สรุปผลการถอดบทเรียนการจัดการเรียนรู้

ภาควิชา การพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์

แนวปฏิบัติ : การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning : กระบวนการการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem – Based Learning : PBL)

[ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 6 : 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560]

แนวปฏิบัติ : การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning : กระบวนการการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหา เป็นหลัก (Problem – based Learning : PBL) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 6 ได้พัฒนาขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณาจารย์ภาควิชาการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ภายใต้กระบวนการจัดการความรู้ (KM) อย่างต่อเนื่อง ภายหลังการนำไปใช้จริงในการจัดการเรียนการสอน ครั้งที่ 4 ในรายวิชา มโนมติ ทฤษฎี และกระบวนการพยาบาล เรื่อง กระบวนการพยาบาล สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ปีการศึกษา 2560                        โดยแนวปฏิบัติฉบับปรับปรุง มีรายละเอียด ดังนี้

การจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning คือ กระบวนการหรือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองอย่างกระตือรือร้นและใฝ่รู้ ทั้งคิด ทำ ค้นคว้า แก้ปัญหา และสร้างสรรค์การเรียนรู้อย่างอิสระ ฯลฯ โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem–based Learning : PBL) คือ วิธีการเรียนการสอนที่ใช้ปัญหาหรือสถานการณ์เป็นจุดเริ่มต้นและกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการใฝ่หาความรู้เพื่อแก้ปัญหา             โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการแสวงหาและรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายในกลุ่มผู้เรียนโดยผู้สอนมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องน้อยที่สุด

ขั้นตอนการดำเนินการ

การดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบ PBL แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1   :   เตรียมการ

ขั้นเตรียมการนี้ถือว่าเป็นระยะที่มีความสำคัญ ซึ่งการเตรียมการที่ดีจะช่วยให้การเรียนการสอนแบบ PBL ประสบความสำเร็จ บรรลุตามเป้าหมายและผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้              โดยการเตรียมการที่ต้องกระทำ ภายใต้การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของผู้สอน ได้แก่

1.  จัดทำคู่มือการเรียนการสอนแบบ PBL สำหรับครู/ผู้สอน/ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) และผู้เรียน โดยมีหลักการ ดังนี้

1.1 คู่มือการเรียนการสอนแบบ PBL

1) คู่มือสำหรับผู้เรียน ควรประกอบด้วย 1) ขั้นตอนการเรียนรู้แบบ PBL 2) โจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (triggers) และ 3) แบบประเมินหรือเครื่องต่างๆ ที่สำหรับประเมินผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้รายบท และการเรียนรู้แบบ PBL

2) คู่มือสำหรับครู/ผู้สอน/ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator)  ควรประกอบด้วย 1) ขั้นตอนการเรียนรู้แบบ PBL 2) โจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (triggers) 3) แบบประเมินหรือเครื่องมือต่างๆ สำหรับประเมินผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้รายบท/เนื้อหา และการเรียนรู้แบบ PBL และ 4) เนื้อหาสาระหลัก/ที่จำเป็น สำหรับการอธิบายเชื่อมโยงหรือตอบโจทย์ปัญหา หรือ Triggers นั้นๆ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สอนทั้งนี้เพราะผู้สอนแต่ละคนมีความความรู้ ความเข้าใจ และลุ่มลึกในเนื้อหาสาระและประสบการณ์แตกต่างกัน ดังนั้น การที่ผู้สอนร่วมกันกำหนดเนื้อหาสาระที่จำเป็นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และนำกลับไปทบทวนอย่างจริงจัง ย่อมสร้างความเข้าใจในเนื้อหาได้ชัดเจน เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง เมื่อเข้ากลุ่มกับนักศึกษา

1.2 กระบวนการให้ได้มาซึ่งคู่มือการเรียนการสอนแบบ PBLที่มีคุณภาพ ต้องมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ กระบวนการจัดทำแบบมีส่วนร่วมของทีมผู้ร่วมสอน ทั้งนี้เพราะการมีส่วนร่วม จะช่วยสร้างความกระจ่างชัดในการกระทำ หรือเกิดความเข้าใจร่วมกันอย่างชัดแจ้ง มีทิศทาง/เข็มมุ่งเดียวกัน  ทั้งแนวทางการปฏิบัติเชิงระบบและรายละเอียดปลีกย่อยในคู่มือ/การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL  ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิธีทางหนึ่งที่นำครูเข้าสู่ความเชี่ยวชาญมีมาตรฐานในการสอน

2.  สร้างโจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (triggers) โดย Triggers ที่ดี ควรมีลักษณะ/คำนึงความครบถ้วน/ประเด็นเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

2.1  สร้างมาจากวัตถุประสงค์การเรียนรู้ (objective learning) ที่จำเป็น หรือพิจารณาถึงความครอบคลุมของวัตถุประสงค์การเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนของรายวิชานั้นๆ

2.2 ไม่เกินความสามารถด้านประสบการณ์ ความรู้ ทักษะที่เป็นพื้นฐานเดิมของผู้เรียน

2.3  มีความคล้ายคลึงหรือเสมือนจริงตามสถานการณ์ที่ต้องการ

2.4 มีหัวเรื่องและเนื้อหา/เหตุการณ์ที่น่าสนใจ หรือกระตุ้น ดึงดูด หรือรุกเร้าความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน เช่น เป็นเหตุการณ์ที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน เหตุการณ์ร่วมสมัย เป็นต้น

2.5 ประเด็นพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ ดังนี้

(1) ควรมีคำถามกระตุ้น (trigger question) เพื่อช่วยให้ tutor ใช้ในการถามกระตุ้นนักศึกษาให้คิดไปตามแนวทางหรือการอภิปรายดำเนินไปสู่วัตถุประสงค์ของโจทย์ปัญหาที่กำหนดไว้

(2) สร้างสถานการณ์เสมือนจริง (Simulation Based Learning) หรือผู้ป่วยเสมือนจริง เพื่อเสริมสร้างความมีชีวิตชีวา (ความสด) ของโจทย์ปัญหา ทำให้โจทย์น่าสนใจ มีการสื่อสารสองทาง (two way communication) กระตุ้นการสร้างมโนทัศน์การรับรู้และความเข้าใจในโจทย์ปัญหาได้ดีขึ้น

(3) ตรวจสอบคุณภาพของโจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (triggers)  โดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสร้างมาตรฐานของเครื่องมือ สำหรับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

3. การสร้างสื่อวีดีทัศน์ (VDO) หรือการเลือกใช้สื่อวีดีทัศน์เรื่องการเรียนรู้แบบ PBL ที่เหมาะสม สำหรับนักศึกษาเพื่อการเรียนรู้กระบวนการ ขั้นตอน หรือแนวทางการเรียนรู้แบบ PBL อันจะนำไปสู่การกำหนดบทบาทของตนเอง การเตรียมตนเอง หรือการพัฒนาตนเองสู่เส้นทางการเรียนรู้             ตามกระบวนการ PBL ให้บรรลุผลลัพธ์ของการเรียนรู้ตามที่ตั้งไว้

4.  เตรียมครู/ผู้สอน ดังนี้

4.1 ประชุมทีมครูผู้สอนเพื่อสร้างความเข้าใจในขั้นตอน PBL และบทบาทของครู/ผู้สอนตามเจตนารมณ์ของการเรียนรู้แบบ PBL คือ ครู/ผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แก่นักศึกษา (facilitator) ดังแนวคิดที่ว่า “Teach less learn more”

4.2 ฝึกทักษะการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดอย่างต่อเนื่อง  รอบคอบ ต่อยอด เป็นระบบ

4.3 จัดสัดส่วนครูต่อนักศึกษาที่เหมาะสม คือ 1 : 5-12 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป

5.  เตรียมผู้เรียน ดังนี้

5.1  วางแผนแบ่งกลุ่มผู้เรียนให้เหมาะสม

1) ได้สัดส่วนครูต่อนักศึกษาที่เหมาะสม คือ 1 : 5-12 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป

2) คละเด็กเรียนเก่ง-ปานกลาง-อ่อน ตลอดจนเด็กที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยเด็กที่เก่งและหรือเด็กที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องตามโจทย์ปัญหานั้นๆ จะเป็นตัวกระตุ้นพลวัตกลุ่ม (group dynamics) ทำให้สมาชิกกลุ่มได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

5.2 ฝึกทักษะการอ่านและสรุปความจากเนื้อหาที่อ่าน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง และนักศึกษาต้องใช้ตลอดการเรียนรู้แบบ PBL

5.3  สร้างความเข้าใจในขั้นตอนและบทบาทของผู้เรียนตามกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL แก่ผู้เรียน

5.4 สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้แบบ PBL โดยการเน้นกระบวนการเสริมพลังการเรียนรู้ (Empowerment) แก่นักศึกษา ก่อนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ทั้งนี้เพราะการ Empowerment จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมให้นักศึกษามีอิสระในการปฏิบัติและเรียนรู้ หรือปลดปล่อยความรู้สึกที่ถูกคุกคามจากการบีบบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ สิ่งที่น่าเบื่อ เป็นสิ่งที่ดึงดูด และน่าสนใจที่เข้าไปเรียนรู้

5.5 สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรและปลอดภัยแก่ผู้เรียน เพราะบรรยากาศที่เป็นมิตร จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้สึกอิสระ ปลอดภัย ไม่ถูกคุกคามหรือบีบบังคมให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ  อันจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเรียนด้วยตนเอง

ขั้นที่ 2   :   การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (PBL)

ครู/ผู้สอนดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามขั้นตอน PBL 3 ระยะ 7 ขั้นตอน ดังนี้

ระยะที่ 1 : เปิดโจทย์ปัญหา ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 – 5 ของ PBL ดังนี้

Step 1 :  Clarifying terms and concepts ผู้เรียนทั้งกลุ่มร่วมกันอ่านโจทย์หรือสถานการณ์ทำความเข้าใจกับศัพท์และแนวคิดให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน โดยในขั้นตอนนี้ สามารถเพิ่มกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เข้าใจโจทย์หรือสถานการณ์ปัญหาเสมือนหนึ่งเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ให้มากที่สุดด้วยวิธีการให้นักศึกษาร่วมกันแสดงบทบาทสมมุติ (Role Play) ตามโจทย์ปัญหาที่กำหนดขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าว นอกจากจะทำให้ผู้เรียนได้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมตามบทบาทที่แสดงแล้ว ยังทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานเบิกบานจากการแสดงหรือกิจกรรมการเคลื่อนไหว ไม่เครียด ส่งผลให้ผู้เรียนไม่ถูกกดดัน และเปิดใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนต่อเนื่อง

Step 2 :  Identify the problem ผู้เรียนระบุปัญหาของโจทย์หรือสถานการณ์

Step 3 :  Analyze the problem เรียนวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาความเชื่อมโยงของปัญหา โดยขั้นตอนนี้ สามารถใช้เทคนิค Mind map เป็นเครื่องมือให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงของปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ Mind map จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการจัดระเบียบความคิดทั้งแบบคิดกว้างและคิดลึก  ช่วยให้ผู้เรียนเห็นภาพรวมของความสัมพันธ์ของสถานการณ์/โจทย์จากกระดาษแผ่นเดียว ทำให้เข้าใจได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการจับประเด็นสำคัญ สรุปสาระสำคัญนำมาสื่อสารให้ผู้อื่นสามารถจับต้อง เข้าใจและต่อยอดความรู้ได้ เป็นต้น

Step 4 :  Formulate hypotheses ผู้เรียนตั้งสมมติฐานที่เป็นสาเหตุของปัญหาและจัดลำดับความสำคัญ

Step 5 :  Formulating learning objective ผู้เรียนตั้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหา

ระยะที่ 2 : ศึกษาหาความรู้ เป็นขั้นตอนที่ 6 ของ PBL คือ

Step 6 :  Collect additional information outside the group ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลนอกกลุ่มโดยต่างคนต่างแยกย้ายกันหาความรู้จากแหล่งวิทยาการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ โดยในขั้นตอนนี้ แม้จะเป็นการให้นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง แต่ครู/ผู้สอนควรมีบทบาทที่สำคัญ คือ การกำกับและติดตามเพื่อให้นักศึกษาดำเนินการค้นคว้าอย่างเหมาะสม มีทิศทางการ    หาคำตอบที่ถูกต้อง ตรงประเด็น จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและน่าเชื่อถือ

ระยะที่ 3: ปิดโจทย์ปัญหาเป็นขั้นตอนที่ 7 ของ PBL คือ

Step 7 : Synthesize and test the newly acquired and identify information generalization and  principles derived from studying  this problem กลุ่มกลับมาพบกันใหม่สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา เพื่อพิสูจน์สมมติฐานและสรุปเป็นหลักการสำหรับการนำไปใช้ต่อไปในอนาคต

ขั้นที่ 3   :   ประเมินผล ประกอบด้วย

1. ปัจจัยที่จำเป็นต้องพิจารณาประเมิน เพื่อการปรับปรุง/พัฒนากระบวนการเรียนรู้ และควรพิจารณาประเมินให้ครอบคลุม 360 องศา โดยปัจจัยที่จำเป็นต้องพิจารณาประเมิน ประกอบด้วย

1.1 ด้านผู้เรียน อันจะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ดังนี้

1.1.1 การประเมินผลระหว่างการเรียนการสอนเพื่อนำข้อมูลวางแผนพัฒนาผู้เรียนตามกระบวนการ PBL อย่างต่อเนื่อง (formative evaluation)

1.1.2 การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ (summative evaluation) ตามที่กำหนด เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแบบ PBL ได้แก่ 1) ความรู้ 2) ความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 3) ความสามารถในการแก้ปัญหา 4) ความสามารถในการทำงานเป็นทีม และ 5) ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง

1.2 ด้านครู/ผู้สอน จะมุ่งเน้นการประเมินประสิทธิภาพและคุณภาพของครู/ผู้สอนในบทบาทที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

1.3 ด้านคู่มือการเรียนการสอนแบบ PBL

1.4 โจทย์ปัญหา/สถานการณ์ (Triggers)

2. วิธีการวัดและประเมินผล โดยทีมผู้ร่วมสอนต้องร่วมกำหนดวิธีการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับรูปแบบ/กระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะวิธีเชิงคุณภาพ : การสะท้อนคิด (Reflection) จากการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการที่ควรนำมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะรูปแบบการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน หรือการเขียนการเรียนรู้ ภายใต้คำถามกระตุ้นหรือนำสู่กระบวนการสะท้อนคิด ทั้งนี้ วิธีการประเมินผลแบบการสะท้อนคิดนั้น จะช่วยให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงคุณภาพที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง/พัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบ PBLและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ผ่านการถ่ายทอดจากตัวผู้เรียนรายบุคคลสู่การรับรู้ของบุคคลอื่น ซึ่งการสะท้อนคิด             ทั้งรูปแบบการเขียนและการพูด จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษา/อาจารย์/ผู้สอนได้ทบทวนและตระหนักรู้ในความรู้สึก ความคิดของตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตระหนักรู้ดังกล่าว             จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งในความเป็นไปของเหตุการณ์ ความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนา/ปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนแบบ PBL ให้มีคุณภาพต่อไป

คณาจารย์ประจำภาควิชา

การพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

ผู้ถอดบทเรียน

9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

โจทย์ปัญหา ครั้งที่ 1

สถานการณ์ “ทำไมคุณยายจึงล้ม”

พยาบาล ก. รับใหม่ผู้ป่วยสูงอายุ ขณะผู้ป่วยเดินมากับเจ้าหน้าที่   พยาบาล ก. เห็นว่าผู้ป่วยเดินมาเอง    จึงหยิบเสื้อผ้าให้ และให้ไปเปลี่ยนในห้องน้ำ ทันใดนั้นเองก็มีเสียงดัง “โครม!” พยาบาล ก. จึงรีบไปดูในห้องน้ำ พบว่า ผู้ป่วยผู้สูงอายุล้มก้นกระแทกในห้องน้ำ ลุกเดินไม่ได้ พยาบาลสมศรี พยาบาลหัวหน้าตึก ทราบเรื่อง จึงถามพยาบาล ก. ว่าเพราะอะไร จึงไม่ประเมินสภาพผู้ป่วยก่อนที่จะให้ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าในห้องน้ำ รู้มั้ยคุณยายตามัว มองไม่ค่อยเห็น 11แบบแผนกอร์ดอนทำไมไม่ใช้ แล้วอย่างนี้จะใช้กระบวนการพยาบาลดูแลผู้ป่วยได้อย่างไร

แนวทางการตั้งคำถามจากโจทย์สู่การกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้สำหรับอาจารย์

ปัญหาจากโจทย์

(Cue recognition or problem)

วัตถุประสงค์การเรียนรู้

(Learning Objective)

คำถามนำ

(Trigger Question)

หลังจากผู้เรียนอ่านโจทย์ปัญหาจบ วิเคราะห์ Trigger มีข้อมูลใดบ้าง             ที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาล
ผู้ป่วยผู้สูงอายุล้มก้นกระแทกใน

ห้องน้ำ ลุกเดินไม่ได้

1. การประเมินสภาพผู้ป่วยโดยใช้เครื่องมือ 11 แบบแผนสุขภาพ            กอร์ดอน

  • ความหมาย
  • องค์ประกอบของแบบแผน
  • · แบบแผนสุขภาพกอร์ดอน คือ อะไร
  • · แบบแผนสุขภาพกอร์ดอน
มีทั้งหมดกี่แบบแผน อะไรบ้าง
2. การใช้กระบวนการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย

2.1   ความหมาย ความสำคัญและแนวคิดของกระบวนการพยาบาล

2.2. ขั้นตอนของกระบวนการพยาบาล

  • การประเมิน (Assessment)
  • การวินิจฉัย (Diagnosis)
  • การวางแผน (Planning)
    • การปฏิบัติการพยาบาล (Nursing)
  • การประเมินผล (Evaluation)

2.3   ลักษณะเชิงวิทยาศาสตร์และสังคมของกระบวนการพยาบาล

2.4   การบันทึก และการรายงาน

  • กระบวนการพยาบาลมีวิวัฒนาการมาอย่างไร
  • กระบวนการพยาบาลคืออะไร
  • กระบวนการพยาบาลมีประโยชน์มีความสำคัญอย่างไร
  • กระบวนการพยาบาลกับวิทยาศาสต์สังคม มีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
  • กระบวนการพยาบาลมีขั้นตอนอะไรบ้างและแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร

แนวทางการระบุปัญหา วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา การตั้งสมมุติฐาน และกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้สำหรับอาจารย์

ปัญหาจากโจทย์ สาเหตุของปัญหา สมมุติฐาน วัตถุประสงค์การเรียนรู้

(Learning Objective)

ผู้ป่วยผู้สูงอายุล้มก้นกระแทกในห้องน้ำ

ลุกเดินไม่ได้

  • ตามัว มองไม่เห็น
  • พยาบาลไม่ประเมินสภาพผู้ป่วยก่อน
  • พยาบาลไม่เห็นความสำคัญของการใช้เครื่องมือ 11 แบบแผนสุขภาพกอร์ดอน และกระบวนการพยาบาล
1. การประเมินสภาพผู้ป่วยโดยใช้             11 แบบแผนสุขภาพกอร์ดอนก่อนปฏิบัติการพยาบาลจะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในผู้ป่วย 1. การประเมินสภาพผู้ป่วยโดยใช้เครื่องมือ

11 แบบแผนสุขภาพกอร์ดอน

  • ความหมาย
  • องค์ประกอบของแบบแผน
2. การใช้กระบวนการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยจะทำให้การปฏิบัติการพยาบาลเป็นไปอย่างมีคุณภาพและบรรลุเป้าหมาย 2. การใช้กระบวนการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย

  • แนวคิด
  • ความหมาย
  • ขั้นตอน
  • วิวัฒนาการ
  • ความสำคัญ/ประโยชน์
  • ปัญหาในการใช้

โจทย์ปัญหา ครั้งที่ 2

สถานการณ์ที่ 1 “สุมาลีปวดไปหมด”

นางสุมาลี  นาคเหล็ก    อายุ 57 ปี น้ำหนัก 59 กิโลกรัม ส่วนสูง 146 เซนติเมตร มีอาการปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ แขน เป็นระยะเวลา 7 เดือน รับการรักษาที่ คลินิคแพทย์ตลอด ได้รับยาแก้ปวดมารับประทาน พยาบาลพบผู้ป่วยจึงใช้ แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอนมารวบรวมข้อมูลตามกระบวนการพยาบาล

สถานการณ์ที่ 2 “รุ่งยาสมุนไพร”

นายรุ่ง   นาคเหล็ก  อายุ  58 ปี น้ำหนัก 82 กิโลกรัม ส่วนสูง 169 เซนติเมตร มีอาการปวดข้อสะโพก ขาสองข้างเดินไม่เท่ากัน เป็นระยะเวลา 1 ปี รับการรักษาที่ คลินิคแพทย์ตลอด ได้รับยาแก้ปวดมารับประทาน ปัจจุบันรับประทานยาสมุนไพรบรรเทาอาการปวด พยาบาลพบผู้ป่วย จึงใช้ แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอนมารวบรวมข้อมูลตามกระบวนการพยาบาล

สถานการณ์ที่ 3 “อำนวยหวานเบาๆ”

นายอำนวย  ปานก้อม   อายุ 56 ปี น้ำหนัก 95 กิโลกรัม ส่วนสูง 175 เซนติเมตร มีอาการปัสสาวะบ่อยบ้างบางครั้ง มึนศีรษะเวียนศีรษะบ้างบางครั้ง เป็นระยะเวลา 10 ปี รับการรักษาที่ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ รับการรักษาโดยการฉีดยาตอนเช้าทุกวัน พยาบาลพบผู้ป่วย จึงใช้ แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอนมารวบรวมข้อมูลตามกระบวนการพยาบาล

สถานการณ์ที่ 4 “ณัฐณิชาควบคุมอาหาร”

นางณัฐณิชา  ปานก้อม   อายุ 58 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ส่วนสูง 152 เซนติเมตร มีอาการ                 ปวดมึนหัวบ้างบางครั้ง เป็นระยะเวลา 5 ปี รับการรักษาที่ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ตลอด แพทย์ให้ควบคุมอาหาร พยาบาลพบผู้ป่วยจึงใช้แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอนมารวบรวมข้อมูลตามกระบวนการพยาบาล

สถานการณ์ที่ 5 “แซวกระดูกเหล็ก”

นางล้วน  แซงอ่วม   อายุ 58 ปี น้ำหนัก 61 กิโลกรัม ส่วนสูง 156 เซนติเมตร มีอาการปวดหลังราวลงขา เคยประสบอุบัติเหตุ เป็นระยะเวลา 5 ปี รับการรักษาที่ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ แพทย์นัดทุก 3 เดือน พยาบาลพบผู้ป่วยจึงใช้แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอนมารวบรวมข้อมูลตามกระบวนการพยาบาล

ข้อแนะนำสำหรับนักศึกษาในการเรียน PBL

1. ต้องคำนึงว่าชั่วโมง SDL ที่จัดไว้ให้ในตารางเรียน ไม่ใช่ชั่วโมงว่างที่ให้นักศึกษาไปปฏิบัติภารกิจหรือธุระส่วนตัว แต่เป็นเวลาเรียนที่จัดไว้ให้สำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือทบทวนความรู้ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของรายวิชานั้นๆ   นักศึกษาจึงควรใช้เวลาดังกล่าวให้เหมาะสม   ไม่ใช่ถือเป็นเวลาว่างสำหรับไปเที่ยวหรือไปทำธุระส่วนตัว

2. สิ่งที่นักศึกษาควรปฏิบัติในชั่วโมง SDL

2.1 ค้นคว้าหาความรู้จากตำรา วารสาร CAI VCD ฯลฯ ในห้องสมุด

2.2 ค้นคว้าหาความรู้จาก internet

2.3 นัดพบกันเองในกลุ่ม เพื่อประเมินความก้าวหน้าของงานที่ได้รับมอบหมายหรือช่วยกันทบทวนความรู้และข้อสงสัยเกี่ยวกับสิ่งที่ไปศึกษามา

2.4 พบครูผู้เชี่ยวชาญเพื่อซักถามในหัวข้อที่ศึกษาแล้วไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัย โดยการประสานงานผ่านอาจารย์ประจำกลุ่มหรือผู้ประสานงานรายวิชา

2.5 พบอาจารย์ประจำกลุ่มกรณีที่เกิดปัญหาในการเรียนหรือเกิดความขัดแย้งในกลุ่ม               แล้วมิอาจแก้ไขได้ด้วยตนเอง

3. เนื่องจากหนังสือและสื่อต่างๆมีไม่เพียงพอที่จะให้นักศึกษาทุกคนขอยืมไปศึกษาที่บ้านนอกเวลาได้  ดังนั้น จึงควรศึกษาร่วมกันเป็นกลุ่มในเวลาให้มากที่สุด

4. แหล่งวิทยาการที่ใช้ศึกษาหาความรู้ควรจะหลากหลาย ไม่ใช่จากการอ่านเอกสารประกอบการสอนหรือsheet ของครูเพียงอย่างเดียว หรืออ่านจากหนังสือเพียง 1-2 เล่มเท่านั้น แหล่งที่ให้ความรู้ควรมาจากหนังสือหลายเล่มหรือจากสื่อต่างๆที่ได้รับการประเมินว่ามีความน่าเชื่อถือและทันสมัย อาจมาจากการค้นคว้าทาง internet   จากการถามผู้เชี่ยวชาญ การฝึกในห้องปฏิบัติการ เป็นต้น

บทบาทครูใน PBL

1.จะเปลี่ยนจากผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้หรือข้อมูลต่างๆให้แก่นักศึกษาโดยตรง  มาเป็นผู้สนับสนุนหรือกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนบรรลุถึงเป้าหมาย (facilitator) และประเมินผลการเรียนรู้เป็นแหล่งการเรียนรู้ หรือแหล่งวิทยาการหนึ่งในการให้ความรู้

2. ช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้โดยผ่านขั้นตอนทีละขั้น ไม่เรียนลัด เช่น ในการแก้ปัญหา ต้องมีการกล่าวถึงสมมุติฐาน หรือพยายามอธิบายสาเหตุให้หมดก่อนจะไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

3.  ช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจในเรื่องที่เรียนได้อย่างลึกซึ้ง สามารถดึงความรู้ ความคิดที่ซ่อนอยู่ในใจออกมาได้

4.  กระตุ้นให้นักศึกษาอภิปรายโต้ตอบกันเอง  โดยครูไม่ทำตัวเป็นศูนย์กลางของการโต้ตอบ

5.  ช่วยให้ทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของกลุ่ม ป้องกันไม่ให้คนที่พูดเก่งทำตัวเด่นในกลุ่มมากไป  ไม่ปล่อยให้คนไม่ช่างพูดถอนตัวจากกลุ่ม

6.  ปรับเปลี่ยนสภาพการเรียนการสอนไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายเมื่อปัญหาง่ายไป  หรือท้อแท้เมื่อปัญหายากไป

7.  ต้องดูแลความก้าวหน้าของนักศึกษาทุกคนในกลุ่มฝึกให้รู้จักประเมินตนเอง  และช่วยกันเองในกลุ่มเมื่อมีปัญหาการเรียนรู้เกิดขึ้น

8.  ทำความรู้จักกับกลุ่มเป็นอย่างดี  เมื่อเกิดปัญหาพฤติกรรมกลุ่มทำให้กลุ่มไม่ก้าวหน้า  ครูต้องพยายามทำให้กลุ่มตระหนักและหาทางแก้ไขด้วยความสามารถของกลุ่มเองไม่ใช่ครูลงไปแก้ไขให้แต่แรกโดยตรง

สิ่งสำคัญที่ครูต้องมี

1.ความสามารถในการตั้งคำถามในกลุ่มเพื่อให้นักศึกษารู้จักคิด (เน้นคำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอภิปราย)

2.หลีกเลี่ยงคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอภิปราย

ตัวอย่างลักษณะของคำถาม

1. ถามกระตุ้นให้ใช้เหตุผล

–         คุณกำลังอยากจะค้นหาอะไร

–         มีเหตุผลอย่างไรจึงตั้งคำถามเช่นนั้น

–         ถ้าได้คำตอบแล้ว จะทำให้การแก้ปัญหาแตกต่างไปจากเดิมหรือเปล่า

2. ถามกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งสมมุติฐาน / เหตุใดจึงตั้งสมมุติฐานเช่นนั้น / ประเมินค่าของสมมุติฐานที่ตนตั้งขึ้นมา

- คุณคิดว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุได้บ้าง

- คุณมีเหตุผลอะไรในการตั้งสมมุติฐานเช่นนั้น

- จะใช้หลักฐานอะไรมาพิสูจน์เพื่อยอมรับหรือปฏิเสธสมมุติฐาน

3. ถามกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดถึงความเชื่อมโยงของเรื่องต่าง ๆ

-ข้อมูลที่ได้รับมานี้เกี่ยวข้องกับปัญหาอย่างไร

-ความสัมพันธ์ระหว่าง………กับ……….เป็นอย่างไร

4. ถามเพื่อช่วยในการอภิปรายต่อเนื่องและตรงเป้า

-ใครช่วยสรุปเรื่องเท่าที่พูดกันมาแล้วได้หรือไม่

-เราจะทำอะไรกันต่อไปสำหรับกรณีนี้

5. ถามเพื่อเน้นกลไกและสาเหตุของปัญหา

-กระบวนการอะไรที่ทำให้เกิดปัญหานี้

-กลไกอะไรที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้

6. ถามให้อธิบาย/ให้คำจำกัดความของบางคำที่ใช้

-…………หมายความว่าอย่างไร

-ระดับของเอ็นซัยม์ตัวนี้ในเลือดหมายความว่าอย่างไร

7. เน้นการใช้คำถามปลายเปิดมากกว่าใช่หรือไม่

8. แทนการตอบคำถาม ใช้วิธีป้อนคำถามกลุ่มต่อ

-ใครจะตอบคำถามนี้ได้บ้าง

-เราจะพยายามหาหนทางตอบคำถามนี้อย่างไร

-คำตอบของคำถามนี้จะช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างไร

9. ถามกระตุ้นให้ผู้เรียนปรับปรุงการเสนอรายงาน

-ช่วยย่อหรือสรุปเรื่องที่เสนอมาทั้งหมดได้ไหม

-จะพูดอย่างไรให้ชัดเจนกว่านี้

-ลองปรับปรุงคำพูดใหม่ซิ เพื่อให้คนอื่น ๆ เข้าใจความคิดของคุณ

บทบาทครูในการประเมินผล

1.  Formative evaluation การประเมินความก้าวหน้าของนักศึกษาเป็นระยะตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้  หาข้อมูลว่าผู้เรียนมีความสามารถและมีจุดอ่อนในการเรียนรู้อย่างไรบ้าง  เพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข

2.  Summative evaluation    ตัดสินว่าผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงระดับมาตรฐานที่สมควรผ่านไปศึกษา Block ต่อไปหรือเลื่อนไปเรียนในปีถัดไปได้หรือไม่

Formative evaluation

1.ขั้นตอนที่1-5 (ทำความเข้าใจกับศัพท์-สร้างวัตถุประสงค์)

-สังเกตพฤติกรรมนักศึกษาว่ามีบทบาทอย่างไรต่อกลุ่ม  ส่งเสริม หรือ ขัดขวางการดำเนินงานกลุ่ม  ให้การ feedback

2.ขั้นตอนที่ 7 (สังเคราะห์ที่ได้มาใหม่)

-ประเมินความสามารถในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองของนักศึกษา  โดยเปรียบเทียบความรู้ของนักศึกษาก่อนและหลังการไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

-กระตุ้นให้มี Self assessmentและ  Peer assessment

กิจกรรมหลักในกระบวนการกลุ่ม

1. การแนะนำตัว  ทั้งนักศึกษาและครูควรแนะนำตนเองให้สมาชิกแต่ละคนได้รู้ภูมิหลังด้านความรู้ ความชำนาญประสบการณ์เดิม

2. การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ นักศึกษาควรกล้าพูด กล้าแสดง ยอมรับในสิ่งที่ตนไม่รู้หรือเข้าใจผิด  ให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์  และยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบและไตร่ตรอง

3. ความรับผิดชอบต่อกระบวนการกลุ่ม  นักศึกษาต้องรู้ว่าตนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการดำเนินงานของกลุ่ม  เมื่อเกิดปัญหาต้องช่วยกันแก้ไข  ต้องมีการประเมินผลการทำงานของตนและเพื่อนอย่างเปิดเผยและสร้างสรรค์

4. การดำเนินการตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้  สมาชิกกลุ่มต้องร่วมกันตัดสินใจไว้ก่อนว่าอะไรคือวัตถุประสงค์การเรียนรู้ และต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์

5.กิจกรรมของกลุ่มในการแก้ปัญหา

ระยะที่ 1 การวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขโดยการใช้ความรู้เดิมของสมาชิกกลุ่ม  ต้องฝึกคิดให้เป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ รวบรวมข้อมูล  ระบุปัญหา  วิเคราะห์ปัญหา  ตั้งสมมุติฐาน  วิเคราะห์ข้อมูลให้สอดคล้องกับสมมุติฐาน

ระยะที่ 2 การเรียนรู้โดยการกำกับตนเอง (SDL) สิ่งสำคัญ คือ ถ้ามีการแบ่งหัวข้อไปศึกษา นักศึกษาควรเลือกหัวข้อที่ตนอ่อนหรือไม่ถนัด  เพื่อพัฒนาตนเอง  และในแต่ละโจทย์ปัญหาควรเปลี่ยนหัวข้อหรือสาขาวิชาที่ศึกษาไปเรื่อยๆ  แหล่งวิทยาการที่เลือกควรหลากหลายและทันสมัย

ระยะที่ 3 การนำความรู้ใหม่ที่ได้เรียนมาใช้ในการแก้ปัญหา  สิ่งแรกในขั้นตอนนี้ คือ การวิจารณ์ทรัพยากรการเรียนรู้ (แหล่งเรียนรู้) แล้วจึงนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา  เปรียบเทียบความรู้เดิมกับอันใหม่ที่ได้มา

ข้อควรระวัง อย่าให้เกิดเป็นการบรรยายหรือโชว์รายละเอียดของเนื้อหาในกลุ่มย่อย  จะต้องให้เป็นการประยุกต์ความรู้ โดยช่วยกันพิจารณาว่าได้ความรู้ใหม่มาแล้ว จะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหาตรงจุดไหนได้บ้าง

ระยะที่ 4 การประเมินผลการเรียนรู้  เมื่อเสร็จสิ้นการแก้ปัญหา  กลุ่มควรมีการประเมินตนเอง  รวมทั้งให้เพื่อนๆประเมินตนในหัวข้อ :

ทักษะการใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา

ความรู้ที่ได้จากโจทย์ปัญหาที่เรียน

ทักษะในการเรียนรู้โดยการกำกับตนเอง

ความร่วมมือและสนับสนุนในกระบวนการกลุ่ม

นอกจากนี้ควรมีการประเมินการทำงานของกลุ่มในภาพรวมมีข้อบกพร่องอย่างไรจะแก้ไขอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

หน้าที่ของประธานกลุ่ม

1.เป็นผู้เริ่มหรือนำการอภิปราย

2.กระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและอภิปราย

3.ควบคุมดูแลให้กระบวนการอภิปรายเป็นไปตามขั้นตอน

4.คอยจับประเด็นที่สมาชิกกลุ่มอภิปราย และสรุป

5.ควบคุมและรักษาเวลาให้เป็นไปตามที่กำหนด

6.ดูแลให้ผลของกระบวนการกลุ่มเป็นไปตามวัตถุประสงค์

หน้าที่ของเลขากลุ่ม

1.ช่วยประธานจับประเด็นที่สมาชิกกลุ่มอภิปราย และสรุป

2.บันทึกประเด็นที่สำคัญๆให้กับกลุ่ม

กำหนดการเรียน

วันที่ 1 กันยายน 2560 เวลา  09.00 – 11.00น.    ปฐมนิเทศการเรียน และเปิดโจทย์ปัญหา ครั้งที่ 1

วันที่ 8 กันยายน 2560 เวลา  09.00 – 11.00น.    ปิดโจทย์ ครั้งที่ 1 นำเสนอสรุปเรื่องกระบวนการพยาบาล

และ11 แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอน เปิดโจทย์ ครั้งที่ 2

วันที่ 15 กันยายน 2560 เวลา  09.00 – 11.00น.  สัมภาษณ์กรณีศึกษา และนำข้อมูลมาปรึกษาพูดคุยกัน

วันที่ 22 กันยายน 2560 เวลา  09.00 – 11.00น.  ประชุมปรึกษา นำเสนอข้อมูล 11 แบบแผนสุขภาพของ

กอร์ดอนและวางแผนการพยาบาลตามกระบวนการพยาบาล

วันที่ 29 กันยายน 2560 เวลา  09.00 – 11.00น.  ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง