รายงานการประชุม การจัดการความรู้เรื่อง การเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑
รายงานการประชุม
การจัดการความรู้เรื่อง การเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่
ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑
วันพุธที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมอังศนา ชั้น ๓ อาคาร ๑๐๐ ปี การสาธารณสุขไทย
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
รายชื่อผู้เข้าประชุม
๑. นางอนัญญา คูอาริยะกุล รองผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการ
๒. นางประภาพร มโนรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๓. นางสาววราภรณ์ ยศทวี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๔. นางสาวอัญชรี เข็มเพชร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๕. นายบุญฤทธิ์ ประสิทธิ์นราพันธุ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๖. นางวาสนา ครุฑเมือง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๗. นางสาวสิตานันท์ ศรีใจวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๘. นางสาวอลิษา ทรัพย์สังข์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
๙. นางดาราวรรณ บุญสนธิ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
๑๐. นางจิราพร ศรีพลากิจ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
๑๑. นายนพรัตน์ สวนปาน พยาบาลวิชาชีพ
๑๒. นางสาวณัฎฐ์ฌาฑ์ สร้อยเพ็ชร พยาบาลวิชาชีพ
๑๓. นายอดุลย์ วุฒิจูรีพันธุ์ เลขานุการ
รายชื่อผู้ไม่เข้าร่วมประชุม
๑. นางวิมล อ่อนเส็ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ (ไปราชการ)
ร้อยละของจำนวนผู้เข้าประชุม ๙๒.๘๕
ประธานที่ประชุม นางอนัญญา คูอาริยะกุล
เปิดประชุมเวลา ๑๓.๐๐ น.
ระเบียบวาระที่ ๑ เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
ประธานแจ้งเรื่องสืบเนื่องจากระบบการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ สกอ.กำหนดให้วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดพระบรมราชชนกดำเนินการเรื่องการจัดการความรู้ โดยในปีการศึกษา ๒๕๖๑ คณะกรรมการบริหารวิทยาลัยบรมราชชนนีอุตรดิตถ์ กำหนดประเด็นจัดการความรู้ที่ครอบคลุมการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย โดยให้อาจารย์แต่ละคนเลือกประเด็นการจัดการความรู้ตามความสนใจ การจัดการความรู้เรื่อง “การเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่” ถือว่าเป็นประเด็นหนึ่ง
ประธานทบทวนความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ เพื่อใช้ในการดำเนินงานพัฒนานักศึกษา กลุ่มงานกิจการนักศึกษา ใช้กระบวนการจัดการความรู้ ๗ ขั้นตอน มาประกอบใช้การจัดทำ KM ดังนี้
๑.การบ่งชี้ความรู้ เป็นการพิจารณาว่ากลุ่มงาน มีวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ เป้าหมายคืออะไร และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราจำเป็นต้องใช้ความรู้อะไร ขณะนี้เรามีความรู้อะไรบ้างอยู่ในรูปแบบใดและอยู่ที่ใคร โดยคณะกรรมการบริหารวิทยาลัยฯได้กำหนดประเด็นบ่งชี้ความรู้ที่องค์กรจำเป็นต้องมีและวิเคราะห์รูปแบบและแหล่งความรู้ที่มีอยู่ โดยความรู้ที่จำเป็นขององค์กรเป็นเรื่องการเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่
๒.การสร้างและแสวงหาความรู้ เป็นการรวบรวม/สกัดความรู้ ทั้งความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) จากเอกสาร หรือความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่อยู่ในตัวบุคคลจากภายในและ/หรือภายนอก โดยอาศัยเครื่องมือ/วิธีการต่างๆ ในการสร้างและแสวงหาความรู้ที่เหมาะสม เช่น การรวบรวมกฎระเบียบ คู่มือ มาตรฐานการปฏิบัติงาน การถอดความรู้จากตัวบุคคล เช่น การประชุมระดมสมอง การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การถอดบทเรียนหลังการปฏิบัติงาน เป็นต้น โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากร เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒
๓.การจัดความรู้ให้เป็นระบบ เป็นการวางโครงสร้างความรู้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเก็บความรู้ อย่างเป็นระบบในอนาคต โดยมอบหมายให้อาจารย์อดุลย์ วุฒิจูรีพันธุ์ ผู้รับผิดชอบงานจัดการความรู้ดำเนินการแบ่งชนิดและประเภทของความรู้ เพื่อจัดทำระบบให้ง่ายและสะดวกต่อการค้นหาและใช้งาน เรื่อง การเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่(ทบทวน) เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในกำหนดแนวทางการเขียนบทความวิชาการต่อไป
๔.การประมวลและกลั่นกรองความรู้ เป็นการปรับปรุงรูปแบบเอกสารให้เป็นมาตรฐานปรับปรุง เนื้อหาให้สมบูรณ์ จากการประชุมพิจารณาร่วมกัน หรือตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญในองค์ความรู้นั้น และจัดทำรูปแบบและ “ภาษา” ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งองค์กร รวมทั้งเรียบเรียงปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัย และตรงกับความต้องการ
๕.การเข้าถึงความรู้ เป็นการทำให้ผู้ใช้ความรู้เข้าถึงความรู้ที่ต้องการได้ง่ายและสะดวก เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) Web board บอร์ดประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
๖.การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ มีเครื่องมือหลากหลาย ประเภทถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ในการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และกรกฎาคม ๒๕๖๒
๗.การเรียนรู้ ควรทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็นการนำความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ในการทำงานเพื่อแก้ปัญหา ปรับปรุง หรือพัฒนางาน เพื่อให้ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อปฏิบัติตามแล้วมีปัญหาตรงไหน มีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ผู้ปฏิบัติก็แจ้งข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) เพื่อให้กลุ่มงานนำไปพิจารณา ปรับปรุงงาน เกิดระบบการเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ นำความรู้ไปใช้ เกิดการเรียนรู้มีประสบการณ์ใหม่ๆ และหมุนเวียนต่อไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒
มติที่ประชุม รับทราบ
ระเบียบวาระที่ ๒ รับรองรายงานการประชุม
-
ระเบียบวาระที่ ๓ เรื่องสืบเนื่อง
-
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องหารือที่ประชุม
การกำหนดแนวปฏิบัติ “การเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่” มีประเด็นดังนี้
๔.๑ ขั้นตอนการเตรียม
สิตานันท์ เสนอประเด็น “การเขียนแนวปฏิบัติการเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ ในขั้นตอนแรกการเลือกเรื่องหรือประเด็นไม่ต้องระบุรายละเอียดเช่น ความสนใจ ความเชี่ยวชาญ และความทันสมัย ซึ่งจะเขียนในคำอธิบายประกอบการใช้แนวปฏิบัติไว้แล้ว”
มติที่ประชุม ดังนี้
๔.๑.๑ การเลือกเรื่องหรือประเด็น ควรตรงกับความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความสนใจของผู้เขียน มีความทันสมัย อยู่ในขอบข่ายที่สามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ง่าย เพื่อให้สามารถสอดแทรกความคิดเห็นของผู้เขียนได้อย่างเหมาะสม และควรมีการทบทวนเรื่องหรือประเด็นที่จะเขียนจากแหล่งเผยแพร่ต่างๆว่ามีการเสนอในแง่มุมใดบ้าง มีแง่มุมใดที่ยังไม่มีการกล่าวถึง ซึ่งผู้เขียนจะสามารถหยิบยกมากล่าวถึงเพื่อชี้นำว่ามีความสำคัญและน่าสนใจ
