประสงค์ของผู้เขียนต้องการให้เกิดอะไร How “จะนำเสนอเรื่องนี้อย่างไร” (ซึ่งมีรายละเอียดในขั้นตอนการเขียนโครงเรื่อง) โดยแต่ละคำตอบจะมีความเชื่อมโยง สอดคล้องและต่อเนื่องกันเพื่อผู้เขียนจะไม่ได้หลงประเด็น
1.3 การเลือกแหล่งตีพิมพ์ เผยแพร่ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนควรพิจารณาความเหมาะสมของบทความว่าตรงกับผู้อ่านเป็นใคร รวมทั้งควรพิจารณาตามตัวชี้วัดหนึ่งทางด้านคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา เช่น ตีพิมพ์ในในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ ระดับนานาชาติ การตีพิมพ์บทความวิชาการใน วารสารทางวิชาการที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ การประเมินคุณภาพวารสารจาก Impact และ Ranking รวมทั้งศึกษาเงื่อนไขของแหล่งตีพิมพ์ เผยแพร่ ได้แก่ ความยาวของเนื้อหา อักษรที่พิมพ์ รูปแบบอ้างอิง ค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ ระยะเวลาของกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review Process) ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ จากวารสาร หรือเว็บไซต์ของวารสาร
1.4 การเขียนโครงเรื่องของบทความวิชาการ
เป็นการวางแผนการเขียนเนื้อหาของบทความ โดยจัดลำดับความคิดให้เป็นหมวดหมู่ หรือเป็นขั้นตอนตามลำดับความสำคัญ และมีความสัมพันธ์ของเนื้อหา เพื่อให้มีขอบเขตของเรื่อง ที่ชัดเจน ครบถ้วนและไม่ซ้ำซ้อนกัน ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1.4.1 ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล เป็นการรวบรวมเนื้อหาทั้งที่เป็นความรู้ ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่หลากหลาย เช่น หนังสือ บทความ วารสาร ข้อมูลการสัมภาษณ์ การสังเกต เป็นต้น หลังจากนั้นใช้วิธีการบันทึกข้อมูลแบบสรุปความ หรือสังเคราะห์ ทั้งนี้หากเป็นเนื้อหาที่เป็นภาษาไทยควรสืบค้นจากต้นฉบับที่มีบทคัดย่อเป็นภาษาอังกฤษเพื่อความถูกต้องในการสะกดชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษหากนำไปใช้ในรายการอ้างอิง
1.4.2 จัดหมวดหมู่ประเด็น เป็นการวิเคราะห์แนวคิดหรือประเด็นที่จะเขียนบทความวิชาการให้กระจ่าง โดยการแยกแยะประเด็นในแง่มุมต่างๆตามแนวคิดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันให้อยู่พวกเดียวกัน หรือกำหนดขอบเขตเป็นหัวข้อหลัก หัวข้อย่อย โดยอาจเขียนในรูปแบบผังมโนทัศน์ (concept mapping)
1.4.3 จัดลำดับความคิดให้เป็นระบบตามวิธีการต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามลำดับ เช่นจากประเด็นที่กว้างๆหรือทั่วไปสู่เรื่องประเด็นเฉพาะ จากเรื่องเฉพาะไปสู่เรื่องกว้างๆ ตามความสำคัญของเนื้อหาลดหลั่นลงมา ตามเหตุการณ์หรือระยะเวลาตามลำดับการเกิดก่อน-หลัง ตามการตั้งประเด็นคำถาม แล้วตอบคำถาม ขยายความ ยกตัวอย่าง ทีละประเด็น ทั้งนี้ขึ้นวิธีการลำดับเนื้อหาขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การเขียนและขอบเขตเนื้อหา
2. ขั้นตอนการลงมือเขียนบทความ
เป็นขั้นตอนการเรียบเรียงความรู้จากประสบการณ์และสิ่งที่ค้นคว้ามาตามโครงเรื่องที่กำหนด ด้วยถ้อยคำภาษาและลีลาชักจูงในผู้อ่านชวนติดตาม ทั้งนี้รูปแบบการเขียนขึ้นอยู่กับประเภทของบทความ ผู้เขียนต้องการนำเสนอ และส่วนประกอบการเขียนบทความขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละแหล่งตีพิมพ์ โดยทั่วไปประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนนำ เนื้อหา และส่วนท้าย กล่าวคือ
2.1 ส่วนนำ ประกอบด้วย ชื่อเรื่อง ชื่อผู้เขียน และบทคัดย่อ ดังนี้
