การประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง Reflective Thinking
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
รายงานการประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง Reflective Thinking
วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.
ณ ห้องประชุมบานชื่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
รายนามผู้เข้าประชุม
๑. นายบุญฤทธิ์ ประสิทธิ์นราพันธุ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๒. นางสาวสุดารัตน์ ไชยประสิทธิ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๓. นางสาวปฐพร แสงเขียว พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
๔. นางสาวดุจเดือน เขียวเหลือง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๕. นายนภดล เลือดนักรบ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๖. นางสาววิไลวรรณ บุญเรือง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๗. นางสาวดวงดาว เทพทองคำ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๘. นางผ่องศรี พุทธรักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
๙. นางสาวจิราพร วิศิษฎ์โกศล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๑๐. นายอิทธิพล แก้วฟอง พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
๑๑. นายกันตวิชญ์ จูเปรมปรี พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
๑๒. นางสายฝน วรรณขาว พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
รายนามผู้ไม่เข้าร่วมประชุม
๑. นางสาวพัชชา สุวรรณรอด พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ (ไปราชการ)
ผู้เข้าร่วมการประชุม คิดเป็นร้อยละ ๙๒.๓
เปิดประชุมเวลา ๑๓.๐๐ น.
ประธานการประชุม หัวหน้าภาควิชา กลุ่มการพยาบาล ๒
วาระที่ ๑ เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
๑. แนวทางเกี่ยวกับ Reflective Thinking ที่วิทยาลัยนั้นใช้ประกอบด้วย ๒ แนวทาง ประกอบด้วย
๑.๑ Reflective Thinking ตามแนวคิดของ อ.ดร.ดุจเดือน เขียวเหลือง จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แพร่ ประกอบด้วย ๗ ขั้นตอน ได้แก่
๑) อธิบายสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น
๒) อธิบายความรู้สึกต่อสถานการณ์
๓) บอกแนวคิด/หลักการ/ความเชื่อที่สนับสนุนการกระทำ
๔) เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย
๕) จัดลำดับความคิดและสรุปแนวคิดรวบยอด
๖) นำข้อสรุปไปปฏิบัติ
๗) สะท้อนคิดการเรียนรู้/ประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม
๑.๒ Reflective Thinking ตามแนวคิดของ อ.ดร.เชษฐา แก้วพรม จากวิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี แพร่ ประกอบด้วย ๕ ขั้นตอน ได้แก่
๑) การอธิบายประสบการณ์
๒) การทบทวนความคิดความรู้สึก
๓) การวิเคราะห์เหตุการณ์
๔) การสร้างความรู้ความเข้าใจ
๕) การวางแผน การนำความรู้ไปใช้ในอนาคต
มติที่ประชุม :
๑. กระบวนการ Reflective 7 ขั้นตอน
ผู้เขียนได้สังเคราะห์กระบวนการสะท้อนคิดจากแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 16 คน และนำขั้นตอนในกระบวนการสะท้อนคิดที่มีคะแนนรวมเกินร้อยละ 50 ของจำนวนผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดมาเรียบเรียงตามลำดับขั้นตอนตามความเหมาะสมกับการนำไปใช้ในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถในการตัดสินใจเชิงจริยธรรมทางการพยาบาลได้ 7 ขั้นตอนดังนี้คือ
๑) อธิบายสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น (describe experience)
เป็นการอธิบายสภาพและบริบทของสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนด้วยมุมมองง่ายๆโดยใช้ความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้นตอบคำถามตนเองว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดได้อย่างไร มีผลกระทบกับใครบ้าง
2) อธิบายความรู้สึกต่อสถานการณ์ (feeling)
เป็นการอธิบายความรู้สึกของตนเองต่อสถานการณ์นั้นโดยการตอบคำถามว่า ฉันคิดและรู้สึกอย่างไรบ้างถ้าเป็นฉันจะทำอย่างไร ? เป็นการประเมินและวิเคราะห์ความรู้สึกของตนเองที่มีต่อสถานการณ์นั้นทั้งด้านบวกและด้านลบ
3) บอกแนวคิด/หลักการ/ความเชื่อ ที่สนับสนุนการกระทำ (theoretical)
เป็นการบอกหรืออธิบายว่ามีปัจจัยต่างๆ เช่น แหล่งความรู้ แนวคิด ทฤษฎี ความเชื่อ คุณค่า ใดบ้างที่สนับสนุนการกระทำของตนเองและสนับสนุนการกระทำที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นั้น
4) เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย (various perspective)
เป็นการค้นหาทางเลือกที่หลากหลายมีเหตุผลและเป็นไปได้โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่นทำความเข้าใจและเปิดใจรับฟังแนวคิดเห็นอื่นๆโดยปราศจากอคติและแสดงความคิดเห็นโต้แย้งทางวิชาการอย่างมีเหตุผล
5) จัดลำดับความคิดและสรุปแนวคิดรวบยอด (conceptualization)
เป็นการจัดระเบียบและลำดับประเภทของการรับรู้ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงและทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิมรวมทั้งสามารถสรุปเป็นแนวคิดรวบยอดได้
6) นำข้อสรุปไปปฏิบัติ (experiment)
เป็นการเปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อยและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นตามมาของแต่ละแนวทางได้หลากหลายแง่มุมและสรุปแนวทางที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์นั้นได้อย่างมีเหตุมีผลและน่าเชื่อถือ
7) สะท้อนคิดการเรียนรู้/ประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม (reflect learning/new experience)
เป็นการเทียบเคียงมุมมองใหม่กับความรู้ที่มีอยู่เดิมรวมถึงเป็นการสร้างความรู้ใหม่ที่เชื่อมโยงจากความรู้หรือประสบการณ์เดิมนอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการรู้ด้วยตนเองว่าตนเองได้เปลี่ยนแปลงความรู้ความคิดความเชื่อคุณค่าและจริยธรรมไปจากเดิมหรือไม่อย่างไร
๒. ปัจจัยเอื้อของการสะท้อนคิด
ด้านผู้สอน
- มีความตระหนักรู้ - มีความจริงใจ - ตรงไปตรงมา - เปิดใจกว้าง - ศรัทธากระบวนการเรียนรู้ - เสริมแรงให้กำลังใจนักศึกษา |
ด้านผู้เรียน
- ซื่อสัตย์กล้าหาญ (ความรู้สึกภายใน) - มุ่งมั่นพยายาม - ตระหนักรู้ตนเอง - สนุกกับความคิด - รับฟังคำตอบหลากหลาย (เปิดใจกว้าง) - ห้อยแขวนการตัดสินใจ |
๓. ปัจจัยความสำเร็จของการสะท้อนคิด
- สร้างบรรยากาศความไว้วางใจ โดยไม่ถูกคุกคาม ไม่ถูกบังคับ และมีสุนทรียสนทนา
- ในด้านของแหล่งความรู้
- การเสริมแรงทางบวก
- การรับฟังอย่างตั้งใจ
โดยสรุปเป็นขั้นตอนดังนี้ แนวปฎิบัติที่ดีในการจัดการเรียนการสอน แบบReflective
3.เลือกประเด็น/เนื้อหาที่ทำการสะท้อนคิด โดยมีขั้นตอนดังนี้
กระบวนการจัดการเรียนรู้ | กิจกรรม |
ขั้นที่ 1 อธิบายสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น | 1.ผู้สอนกำหนดสถานการณ์ให้ผู้เรียนอ่าน
2.ผู้เรียนศึกษาหรืออ่านทำความเข้าใจสถานการณ์ที่ผู้สอนกำหนดให้ 3.ผู้เรียนอธิบายสถานการณ์นั้น โดยบอกสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ บอกสิ่งที่เป็นสาระสำคัญในสถานการณ์ และบอกสิ่งที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ |
ขั้นที่ 2 อธิบายความรู้สึกต่อสถานการณ์ | 1.ผู้เรียนอธิบายความรู้สึกต่อสถานการณ์ เช่น ฉันคิดและรู้สึกอย่างไรบ้างกับสถานการณ์นี้?” ถ้าเป็นฉันจะทำอย่างไร? อธิบายความรู้สึกของตนเองที่มีต่อสถานการณ์นั้นทั้งด้านบวกและด้านลบ |
กระบวนการจัดการเรียนรู้ | กิจกรรม |
ขั้นที่ 3 บอกแนวคิด/หลักการ/ความเชื่อที่สนับสนุนการกระทำ | 1.ให้ผู้เรียนทำความเข้าใจความหมายของคำว่า แนวคิด หลักการ และความเชื่อ เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันสามารถสื่อสารได้ชัดเจน
2.ให้ผู้เรียนทบทวนความรู้เกี่ยวกับแนวคิด/หลักการ/ความเชื่อของตนเองที่มีอยู่หรือที่เคยเรียนมาว่ามีอะไรบ้าง 3.ให้ผู้เรียนนำเสนอ แนวคิด/หลักการ/ความเชื่อ สนับสนุนความคิดของ ตนเองที่มีอยู่หรือที่เคย เรียนมาว่ามีอะไรบ้าง ที่ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้น |
ขั้นตอนที่ 4 เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย | 1.ให้ผู้เรียนนำเสนอแนวคิด หลักการ ความคิดความเชื่อของตนเอง
2.ผู้เรียนฟังการนำเสนอของสมาชิกกลุ่ม 3. ผู้ฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือตั้งคำถามโต้แย้ง คัดค้าน ท้าทาย และสะท้อนคิดกับบุคคลอื่นในกลุ่มอย่างเหมาะสม 4. ผู้สอนเอื้อให้เกิดบรรยากาศการยอมรับและเคารพศักดิ์ศรีของสมาชิกในกลุ่ม และทำให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจในการแสดงความคิดเห็น |
กระบวนการจัดการเรียนรู้ | กิจกรรม |
ขั้นตอนที่ 5 จัดลำดับความคิดและสรุปความคิดรวบยอด | 1. ฝึกให้ผู้เรียนจัดลำดับความคิดและสรุปความคิดรวบยอดอย่างง่ายจากเกมส์ทายชื่อเพลง
2. ให้ผู้เรียนได้จัดลำดับความคิดให้เป็นหมวดหมู่และสรุปความคิดรวบยอดด้วยตนเอง 3. ให้ผู้เรียนนำเสนอผลการจัดลำดับความคิดและสรุปความคิดรวบยอดของตนเอง และเปรียบเทียบว่าเหมือนหรือแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร |
ขั้นตอนที่ 6 นำข้อสรุปไปปฏิบัติ | 1.ให้ผู้เรียนร่วมอภิปรายเพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางซึ่งมีแนวคิดทฤษฎีสนับสนุนอย่างมีเหตุมีผล
2.สรุปแนวทางที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์นั้น 3.ให้ผู้เรียนประเมินผลลัพธ์ที่ตามมาของแนวทางนั้นในหลายๆ แง่มุม |
ขั้นตอนที่ 7 สะท้อนคิดการเรียนรู้/ประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม | 1. ให้ผู้เรียนประเมินตนเอง (self-evaluation) ว่าการเรียนรู้ของตนเองในการเรียนรู้แต่ละครั้งนั้นเป็นอย่างไร มีข้อดี ข้อปรับปรุงพัฒนาอย่างไร
2.ให้ผู้เรียนสะท้อนคิดการเรียนรู้/ประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม และเทียบเคียงมุมมองใหม่ (new perspective) กับความรู้ที่มีอยู่เดิม โดยให้ผู้เรียนตอบคำถามดังนี้ -เหตุการณ์นี้มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานในอนาคตอย่างไร -ประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงตนเองด้านความรู้อย่างไร -ประสบการณ์ในครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงตนเอง ด้านความคิด ความเชื่อ คุณค่า และจริยธรรมในวิชาชีพอย่างไร |
แนวปฎิบัติที่ดีในการจัดการเรียนการสอน แบบReflective
การเรียนสะท้อนคิด ได้ฝึกให้นักศึกษาเรียนจากสถานการณ์จำลอง ฝึกให้นักศึกษาคิดและหาเหตุผลด้วยตนเอง ฝึกให้นักศึกษาได้คิด เชิงเหตุผลมีแนวคิด ทฤษฎีอ้างอิง ในการตอบข้อคำถามในสถานการณ์ และเปฺิดโอกาส ให้แลกเปลี่ยนมุมมอง ที่ตนเองมองไม่เห็นแต่เพื่อนเห็น ทำให้นักศึกษาเกิดมุมมองใหม่
นักศึกษาคิดว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง เป็นอย่างมาก
มุมมองจากการเรียนรู้ โดยเกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการสะท้อนคิด การเรียนรู้ที่ประสบผลสำเร็จจะต้องอาศัยประสบการณ์เป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการคิด ประสบการณ์ที่ใช้อาจได้จากการปฏิบัติด้วยตนเอง หรือจากการศึกษาแนวคิดทฤษฎีและการอ่านประสบการณ์ของผู้อื่น ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์เข้ากับการปฏิบัติของตนเองได้
การวัดและประเมินผลการเรียนแบบสะท้อนคิดนั้น มีการประเมินผลหลากหลายรูปแบบ แต่ที่เห็นผลมากที่สุดได้แก่ การใช้ Authentic assessment ในการประเมิน ซึ่งเป็นการประเมินที่เปิดโอกาสให้นักเรียนปฏิบัติงานที่เหมือนการปฏิบัติงานในชีวิตจริง และต้องมีการกำหนดสิ่งที่ต้องการวัดให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังสามารถประเมินจากการเขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ โดยให้เขียนภายหลังการเรียนรู้ในแต่ละวัน หรือ สัปดาห์ ว่าต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม มีปัญหาด้านใดบ้าง ต้องการอะไร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป
การเรียนการสอนแบบสะท้อนคิด 7 ขั้นตอนนั้น ขั้นตอนที่ต้องได้รับคำชี้แนะจากอาจารย์ผู้สอนอย่างใกล้ชิด คือขั้นที่ 5 การจัดลำดับความคิดและสรุปความคิดรวบยอด เพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์และคิดอย่างเป็นระบบในการสรุปรวบยอด
กระบวนการเรียนแบบสะท้อนคิด ช่วยให้นักศึกษาเกิดมุมมองที่หลากหลาย เกิดความเข้าใจความรู้สึกของตนเอง และผู้อื่น เกิดมุมมอง เรียนรู้ประสบการณ์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเองในการประกอบวิชาชีพวิชาชีพได้ในอนาคต
การเรียนรู้เป็นวิธีการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้นศ.ได้เรียนรู้ โดยให้ นศ. สะท้อนคิดประจำวันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย ความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้รับ ตลอดจนปัญหาและการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยผู้สอนเป็นผู้กระตุ้นให้นศ. ได้แสดงการสะท้อนคิดอย่างไตร่ตรอง พร้อมกับแก้ไข ปรับเปลี่ยน และเพิ่มเติมในส่วนที่นศ. เข้าใจไม่ถูกต้องหรือขาดตกบกพร่อง ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้นศ. ได้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและสามารถเชื่อมโยงทฤษฎีสู่การปฏิบัติอันจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นศ.
การจัดการเรียนการสอนแบบสะท้อนคิด ที่ใช้ในการฝึกภาคปฎิบัติ ช่วยให้นักศึกษาแสดงศักยภาพของตนเองในการเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฏีสู่การปฏิบัติ โดยที่มีผู้สอนคอยช่วยเหลือ เอื้ออำนวยความสะดวก และสนับสนุนแหล่งความรู้ต่างๆ ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่
การฝึกสะท้อนคิดเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และเป็นการพัฒนาศักยภาพทางปัญญาที่ส่งผลให้มีการปฏิบัติและการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการคิดไตร่ตรองหรือการคิดทบทวนอย่างมีเหตุผล สามารถนำมาใช้เป็นวิธีการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี
ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสะท้อนคิดของนักศึกษาขณะฝึกภาคปฏิบัติในสถานการณืจริง ซึ่งทำให้ได้เห็นถึงการรวบรวมข้อมูล การสะท้อนความรู้สึกต่อเหตุการณ์ต่างๆที่นักศึกษาได้เผชิญ นักศึกษามีความสงสัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีคำถามเกิดขึ้นอย่างมากมาย จนเป็นจุดกำเนิดให้นักศึกษานำไปสู่การแสวงหาคำตอบเพื่อนำมาอธิบายต่อสิ่งที่ตนยังหาคำตอบไม่ได้ นอกจากนั้นเป็นการฝึกให้ผู้เรียน (นักศึกษา) เกิดการคิดที่เชื่อมโยง เป็นระบบ วางแผนต่อยอดได้ ซึ่งจัดเป็นวิธีการที่ดีที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
การสะท้อนคิดในการฝึกภาคปฏิบัติวิชาการพยาบาลของนักศึกษาพยาบาล เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ เพื่อการแก้ไขปัญหา บนพื้นฐานของสภาพการณ์จริง ครบตามองค์ประกอบการสะท้อนคิด 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. การตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) 2. การสะท้อนคิด (Reflection) 3. การคิดอย่างมีวิจารณญาณ(Critical Thinking) นักศึกษามีแรงบันดาลใจที่ดีในการดูแลผู้ป่วย เข้าใจความรู้สึกของตนเองและของผู้ป่วย แต่การปฏิบัติการพยาบาลนักศึกษายังบอก “ฉันจะช่วยเขาได้อย่างไร” “ฉันจะทำงานกับเขาได้อย่างไร” ยังไม่บ่งบอกถึงการคิดวิเคราะห์ นักศึกษายังใช้ความรู้สึกหรือประสบการณ์เดิม ทำตามรุ่นพี่ โดยไม่สามารถบอกเหตุผลด้วยการคิดวิเคราะห์ได้ การพัฒนาการจัดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ เช่น การสอนแบบกลุ่ม, Simulation clinic, PBL, Evidence base learning จะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะ “ฉันจะช่วยเขาได้อย่างไร” “ฉันจะทำงานกับเขาได้อย่างไร”ด้านนี้มากขึ้น