๔.๑.๒ การกำหนดวัตถุประสงค์การเขียนบทความวิชาการ ควรตอบคำถามตามหลัก ๕ W ๑ H ในการกำหนดทิศทางของการเขียนและรูปแบบการนำเสนอ ประกอบด้วย Who “จะเขียนให้ใครอ่าน” เพื่อทราบกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้วิเคราะห์ความต้องการ คุณค่าหรือประโยชน์ ที่ผู้อ่านจะได้รับ What “จะเขียนเรื่องอะไร” Where “จะเขียนเพื่อเผยแพร่ที่ไหน” เพื่อคัดเลือกวารสารที่จะเผยแพร่พร้อมทั้งทบทวนแนวทางการเขียน ศึกษาแนวทางและเทคนิคการเขียนให้สอดคล้องกับรูปแบบวารสารนั้นๆ When “เวลาที่จะนำบทความลงเผยแพร่เมื่อใด” เพื่อพิจารณาช่วงเวลาที่นำเสนอที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน Why “จะนำเสนอเรื่องนี้ไปทำไม”เพื่อทบทวนวัตถุประสงค์ของผู้เขียนต้องการให้เกิดอะไร How “จะนำเสนอเรื่องนี้อย่างไร” (ซึ่งมีรายละเอียดในขั้นตอนการเขียนโครงเรื่อง) โดยแต่ละคำตอบจะมีความเชื่อมโยง สอดคล้องและต่อเนื่องกันเพื่อผู้เขียนจะไม่ได้หลงประเด็น
๔.๑.๓ การเขียนโครงเรื่องของบทความวิชาการ ควรจัดลำดับความคิดให้เป็นหมวดหมู่ หรือเป็นขั้นตอนตามลำดับความสำคัญ และมีความสัมพันธ์ของเนื้อหา เพื่อให้มีขอบเขตของเรื่อง ที่ชัดเจน ครบถ้วนและไม่ซ้ำซ้อนกัน ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
๑) ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล เป็นการรวบรวมเนื้อหาทั้งที่เป็นความรู้ ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่หลากหลาย เช่น หนังสือ บทความ วารสาร ข้อมูลการสัมภาษณ์ การสังเกต เป็นต้น หลังจากนั้นใช้วิธีการบันทึกข้อมูลแบบสรุปความ หรือสังเคราะห์
๒) จัดหมวดหมู่ประเด็น เป็นการวิเคราะห์แนวคิดหรือประเด็นที่จะเขียนบทความวิชาการให้กระจ่าง โดยการแยกแยะประเด็นในแง่มุมต่างๆตามแนวคิดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันให้อยู่พวกเดียวกัน หรือกำหนดขอบเขตเป็นหัวข้อหลัก หัวข้อย่อย โดยอาจเขียนในรูปแบบผังมโนทัศน์ (concept mapping)
๓) จัดลำดับความคิดให้เป็นระบบตามวิธีการต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามลำดับ เช่นจากประเด็นที่กว้างๆหรือทั่วไปสู่เรื่องประเด็นเฉพาะ จากเรื่องเฉพาะไปสู่เรื่องกว้างๆ ตามความสำคัญของเนื้อหาลดหลั่นลงมา ตามเหตุการณ์หรือระยะเวลาตามลำดับการเกิดก่อน-หลัง ตามการตั้งประเด็นคำถาม แล้วตอบคำถาม ขยายความ ยกตัวอย่าง ทีละประเด็น ทั้งนี้ขึ้นวิธีการลำดับเนื้อหาขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การเขียนและขอบเขตเนื้อหา
๔.๒ ขั้นตอนการลงมือเขียนบทความ
อ.อลิษา เสนอประเด็น “ปัญหาที่พบจากการเขียนบทความในรอบปีที่ผ่านมา ยังคุ้นชินกับการรายงาน ทำให้ไม่มีความสอดคล้องของเนื้อหาของผู้เขียน”
อ.จิราพร เสนอประเด็น “ปัญหาคล้ายคลึงกันคือเขียนแล้ว เมื่อให้คนอื่นมาอ่านพบว่าภาษาที่ใช้ไม่ต่อเนื่อง”
มติที่ประชุม ดังนี้
ควรประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ ส่วนนำ เนื้อหา และส่วนท้าย โดยในแต่ละส่วนของบทความควรมีความสอดคล้อง ต่อเนื่องกันในการเขียน (อาจให้ผู้รู้หรืออาจารย์ท่านอื่นช่วยอ่านเพื่อดูความเข้าใจและความต่อเนื่องในการเขียน)
๔.๓ ขั้นตอนการตีพิมพ์
อ.ณัฎฐ์ฌาฑ์ เสนอประเด็น “ตอนนี้อยู่ระหว่างการ edit บทความวิชาการของ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพฯ ปัญหาที่พบในช่วงแรกคือขั้นตอนการส่งบทความทาง Journals Online (ThaiJo)”
อ.อดุลย์ เสนอประเด็นเพิ่มเติมเช่นกันว่า “ยังขาดความเข้าใจขั้นตอนการรับ-ส่งบทความตีพิมพ์ ทาง Journals Online (ThaiJo)”
มติที่ประชุม ดังนี้
๔.๓.๑ ศึกษาเงื่อนไขของแหล่งตีพิมพ์ เผยแพร่ ได้แก่ ความยาวของเนื้อหา อักษรที่พิมพ์ รูปแบบอ้างอิง ค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ ระยะเวลาของกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ จากวารสาร หรือเว็บไซต์ของวารสาร เช่น APA หรือ Vancouver เป็นต้น
๔.๓.๒ ขั้นตอนการส่งตีพิมพ์/เผยแพร่ ส่งผ่านฐานข้อมูล Journals Online (ThaiJo) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์กลางของประเทศไทย
ระเบียบวาระที่ ๕ เรื่องอื่นๆ
-
ปิดการประชุมเวลา ๑๕.๐๐ น.
นัดประชุมครั้งต่อไป : -
ลงชื่อ ………………………………………………..
(นายอดุลย์ วุฒิจูรีพันธุ์) บันทึกรายงานการประชุม |
ลงชื่อ ……………………………………………………
(นางอนัญญา คูอาริยะกุล) ตรวจรายงานการประชุม |
ได้รับประโยชน์จากการอ่านรายงานนี้เป็นอย่างมาก เพราะได้หลักการเขียนที่ค่อนข้างชัดเจน และคิดว่าจะนำไปพัฒนาการเขียนบทความวิชาการของตนเองต่อไป จากนั้นจะนำมาเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งต่อไปค่ะ
การตีพิมพ์บทความวิชาการ ต้องวางโครงร่างงานให้ชัดเจน จะทำให้เขียนงานได้เร็วและงา่ายขึ้น และลดปัญหาการมีเนื้อหามากเกินไปในส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่เรียกว่า ผู้เขียนห่วงข้อมูลเลยใส่ไปมากจนทำให้เยิ่นเย้อ ขาดความกระชับ
การเขียนบทความวิชาการเพื่อการตีพิมพ์นั้นจะต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้ สิ่งที่สำคัญในการเขียนบทความวิชาการคือประเด็นที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอคืออะไร มีจุดเด่นอย่างไร แต่แตกต่างกับผู้เขียนท่านอื่นอย่างไร หากบทความของเราไมีมีจุดเด่น และมีความคล้ายกับการศึกษาอื่นๆที่ผ่านมา ก็อาจจะทำให้งานของเราไม่ได้รับการพิจารณา และประการที่สำคัญอีกอย่างคือเงื่อนไขของวารสารแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน ผู้เขียนควรศึกษาเงื่อนไขของวารสารนั้นๆ ก่อน
บทความทางวิชาการมีความสำคัญทั้งต่อตัวผู้เขียน ต่อวงการวิชาการ/วิชาชีพ และต่อสังคม ในด้านความสำคัญต่อผู้เขียน บทความทางวิชาการเป็นภาพสะท้อนถึงความตื่นตัวทางวิชาการของผู้เขียนในการติดตามความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ในแวดวงการศึกษา ตลอดจนความสามารถในการจัดระบบความคิดและนา
เสนอ ในด้านความส าคัญต่อวงการวิชาการ/วิชาชีพ บทความทางวิชาการเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการกระจายความรู้และการพัฒนาองค์ความรู้ ในด้านความส าคัญต่อสังคม บทความทางวิชาการเสนอสาระความรู้และแนวความคิดต่างๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆดังนั้นจึงจาเป็นที่นักวิชาการไม่ว่าจะอยู่ในวงการวิชาการ/วิชาชีพใดจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความทางวิชาการ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในการที่จะช่วยสืบค้นรวมถึงการเผยแพร่ผลงานเพื่อใช้ประโยชน์ต่อวงการวิชาชีพ
บทความวิชาการ เป็นข้อเขียนเชิงสาระที่ผู้เขียนตั้งใจหยิบยกประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการ วิชาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หรือวิพากษ์ทัศนะหรือแนวคิดเดิม และหรือนาเสนอหรือเผยแพร่แนวคิดใหม่ เพื่อมุ่งให้ผู้อ่าน เปลี่ยนหรือปรับเปลี่ยนแนวคิด ความเชื่อมาสู่แนวคิดของผู้เขียน เหนือสิ่งอื่นใดการเขียนบทความจะต้องอาศัยความสนใจหรือ personal interest เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์บทความให้มีคุณค่าแก่วงการวิชาชีพ
ประเด็นการเขียนบทความวิชาการอาจได้ประเด็นมาจากแรงบันดาลใจที่อยากจะเขียนเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆจึงค้นคว้าอย่างลุ่มลึกและเขียนออกมาตีพิมพ์ แต่เรายังสามารถมองหาประเด็นการเขียนที่น่าสนใจใหม่ๆได้จากงานวิจัยของเราเองที่มีข้อมูลที่ได้มาหลายด้าน แต่เรายังนำเสนอในงานวิจัยเราไม่หมดเนื่องจากมีความจำกัดในการนำเสนอจากระเบียบวิธีวิจัยนั้นๆ เราจึงสามารถนำข้อมูลที่ได้นั้นมาเขียนเป็นบทความวิชาการได้อีกและทำให้ผู้เขียนลุ่มลึกในวิชาการด้านนั้นมากขึ้นและสนุกกับข้อค้นพบและงานเขียนของตนเอง
การใช้ภาษาในการเขียนบทความวิชาการ ในกรณีที่ไม่สามารถหาคำไทยได้จำเป็นต้องทับศัพท์ก็ควรเขียนคำนั้นให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานไม่ควรเขียนภาษาไทยและภาษาต่างประเทศปะปนกันเพราะจะทำให้งานเขียนนั้นมีลักษณะของความเป็นทางการลดลง
สิ่งสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการเขียนบทความวิชาการคือ ไม่ท้อถอยเมื่อต้องปรับปรุงแก้ไขบทความ อาจารย์ที่ไม่มีประสบการณ์เขียนควรมีที่ปรึกษาหรือเขียนเป็นทีม ผู้รับผิดชอบเรื่องการเผยแพร่ผลงานวิชาการของอาจารย์ ควรจัดหาแหล่งเผยแพร่ หรือวารสารที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการแล้วประชาสัมพันธ์ให้กับอาจารย์ทราบเป็นระยะเพื่อเป็นการสนับสนุนให้อาจารย์มีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่
การเขียนบทความวิชาการ สิ่งที่สำคัญในการพิจารณาเลือกบทความวิชาการมาเขียนบทความวิชาการนั้น ควรพิจารณา 4 หัวข้อ คือ ความสนน่าใจ ความสำคัญของเรื่อง เป็นเรื่องที่เลือกต้องอยู่ในวิสัย ไม่ซ้ำซ้อนกับบทความที่ทำมาแล้วจึงจะทำให้เป็นผลทำให้เกิดการกระจายความรู้และการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง
การเขียนบทความวิชาการเป็นการเขียนเชิงสาระที่ผู้เขียนตั้งใจหยิบยกประเด็นใด
ประเด็นหนึ่ง หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการ วิชาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หรือวิพากษ์ทัศนะหรือแนวคิดเดิม และหรือนำเสนอหรือเผยแพร่แนวคิดใหม่ เพื่อมุ่งให้ผู้อ่าน เปลี่ยนหรือปรับเปลี่ยน
แนวคิดความเชื่อมาสู่แนวคิดของผู้เขียน ดังนั้นควรมีการทบทวนองค์ความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อความสมบูรณ์ในเนื้อหาและมีเนื้อหาที่ทันสมัย นอกจากนนี้การเขียนบทความที่เป็นหัวข้อที่น่าสนใจอาจเป็นช่องทางหน่งที่จะทำให้บทความได้รับการอบรับจากวารสารที่เป็นสากลได้
การเขียนบทความควรเริ่มจากการสร้างขับเคลื่อนภายในตนเองจากความต้องการเผยแพร่ความคิด ประสบการณ์ต่อปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนาให้ดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้เกิดการฉุดคิดหรือทบทวนการทำงานที่ผ่านมา มีความตื่นตัวเพื่อการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เป็นงานที่มีชีวิตชีวาขึ้น การเขียนบทความจำเป็นต้องมีการอ่านซ้ำดูสำนวนภาษา ทักษะการถ่ายทอดให้ผู้อื่นอ่านรู้เรื่องโดยอาศัยเพื่อนร่วมงานอ่านในเบื่องต้นก่อนส่งให้ Peer review และศึกษาขึ้นตอนการส่งวารสารตามระบบ Thaijo ต่อไป
การขียนบทความวิชาการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการ
เริ่มต้นเป็นความยากสำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ระบบในการกระตุ้นสนับสนุน การให้แรงจูงใจจึงจำเป็นในการขับเคลื่อนการเขียนบทความวิชาการ
บทความวิชาการ เป็นการนำเสนอความรู้และข้อเสนอแนะของผู้ขียน ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ จุดเริ่มต้น ของการเขียน คือการได้ไปทบทวนเรื่องที่เราสนใจจะเขียนบทความทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ยังมีช่องว่างหรือประเด็นความรู้ที่อยากจะชี้อย่างไร จะช่วยให้บทความเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับผู้อ่าน รวมทั้งการดูตัวอย่างบทความที่ดี จะช่วยพัฒนาการเขียนของเราให้ดีขี้น
บทความวิชาการเป็นการนำเสนอความรู้ใหม่ หรือ ความรู้เดิมที่การขยายขอบเขตของความรู้ในให้ลึกหรือกว้างมากขึ้น ขึ้นอยู่กับศึกษาของผู้เขียนบทความนัั้น บทความวิชาการส่วนใหญ่ ตีพิมพ์ในวารสารงานวิชาการ ที่มีลักษณะจำเพาะเจาะจง ผู้อ่านหรือผู้ที่สามารถเข้าถึงบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการทีในกลุ่มเฉพาะสาขานั้นๆ เช่นเดียวกัน ดังนั้นประโยชน์ส่วนใหญ๋จึงไม่ไปสู่วงกว้างของสังคม เพราะคุณค่าจากงานวิชาการ ไม่ควรจำกัดเฉพาะแวดวงของนักวิชาการเฉพาะสาขา ความเป็นไปได้ในการเผยแพร่ นอกจากการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการแล้ว ควรจะมีการขยายองค์ความรู้สู่การตีพิมพ์แบบเข้าใจง่ายในวารสารอื่นได้อีกด้วยในอนาคต
สิ่งสำคัญของการเขียนบทความวิชาการ คือ ประสบการณ์ในการเขียนบทความวิชาการ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนบทความวิชาการ แต่ส่วนการเริ่มต้นการเขียนบทความวิชาการที่ไม่มีประสบการณ์นั้นมีความยาก จึงต้องมีระบบในการกระตุ้นสนับสนุน การให้แรงจูงใจจึงจำเป็นในการขับเคลื่อนการเขียนบทความวิชาการได้
ในส่วนของเนื้อเรื่องของการเขียนบทความวิชาการ ประเด็นที่นำมาวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ต้องเป็นไปอย่างมีหลักการ ทฤษฎีหรือมีหลักฐานอ้างอิง
อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความเป็นเหตุเป็นผลที่น่าเชื่อถือ มีการอ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยมีการเรียบเรียงเรื่องราวต่อเนื่องกันตามลำดับอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านเรื่องนั้น ๆ ไปปรับใช้ได้อีกทางหนึ่ง
บทความวิชาการ (academic article) เป็นข้อเขียนเชิงสาระที่ผู้เขียนตั้งใจหยิบยกประเด็นใด ประเด็นหนึ่ง หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการ วิชาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หรือวิพากษ์ ทัศนะหรือแนวคิดเดิม และหรือนาเสนอหรือเผยแพร่แนวคิดใหม่ เพื่อมุ่งให้ผู้อ่าน เปลี่ยนหรือปรับเปลี่ยน แนวคิด ความเชื่อมาสู่แนวคิดของผู้เขียน บทความวิชาการเน้นการให้ความรู้เป็นส าคัญและต้องอาศัยข้อมูล ทางวิชาการ เอกสารอ้างอิง และเหตุผลที่พิสูจน์ได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้อ่าน
บทความทางวิชาการมีความสำคัญทั้งต่อตัวผู้เขียน ต่อวงการวิชาการ วิชาชีพ และต่อสังคม บทความทางวิชาการเป็นภาพสะท้อนถึงความตื่นตัวทางวิชาการของผู้เขียนในการติดตามความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ในแวดวงการศึกษา ตลอดจนความสามารถในการจัดระบบความคิดและนำเสนอ ในด้านความสำคัญต่อวงการวิชาการและวิชาชีพ บทความทางวิชาการเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการกระจายความรู้และการพัฒนาองค์ความรู้ ในด้านความสำคัญต่อสังคม เสนอสาระความรู้และแนวความคิดต่างๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆต่อไป
การเขียนบทความวิชาการ เป็นการเขียนบทความเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าเเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆแล้วนำมากลั่นกรองเรียบเรียงเขียนโดยใช้ภาษาเป็นของตนเอง หรือใช้ภาษาของบุคคลอื่นที่ผู้เขียนได้จากการศึกษาค้นคว้า แต่นำมาเรียบเรียงใหม่อย่างต่อเนื่องกัน เนื้อหาสาระอาจเป็นความรู้ ข้อเท็จจริงหรือมุมมองทรรศนะใหม่ๆที่ผู้เขียนค้นคว้า วิเคราะห์ได้มา หรืออาจแทรกความคิดเห็น ข้อเสนอของผู้เขียนก็ได้
การเขียนบทความวิชาการมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเริ่มต้นที่ดี ทั้งในด้านการเขียนโครงร่างบทความวิชาการ การเขียนเนื้อหา การส่งตีพิมพ์ ซึ่งในทุกขั้นตอนมีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้การเขียนบทความเป็นไปในทิศทางที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยแรงจูงใจในการขับเคลื่อนการเขียนบทความวิชาการอีกด้วย
การเขียนบทความวิชาการเป็นเทคนิคการคิดเป็นตกผลึก อาศัยการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง มาประยุกต์เขียนเป็นแนวทางตามที่ผู้เขียนได้ศึกษา ทำให้เกิดบทความวิชาการที่เป็นประโยชน์ และใช้อ้างอิงในการศึกษาได้
การเขียนบทความวิชาการเป็นอีกวิธีหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ เนื่องจากผู้เขียนจะต้องศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆที่มีความน่าเชื่อถือ และเรียบเรียงข้อมูลอย่างถูกต้อง โดยต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเขียนบทความ อีกทั้งต้องศึกษาข้อมูลของแหล่งที่ต้องการตีพิมพ์เพื่อให้ลักษณะของบทความเป็นไปตามหลักเกณฑ์นั้นๆ
การจัดการความรู้เรื่อง การเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาตนเองในการเขียนบทความวิชาการที่มีคุณค่า นำไปสู่ความก้าวหน้าในวิชาชีพต่อไป
การเขียนบทความวิชาการให้มีมาตรฐาน ผู้เขียนจำเป็นต้องมี
ความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเนื้อหาเรื่องนั้นๆ ร่วมกับมี
ประสบการณ์จากการทำงานวิจัยและงานการสอน ในการเขียน
บทความวิชาการที่ดีและมีคุณภาพ ผู้เขียนควรตั้งเป้าหมายว่าสนใจ
จะเขียนเรื่องอะไร หรือมีความรู้ที่ถนัดในเรื่องใด ใครจะเป็น
ผู้อ่าน และต้องค้นหาวิธีการถ่ายทอดความคิดของผู้เขียน
เพื่อช่วยสื่อสารให้ผู้อ่านเกิดความรู้ความเข้าใจ และมี
จินตนาการร่วมกับผู้เขียน ส่งผลให้บทความวิชาการนั้นมีความสมบูรณ์
และชัดเจนมากขึ้น สามารถเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านให้
นำไปใช้หรือเกิดการขยายองค์ความรู้ต่อไป
การเขียนบทความวิชาการ ผู้เขียนจะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นอย่างกว้างขวาง หลากหลาย และลึกซึ้ง โดยผ่านวิจัย การให้บริการวิชาการ รวมถึงการค้นคว้าและติดตาม หรือเรียกภาษาง่ายๆว่า “กัดไม่ปล่อย” จึงจะสามารถนำมาสกัด หรือ digest เป็นบทความทางวิชาการที่มีคุณภาพ
บทความวิชาการเป็นงานเขียนที่นำเสนอสาระความรู้และแนวความคิดต่าง ๆ ที่ผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจ สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวทางวิชาการของผู้เขียนในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ มาถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่าน โดยบทความที่นำเสนอต้องมีความสำคัญต่อผู้เขียน ต่อวงการวิชาชีพ และต่อสังคม นักวิชาการใหม่ ๆ จำนวนมากที่ขาดทักษะในการเขียนบทความ ดังนั้นวัตถุประสงค์ที่เขียนบทความนี้ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านเกิดความรู้ความเข้าใจในหลักการเขียนบทความในเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ดี การที่จะเขียนบทความได้ดีนั้นต้องเกิดจากการฝึกฝนสะสมประสบการณ์
การวางโครงเรื่องต้องกำหนดขอบเขตที่จะเขียนอย่างชัดเจน เนื้อเรื่องต้องมีความสัมพันธ์กันโดยผู้เขียนอาจเรียงตามลำดับความสำคัญหรือเรียงตามลำดับเหตุการณ์ก่อน-หลัง ทั้งนี้ผู้เขียนต้องมีการค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วจากฐานข้อมูล หนังสือ วารสาร นิตยสาร หรือสื่ออื่น ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งข้อมูลจากประสบการณ์ นอกจากนี้ผู้เขียนสามารถเก็บข้อมูลเพิ่มเติมมาประกอบการเขียน เช่น การสัมภาษณ์ การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
หลักสำคัญของการเขียนบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ เช่น หลัก 5w1H ที่ผุ้เขียนควรนำมาเป็นหลักในการ สร้าง outline ของบทความวิชาการที่จะเขียน แต่สิ่งสำคัญในการตีพิมพ์เผยแพร่ ขึ้นอยู่กับแนวทางปฏิบัติของวารสารที่จะเลือกลง ควรต้องศึกษาแนวทางการเขียน ข้อควรปฏิบัติในการตีพิมพ์อย่างถ่องแท้ก่อน
จากประสบการณ์ที่พบในการเขียนบทความวิชาการ ๑) ควรร่างหัวข้ออะไร หากร่างได้ละเอียดจะสามารถเขียนได้ตรงประเด็น ๒) การเขียนหากมีการเรียบเรียงผลงานมาแล้วควรมีการสังเคราะห์งานเพื่อสรุปให้ได้องค์ความรู้ ๓) การเขียนที่นำประสบการณ์ของตนมาจะช่วยเสริมสร้างคุณค่าของงาน ๔) การเขียนอ้างอิงหรือรูปแบบควรเป็นไปตามที่วารสารแนะนำ
การเขียนบทความวิชาการที่ดี ควรเขียนจากสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ นำมาเชื่อมโยงกับทฤษฎี ดังนั้นผู้ริเริ่มเขียนในครั้งแรกจึงควรมีทักษะในการปฏิบัติในระดับหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ่ง และสามารถเขียนได้อย่างเข้าใจ
บทความวิชาการ คือ บทความที่มีความเป็นทางการ มีเนื้อหาทางด้านวิชาการ ใช้ภาษาสุภาพในการเขียน บทความทางวิชาการที่ดี ควรมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านได้แนวคิดแนวทางในการนำความคิดนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบหนึ่ง หรือช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดการพัฒนาความคิดในเรื่องนั้นๆ ต่อไป ผู้ที่จะเขียนบทความวิชาการต้องศึกษาค้นคว้าให้มาก แล้วนำมาวางโครงเรื่องในการเขียน และควรศึกษารูปแบบในการลงตีพิมพ์ของแต่ละแหล่งด้วย
ได้รับรู้ถึงแนวปฏิบัติในการเขียนบทความทางวิชาการเพื่อการตีพิมพ์และเผยแพร่ ได้รับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการเขียนบทความ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำไปสู่การเขียนผลงานในงานที่เกี่ยวข้องและเรื่องที่สนใจเพื่อจะได้สะท้อนถึงการเจริญเติบโตทางวิชาการ หากแต่ยังมีข้อจำกัดส่วนบุคคลในด้านการบริหารจัดการเวลา
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้ได้แนวคิดในการเขียนบทความที่ลึกซึ้งขึ้น และเห็นด้วยว่าการเขียนบทความวิชาการต้องมาจากสิ่งที่ตนเองมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องที่จะเขียน ซึ่งจะทำให้ผู้เขียนเข้าใจในสิ่งที่เขียนและสามารถให้แง่มุมที่มีประโยชน์สำหรับผู้อ่านได้
การเขียนบทความวิชาการนั้น ควรเริ่มเขียนในหัวข้อที่ผู้เขียนใช้ความรู้เรื่องนั้นๆเป็นประจำ โดยนำมาเชื่อมโยงการทฤษฎี ซึ่งการเขียนบทความเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ที่ดี เนื่องจากผู้เขียนจะต้องศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆที่มีความน่าเชื่อถือ และเรียบเรียงข้อมูลอย่างถูกต้อง โดยต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเขียนบทความ
การเขียนบทความวิชาการ ผู้เขียนนอกจากจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการสืบค้นข้อมูลที่ทันสมัยและลุ่มลึกแล้ว ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการเขียนบทความวิชาการ คือ เวลา ความสนใจ และความต่อเนื่อง จากประสบการณ์การเขียนบทความที่ผ่านมา พบว่า การให้เวลากับเขียนอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สามารถเขียนได้สำเร็จและใช้เวลาในการเขียนไม่นาน ความต่อเนื่องในที่นี้ คือ ให้เวลากับการเขียน คือนำบทความขึ้นมาเขียนทุกวัน ถึงแม้จะเป็นเวลาเพียงช่วงสั้นๆ จะช่วยทำให้ผู้เขียนมีความคิดที่ต่อเนื่อง และเขียนได้ต่อเนื่อง หากเขียนแล้วเว้นระยะเวลาไว้โดยไม่ได้นำขึ้นมาเขียนหรือทบทวนเป็นระยะเวลานาน หรือเว้นช่วงการเขียนเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เขียนต่อได้อยาก และใช้เวลาในการเขียนที่นานจนบางครั้งเรื่องที่เขียนอาจมีความล้าสมัยไปเลยก็เป็นได้