2.1.1ชื่อเรื่อง เป็นการตั้งชื่อเรื่องให้ครอบคลุมเนื้อหาและตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารแนวคิดแก่ผู้อ่าน ทำให้บทความวิชาการมีความสมบูรณ์และน่าสนใจ ควรใช้ภาษาที่เป็นทางการ ชัดเจน สื่อถึงเนื้อหาของเรื่อง มีความน่าสนใจ มีความยาวไม่เกิน 100 ตัวอักษร บางครั้งอาจคิดชื่อเรื่องตั้งแต่การเลือกเรื่อง หรือ การจัดหมวดหมู่ความคิด หรือภายหลังลงมือเขียนไประยะหนึ่งแล้ว
2.2.2 ชื่อผู้เขียน ต้องระบุชื่อจริง โดยทั่ว ไปแล้วจะเขียนไว้ด้านซ้ายใต้ชื่อเรื่องและไม่นิยมบอกยศ ตำแหน่ง หรือคำนำหน้าชื่อแต่อย่างใด
2.2.3 บทคัดย่อ เป็นการย่อเนื้อหาสาระสำคัญของบทความ ควรเขียนให้สั้น กระชับ มีความยาวตามจำนวนคำที่วารสารกำหนด
2.2 เนื้อหา ประกอบด้วย การเกริ่นนำ เนื้อเรื่อง และการสรุป ดังนี้
2.2.1 การเกริ่นนำ เป็นส่วนที่ผู้เขียนใช้เทคนิคจูงใจให้ผู้อ่านเกิดความสนใจในเรื่องนั้นๆ เช่น เป็นเรื่องเล่าบรรยายสถานการณ์ที่กำลังเป็นที่สนใจขณะนั้นขึ้นมาอภิปราย การตั้งประเด็นคำถามหรือปัญหาที่ท้าทายความคิดของผู้อ่าน ข้อความแสดงความขัดแย้ง หรือประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ นอกจากนั้นส่วนนำควรกล่าวถึงวัตถุประสงค์ ที่มาความสำคัญและขอบเขตของบทความ
2.2.2 เนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ประกอบในการเขียน กล่าวคือ ผู้เขียนต้องแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงความเป็นเหตุ และผล ด้วยการอ้างอิงข้อมูลสนับสนุนที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือโดยพึงตระหนักเรื่องการคัดลอกผลงานผู้อื่น มีศิลปะในการใช้ภาษาในการนำเสนอเรื่องราวอย่างเป็นระบบ มีการจัดลำดับเนื้อหา การยกตัวอย่างประกอบ อาจใช้แผนภูมิ รูปภาพ ตารางที่ใช้ประกอบการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและน่าสนใจติดตาม
ทั้งนี้การเขียนเนื้อหาโดยทั่วไปในหนึ่งหน้า อาจมีอย่างน้อย 2 ถึง 3 ประเด็น หรือ topic โดยแบ่งประเด็นละย่อหน้า แต่ละย่อหน้ามีใจความสำคัญเพียงเรื่องเดียวจะอยู่ตรงบรรทัดแรก ตรงกลางหรือท้ายย่อหน้าขึ้นอยู่กับลีลาการเขียน มีประโยคขยายใจความให้แจ่มชัด ความยาวในย่อหน้าหนึ่งๆ 3 – 10 บรรทัดเพื่อช่วยผู้อ่านพักสายตา ย่อหน้าที่ดีต้องมี เอกภาพ สัมพันธภาพ และมีสัดส่วนที่เหมาะสม
2.2.3 การสรุปเป็นการสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง โดยการย่อความอย่างสั้นๆ หรือตอบคำถามตามประเด็นที่ตั้งไว้ในส่วนนำ หรือตั้งประเด็นคำถามทิ้งท้ายให้ผู้อ่านไปหาความรู้เพิ่มเติม หรือเชิญชวนให้ผู้อ่านให้ความร่วมมือนำไปปฏิบัติ
2.3 ส่วนท้าย เป็นการเขียนแหล่งอ้างอิงในเชิงอรรถหรือบรรณานุกรม เพื่อบ่งบอกแหล่งที่มาของเอกสารต่างๆ ที่ผู้เขียนใช้ประกอบการเขียนนำเสนอเนื้อหาสาระที่ผ่านมา สำหรับยืนยันความถูกต้องจากแหล่งที่มาของความรู้ เป็นให้เกียรติเจ้าของผลงาน การป้องกันตัว และสะท้อนจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้เขียน รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านไปศึกษาค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งนี้การเขียนบรรณานุกรมในปัจจุบัน นิยมเขียนตามระบบ APA ( American Psychological Association) 6th edition , ระบบแวนคูเวอร์
(The Vancouver style) หรือตามที่วารสารกำหนด
เมื่อเขียนเรื่องเสร็จแล้วควรทบทวนว่า เนื้อหาตรงตามวัตถุประสงค์ในการเขียนหรือไม่ ตอบสนองความต้องการของผู้อ่านหรือไม่ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรในด้านการเสนอข้อมูล การใช้เหตุผล การยกตัวอย่าง การอ้างอิง สัดส่วนเนื้อหาสาระในแต่ละส่วน อาจทบทวน ด้วยตนเองเมื่อทิ้งช่วงระยะเวลาหลังจากเขียนเสร็จในระยะหนึ่งก่อน หรือผู้ใกล้ชิดช่วยประเมินให้ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีคุณภาพก่อนการส่งไปตีพิมพ์
3. ขั้นตอนการตีพิมพ์
3.1 การเลือกแหล่งตีพิมพ์ เผยแพร่ ผู้เขียนควรพิจารณาความเหมาะสมของบทความว่าตรงกับผู้อ่านเป็นใคร รวมทั้งควรพิจารณาตามตัวชี้วัดหนึ่งทางด้านคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา เช่น ตีพิมพ์ในในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ ระดับนานาชาติ การตีพิมพ์บทความวิชาการใน วารสารทางวิชาการที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ การประเมินคุณภาพวารสารจาก Impact และ Ranking ทั้งนี้ควรศึกษางบประมาณสนับสนุนการดำเนินการตีพิมพ์เผยแพร่
3.2 ศึกษาเงื่อนไขของแหล่งตีพิมพ์ เผยแพร่ ได้แก่ ความยาวของเนื้อหา อักษรที่พิมพ์ รูปแบบอ้างอิง ค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ ระยะเวลาของกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ จากวารสาร หรือเว็บไซต์ของวารสาร โดยให้ปฏิบัติตรงตามที่ Reviewer ให้ข้อเสนอแนะ หรือหากผู้เขียนบทความมีความเห็นไม่ตรงกับสิ่งที่ Reviewer ให้ข้อเสนอแนะ ควรติดต่อกลับไปที่กองบรรณาธิการของแหล่งตีพิมพ์นั้นๆ ทางโทรศัพท์หรือเมล์ส่วนตัว
******************************************
เอกสารอ้างอิง
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2560, 18 พฤศจิกกายน). คู่มือการเขียนบทความ. สืบค้นจาก http://www.ednet.kku.ac.th/~edstd/upfile/q.pdf
ธิดา โมสิกรัตน์ (2553) “การเขียนบทความวิชาการ” ใน นภาลัย สุวรรณธาดา ธิดา โมสิกรัตน์ และ สุมาลี สังข์ศรี บรรณาธิการ การเขียนผลงานวิชาการและบทความ พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 123-140 กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์ภาพพิมพ์
ปุญญพัฒน์ ไชยเมล์ (2556) “เทคนิคการเตรียมและการเขียนบทความทางวิชาการสำหรับวิทยาศาสตร์สุขภาพ” วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ 16, 1 (มกราคม-มิถุนายน) : 59 – 68
รัตนะ บัวสนธ์. (2560, 18 พฤศจิกกายน). การเขียนบทความวิชาการและการวิจัย. สืบค้นจาก http://www.
rdi.nsru.ac.th/tip/tip-09.pdf
การเขียนบทความวิชาการ สำหรับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร เริ่มจากความสนใจในเรื่องที่ต้องการเขียน เรียบเรียงความรู้จากประสบการณ์ ผ่านกระบวนการทบทวนวรรณกรรม รวมทั้งวิธีการสื่อสารให้บทความวิชาการนั้นมีความน่าสนใจ
ปัจจัยสำเร็จของการเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ ขึ้นกับปัจจัยด้านผู้เขียน ได้แก่ ความสามารถในการรวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่จะนำเสนอต่อผู้อ่าน แรงจูงใจของผู้เขียนและความสามารถในการจัดสรรเวลาจากงานประจำ เป็นต้น ปัจจัยภายในองค์กร ได้แก่ นโยบายการสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่บทความวิชาการ การให้ความสำคัญของผู้บริหาร เป็นต้น
สำหรับมือใหม่ที่จะเริ่มเขียนบทความวิชาการ มีความจำเป็นต้องเริ่มจากหัวข้อที่สนใจก่อน เพื่อลงลึกในเนื้อหานั้นๆ และหลังจากนั้นต้องฝึกการอ่านให้มากขึ้น เพราะอ่านมากขึ้นจะทำให้เรารู้จริง และรู้เทคนิคการเขียนเพื่อการสื่อสารจากผู้เขียนท่านอื่นๆ และเรียบเรียงออกมาได้เป็นแบบฉบับของผู้เขียนเอง
การเขียนบทความวิชาการ ต้องการทักษะและประสบการณ์ จึงจะเกิดความชำนาญ ในกรณีคนที่ยังไม่เคยเริ่มต้นในการเขียนบทความคงต้องใช้ความตั้งใจ ซึ่งการมีระบบพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำ สนับสนุน รวมทั้งระบบในการให้รางวัลที่เหมาะสมอาจมีความจำเป็น
การเขียนบทความวิชาการในข้ั้นตอนการวางแผนการเขียนเนื้อหาของบทความ การจัดลำดับความสำคัญ การจัดหมวดหมู่ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเนื้อหา เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนสามารถกำหนดขอบเขต ทิศทางของเนื้อเรื่องได้ชัดเจน ทำให้สามารถเรียบเรียงเนื้อหาได้ง่ายยิ่งขึ้น
การเขียนส่วนเนื้อเรื่องจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ประกอบกัน กล่าวคือ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ (sciences) นั้นคือหลักวิชาการที่ผู้เขียนจะต้องคำนึงถึงในการเขียน ได้แก่ กรอบแนวความคิด (conceptual framework) ที่ผู้เขียนใช้ในการเขียนจะต้องแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของเหตุที่นำไปสู่ผล (causal relationship) การอ้างอิง ข้อมูลต่างๆ ในส่วนศิลป์ (art) ได้แก่ ศิลป์ในการใช้ภาษาเพื่อนำเสนอเรื่องที่เขียน การลำดับความ การบรรยาย วิธีการอ้างอิง สถิติ
และข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบเรื่องที่เขียน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและประทับใจมากที่สุด
การเขียนบทความวิชาการเป็น การกลั่นกรองความรู้ที่ลึกซึ้งของผู้เขียนในห้วข้อที่ต้องการนำเสนอแก่ผู้อ่าน การเขียนที่ความสัมพันธ์สอดคล้อง เชื่อมโยงและการให้ความสำคัญกับสาระสำคัญของเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหัวข้ออยู่ในกระแสความสนใจในแวดวง หรือใน สังคม จะทำให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นนอกจากคุณภาพของบทความ
ได้นำความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปใช้ในการเขียนบทความวิชาการ พบว่า การมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเขียนบทความประสบผลสำเร็จ
การเขียนบทความทางวิชาการ ในหัวข้อที่น่าสนใจและมีการทบทวนวรรณกรรมมาแล้วอย่างครอบคลุม ตลอดจนเทคนิควิธีการเขียนที่มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันสามารถนำไประยุกต์ใช้ได้ในทางปฏิบัติ จะทำให้บทความวิชาการนั้นมีคุณค่าต่อสังคม
การเขียนบทความวิชาการ ควรเริ่มจากหัวข้อที่ผู้เขียนมีความสนใจและเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆจนอิ่มตัวและนำมาเขียนเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ ร่วมกับการมีเทคนิคในการเขียนที่ดึงดูดผู้อ่าน เห็นความเชื่อมโยงของเนื้อหาสาระตั้งแต่บทนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป เมื่อเรียบเรียงเป็นระบบแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการเผยแพร่องค์ความรู้นั้นๆสู่สาธารณชนโดยการตีพิมพ์และเผยแพร่ ซึ่งผู้เขียนก็ควรให้ความสำคัญกับการเลือกแหล่งตีพิมพ์ที่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงจะทำให้เกิดการสื่อสารที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
บทความวิชาการ มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอความรู้ความคิดใหม่ๆ ประสบการณ์ของผู้เขียนบนพื้นฐานของวิชาการในเรื่องดังกล่าว หรือการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ วิชาการในเรื่องต่างๆที่กล่าวถึง เพื่อนำเสนอแนวคิดใหม่ หรือเพื่อตั้งคำถามหรือประเด็นที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสนใจศึกษาค้นคว้าในเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยบทความทางวิชาการที่ดี ควรมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านได้แนวคิดแนวทางในการนำความคิดนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบหนึ่ง หรือช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดการพัฒนาความคิดในเรื่องนั้นๆ ต่อไป
การเขียนบทความวิชาการมีความสำคัญต่อตัวผู้เขียนและต่อวิชาชีพ ความสำคัญต่อผู้เขียนหมายถึงความตื่นตัวทางวิชาการของผู้เขียนในการติดตามความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ในแวดวงการศึกษาหรือวิชาชีพ ตลอดจนความสามารถในการจัดระบบความคิดและนำเสนอ ส่วนด้านความสำคัญต่อวิชาชีพ บทความวิชาการเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างหรือพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อวิชาชีพนั้นๆ
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำไปใช้ในการเขียนบทความวิชาการมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดแรงจูงใจ และมีแนวทางในการเขียนเรื่องของตนเอง โดยเฉพาะการเริ่มตนจากเรื่องที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจ นอกจากนั้นยังได้ประเด็นเกี่ยวกับผู้อ่านบทความของเราเป็นใครเพืื่อทำให้การเขียนของเราน่าสนใจ และการตีพิมพ์เผยแพร่ที่มีความสอดคล้องกัน
การเขียนบทความวิชาการ สำหรับผู้ที่เริ่มเขียนเป็นสิ่งที่ยาก โดยการเขียนนั้นจะต้องทำให้ผู้อ่านสนใจ และเข้าใจง่าย ดังนั้นการมีแนวปฏิบัติจะช่วยเป็นเครื่องมือให้นักวิจัยมือใหม่ มีแนวทางในการเขียนบทความวิชาการที่ดี
การเขียนบทความวิชาการ สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ การที่ผู้เขียนมุ่งเสนอความใหม่ที่ได้จากการสะกัดมาจากประสบการณ์ของตนเอง ร่วมกับการศึกษาวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนควรมีลำดับแรกคือมีใจที่อยากจะเขียน พยายามเอาชนะความคิดว่าการเขียนเป็นสิ่งที่ยาก ข้อเสนอคือ ลองหันกลับมาดูว่าที่เราสอนหรือวิจัยมีอะไรที่เราอยากนำเสนอให้ผู้อ่านเห็นมุมมองที่เหมือนหรือแตกต่างจากเดิมบ้าง แล้วลงมือร่างเลยนะคะ การร่างจะช่วยให้เรามีิศทางการทำงานที่ดี ..และจะสำเร็จในไม่ช้าค่ะ
การเขียนบทความวิชาการที่ดี ผู้เขียนต้องใช้ประสบการณ์และการค้นคว้าความรู้ และการเขียนเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ การวางกรอบของบทความ การใช้ภาษาที่น่าสนใจ ซึ่งค่อนข้างยากสำหรับการเริ่มต้นเขียน การมีพี่เลี้ยงช่วยในการเขียนบทความเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
การเขียนบทความวิชาการมีความสำคัญต่อตัวผู้เขียนและต่อวิชาชีพ ความสำคัญต่อผู้เขียนหมายถึงความตื่นตัวทางวิชาการของผู้เขียนในการติดตามความรู้ใหม่ๆ ตลอดจนความสามารถในการจัดระบบความคิดและนำเสนอ ส่วนด้านความสำคัญต่อวิชาชีพนั้นหมายถึงเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างหรือพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อวิชาชีพนั้นๆ
การเขียนบทความวิชาการนั้น การเลือกหัวข้อเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่ควรคำนึงถึงประการแรกในการเรื่องหัวข้อเรื่องในการเขียน ประเด็นในการเขียนเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะต้องมีจุดเด่นในประเด็นที่จะเขียน และประเด็นที่ต้องการสื่อให้สังคมได้รับทราบคืออะไร การตั้งชื่อเรื่องก็ต้องน่าสนใจ น่าติดตาม บางครั้งเราอาจมีเพียงปะเด็นที่สนใจ แต่อาจจะยังไม่สามารถตั้งชื่อเรื่องที่ถูกใจได้ จากประสบการณ์ในการเขียนบทความวิชาการนั้นคือการเลือกประเด็นที่จะเขียนโดยจะต้องมีจุดที่แตกต่างหรือเรียกว่าจุดขายของบทความคืออะไร หากเราสามารถคิดประเด็นได้จะทำให้เราสามารถเขียนโครงร่างได้กระชับขึ้น
ขั้นตอนการเขียนบทความวิชาการ ขั้นตอนที่สำคัญที่ควรปฏิบัติ คือการเริ่มเขียนงาน ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่ผู้เขียนสนใจ มีแหล่งค้นคว้าหรือหาข้อมูลสนับสนุนงานเขียน กำหนดจุดมุ่งหมายโดยกำหนดให้ชัดเจนว่าเขียนเพื่ออะไร และเขียนให้ใครอ่าน การกำหนดแนวคิดสำคัญ หรือประเด็นสำคัญ หรือแก่นของเรื่องที่จะนำเสนอผู้อ่าน การประมวลความรู้ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง โดยค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่างๆให้เพียงพอที่จะเขียน การวางโครงเรื่อง กำหนดแนวทางการเขียนว่าจะนำเสนอสาระสำคัญ แยกเป็นกี่ประเด็นใหญ่ๆ มีอะไรบ้าง ในประเด็นหลักมีประเด็นย่อยๆ มีตัวอย่าง มีเหตุผลเพื่อสนับสนุนประเด็นหลักอย่างไร รวมถึงการอ้างอิง ควรมีการอ้างอิงไปพร้อมๆ กับการเขียนบทความเพื่อให้การอ้างอิงถูกต้องตามหลักการ และรูปแบบการอ้างอิงที่ระบุในคำแนะนำสำหรับผู้เขียนของแต่ละวารสาร เช่น APA หรือ Vancouver ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ
การเขียนผลงานทางวิชาการ ต้องคํานึงถึงความถูกต้อง ความทันสมัยของเนื้อหา ตลอดจนการอ้างอิงที่เป็นระบบ รวมทั้งการอาศัยหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น การวางแผนการเขียน การค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้อง การเสนอความรู้อย่างเป็นระบบการใช้ภาษาที่มีรูปประโยคสั้น แต่รู้เรื่องกําหนดวรรคตอน ย่อหน้าแต่ละย่อหน้าควรเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน จนถึงบทสรุปควรย้ำให้ผู้อ่านเห็นสาระสําคัญได้อย่างชัดเจน
การเขียนบทความทางวิชาการ เป้นการพัฒนาสมรรถนะทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แพร่หลาย สร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ไตร่ตรอง สิ่งสำคัญของเนื้อหาต้องใช้ภาษาให้มีความถูกต้องและเหมาะสมกับผู้อ่านวารสารนั้นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
การเขียนบทความวิชาการ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าผู้เขียนได้ทบทวนเนื้อหาสาระนั้นมาได้ครบถ้วนเพียงใด การเขียนที่บทความที่ ต้องมีการวางโครงเรื่องที่ชัดเจน แต่ละประเด็นในโครงเรื่อง มีความเชื่อมต่อกัน สำหรับผู้เริ่มเขียนใหม่ การเขียนแต่ละครั้ง เขียนเสร็จและต้องวางไว้ ก่อนแล้วกลับมา อ่านทบทวนอีกครั้ง หรือ เพื่อนในสาขาการทำงานของเราได้อ่าน เพื่อให้ข้อเสนอแนะ จะช่วยให้บทความ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบันการเขียนบทความวิชาการในแต่ละวารสาร ผู้วิจัยควรศึกษารายละเอียดของแต่ละวารสาร เพื่อศึกษารายละเอีอดก่อนเขียนต้นฉบับบทความ
แนวปฏิบัติการเขียนบทความวิชาการในขั้นตอนการเตรียมนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่ง คือการเลือกแหล่งตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งผู้เขียนควรต้องพิจารณาตามตัวชี้วัดหนึ่งทางด้านคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา เช่น ตีพิมพ์ในในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ ระดับนานาชาติ การตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสารทางวิชาการที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ การประเมินคุณภาพวารสารจากImpact และRanking ซึ่งจะเป็นการยืนยันคุณภาพและคุณค่าของบทความวิชาการนั้นๆเป็นอย่างดี
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเขียนบทความวิชาการราบรื่นเป็นไปด้วยดี และสำเร็จลุล่วง คือ การวางโครงเรื่อง (Out line) ซึ่งจะเป็นเหมือนเข็มทิศที่จะช่วยบอกทิศทางของเรื่องราวให้ดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน และน่าสนใจ นอกจากนี้ตัวช่วยที่สำคัญของผู้เขียนที่ควรพัฒนาคือ ทักษะการใช้โปรแกรมในการจัดพิมพ์ต่าง ๆ เช่น Ms office หรือโปรแกรมการจัด reference เช่น EndNote ที่จะช่วยให้ผู้เขียนทำงานได้เป็นระบบ และลดความยุ่งยากหรือข้อจำกัดในการจัดรูปแบบต่าง ๆ ตามข้อกำหนดของวารสารที่มีความแตกต่างกันในแต่ละที่ลงได้
เทคนิคในการเขียนบทความวิชาการ ขั้นแรกควรให้ความสำคัญกับการวางเค้าโครงหัวข้อหลักและหัวข้อย่อยต่างๆ ที่ต้องการจะเขียนลงในเศษกระดาษก่อน โดยคํานึงถึงจํานวนหน้าทีถูกกําหนดให้เขียนเนื้อหาทั้งหมด รูปแบบข้อกําหนดของสํานักพิมพ์ ผู้เขียนจะต้องกําหนดจํานวนหน้ากระดาษสําหรับเขียนบทความ โดยจะต้องยึดตามข้อกําหนดของสํานักพิมพ์อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการไม่รับบทความอันเนื่องมาจากเขียนผิดรูปแบบของสํานักพิมพ์ หลังจากนั้นกระจายหัวข้อหลักๆ ตามโครงสร้างของบทความที่ถูกกําหนดเอาไว้
ปัจจัยหลักสำคัญในการที่จะช่วยให้ผู้ที่เริ่มต้นประสบความสำเร็จในการเขียนบทความวิชาการควรจะเริ่มจากการที่ได้เขียน กลั่นกรอง และค้นคว้าในเรื่องที่ตนเองสนใจ และกำหนดเค้าโครงของสิ่งที่จะเขียนเพื่อเป็นแผนที่นำทางในการค้นคว้า วิเคราะห์ให้งานนั้นมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านต่อไป
การเขียนบทความวิชาการถือเป็รเรื่องยากสำหรับผู้เขียนหน้าใหม่ แต่หากผู้เขียนบทได้ทำการเขียนบทความก็จะสามารถเขียนได้ต่อไป ซึ่งการเขียนบทความมีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน และควรเลือกที่ตีพิมพ์ที่เหมาะสม
ยอมรับว่าการเขียนบทความวิชาการที่มีคุณภาพนั้นไม่ง่าย แต่ไม่ยากจนเกินไปถ้าผู้เขียนตั้งใจและมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ พยายามเขียนบ่อยๆ ให้ผู้ทรงคุณวุฒิช่วยวิพากษ์ จะทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือแรงบันดาลใจ หากเกิดขึ้นแล้วผลงานที่มีคุณภาพก็จะตามมาแน่นอน
การเขียนบทความวิชาการ หากใช้วิธีการวางโครงร่างหัวข้อหลักและหัวข้อย่อยต่างๆ ที่ต้องการจะเขียนลงในเศษกระดาษก่อน โดยคำนึงถึงจำนวนหน้าที่ถูกกำหนด รูปแบบของสำนักพิมพ์ ก็จะทำให้เกิดความสำเร็จของการเขียนบทความวิชาการเพิ่มมากขึ้น
การเขียนบทความวิชาการให้สำเร็จ สิ่งสำคัญคือแรงบันดาลใจและความรู้เดิมที่สำหรับนำไปต่อยอดในการเขียนบทความให้สำเร็จ เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ผลิตผลงานวิชาการสามารถที่จะเขียนงานที่มีคุณภาพได้
บทความทางวิชาการมีความสำคัญต่อผู้เขียน และในด้านวิชาการทางวิชาชีพ และสังคม ผู้เขียนบทความทางวิชาการจะแสดงถึงความตื่นตัวทางวิชาการของผู้เขียน ที่จะติดตามความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ในการศึกษาวิชาชีพ สามารถในการจัดระบบความคิด บทความทางวิชาการเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระจายของความรู้ และการพัฒนาองค์ความรู้ในวิชาชีพ ทำให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความทางวิชาการ
ปัจจุบัน นักวิชาการแทบทุกคนต่างพยายามเขียนบทความเพื่อการตีพิมพ์ ด้วยเป็นเงื่อนไขใช้ประเมินสมรรถนะ พ่วงไปถึงการเพิ่มขั้นเงินเดือนและตำแหน่งทางวิชาการ จึงมีบทความฯ แขวนลอยรอการตีพิมพ์มากมาย การจะประสบความสำเร็จ ได้ตีพิมพ์ ผู้เขียนควรต้องรู้จริง มีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์จริง ประเด็นต้อง in trend อยู่ในกระแสความสนใจ มีจุดเด่นที่แตกต่างน่าสนใจ วางแผนการจัดทำและตีพิมพ์ล่วงหน้า เพื่อช่วงชิงพื้นที่การเผยแพร่ให้สำเร็จตามที่มุ่งหวัง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเขียนบทความวิชาการให้สำเร็จนั้นผู้เขียน บทความทางวิชาการต้องมีความตื่นตัวทางวิชาการในการติดตามความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ในแวดวงการศึกษา ตลอดจนความสามารถในการจัดระบบความคิดและนำ
เสนอ
การเขียนบทความวิชาการ เป็นเรื่องที่ยากสำหรับผู้ที่ต้องการผลิตบทความวิชาการใหม่ โดยที่ไม่ทราบเทคนิคหรือวิธีการที่ถูกต้องจะทำให้การเริ่มต้นเป็นไปได้ยาก แต่สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญของการผลิตบทความวิชาการ ขึ้นอยู่กับผู้เขียนนั่นเอง ที่จะต้องสร้างแรงบันดาลใจในการเขียน และมุ่งมั่นผลิตผลงานให้เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ให้ได้
การเขียนบทควงามทางวิชาการนั้น ผู้เขียนจำเป็นต้องมี
ความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเนื้อหาเรื่องนั้นๆ ร่วมกับมี
ประสบการณ์จากการทำงานวิจัยและงานการสอน ผู้เขียนควรตั้งเป้าหมายว่าสนใจ
จะเขียนเรื่องอะไร หรือมีความรู้ที่ถนัดในเรื่องใด ใครจะเป็น
ผู้อ่าน และต้องค้นหาวิธีการถ่ายทอดความคิดของผู้เขียน
เพื่อช่วยสื่อสารให้ผู้อ่านเกิดความรู้ความเข้าใจ และมี
จินตนาการร่วมกับผู้เขียน ส่งผลให้มีความสมบูรณ์
และชัดเจนมากขึ้น สามารถเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่าน
การเขียนบทความทางวิชาการให้ประสบความสำเร็จผู้เขียนควรเลือกประเด็นสาระวิชาการตรงกับความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความสนใจของผู้เขียน มีความทันสมัยและผู้อ่านว่าจะเขียนให้ใครอ่าน เพื่อวิเคราะห์ความต้องการ คุณค่าหรือประโยชน์ ที่ผู้อ่านจะได้รับ นอกจากนี้ควรศึกษารูปแบบเงื่อนไขของวารสารหรือแหล่งตีพิมพ์ ที่จะเผยแพร่ให้เข้าใจได้แก่ ความยาวของเนื้อหา อักษรที่พิมพ์ รูปแบบอ้างอิงของวารสารนั้นๆให้เข้าใจก่อนลงมือเขียน
การตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับชาติหรือนานาชาตินั้น ผู้วิจัยจะต้องศึกษา และให้ตรงกับประเด็นการตีพิมพ์ที่วารสารนั้นๆต้องการ
การเขียนบทความวิชาการหรือบทความวิจัยต้องคำนึงถงคุณภาพของบทความโดยเฉพาะบทความวิจัยส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานมากกว่ารายงานการวิจัยโดยทั่วไปเพราะต้องผ่านการตรวจสอบเนื้อหาสาระและรูปแบบให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของารสารหรือคณะกรรมการจัดประชุมสำหรับเนื้อหาความรู้ที่นำมาเขียนบทความวิจัย จะมีลักษณะของการเขียนบทความอยู่ 2 รูปแบบคือ บทความที่เขียนขึ้น ก่อนเริ่มต้นการทำวิจัย หรือยังอยู่ระหว่างการท าวิจัย บทความที่เขียนขึ้น หลังจากทำวิจัยเสร็จแล้ว การตีพิมพ์บทความวิชาการ จะต้องคัดเลือกวารสารที่เหมาะสมเรื่องและสาขาวิชาที่วารสาร
ในการจะเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ให้ได้นั้น เราสามารถเริ่มต้นจากการสร้างแรงบันดาลใจในการเขียนให้ตนเองก่อน โดยเลือกเรื่องหรือประเด็นที่ชอบ และอ่านค้นคว้ามากๆเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านั้น แล้วนำมาสรุปเป็นประเด็นใหญ่และย่อยออกไป และอธิบายในแต่ละประเด็นอย่างมีหลักฐานอ้างอิง ยกตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้า ตื่นเต้นกับเรื่องราวของหมูป่าอะคาเดมี ที่เป็นคนแปลกหน้าที่ชาวโลกอยากช่วยและอยากรู้จัก “อยากทำความเข้าใจสถานการณ์รอดชีวิตของเขา” ข้าพเจ้าดูทุกคลิบ ทุกข่าว ทุกการวิจารณ์ในช่วงเวลานั้นและต่อๆมาจนข้อมูลมันเริ่มซ้ำ จึงสรุปเขียนว่าเหตุผลที่เขารอชีวิตได้นั้น มันมาจาก2ประเด็นหลักคือ การมีความเชื่อและศรัทธาเกี่ยวกับMeditation และพลังอำนาจแห่งหัวใจรักของมนุษยชาติ Power of Human Hearty และเขียนเป็นวิจัยได้1เรื่อง ตอนนี้กำลังย่อยข้อมูลที่ค้นไว้มาเขียนเป็นบทความ…มันมีความสุขกับการเขียนกับการค้นคว้า กับการอธิบายปรากฎการณ์ที่ช็อคกระแสโลกและเขา13หมูป่าอะคาเดมีรอดชีวิตแบบอัศจรรย์..ยังค้นและเขียนต่อไป…แรงบันดาลใจสำคัญสำหรับคนเขียนงานวิชาการ
การเขียนบทความวิชาการคววรเลือกประเด็นตรงกับความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความสนใจของผู้เขียนและ มีความทันสมัย รวมทั้งเป็นความรูืที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพและสังคม