แนวปฏิบัติการเขียนบทความวิชาการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์

รวบรวมโดย งานวิจัย การจัดการความรู้ฯ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์

บทความทางวิชาการของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ เป็นงานเขียนที่อาจารย์พยาบาลมุ่งนำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการพยาบาล หรือการจัดการเรียนการสอนสุขภาพ ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง  อาจเป็นความรู้ ข้อเท็จจริงหรือมุมมองทรรศนะใหม่ๆที่ผ่านการค้นคว้า วิเคราะห์ อย่างเป็นระบบ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งนำเสนอต่อกลุ่มผู้อ่านที่เป็นนักศึกษาพยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพ โดยมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการด้านวิชาชีพการพยาบาลและการสาธารณสุข  มีแนวปฏิบัติปฏิบัติการเขียนบทความวิชาการดังนี้

1. ขั้นตอนการเตรียม

1.1 การเลือกเรื่องหรือประเด็น

เป็นการกำหนดประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวที่มีสาระวิชาการตรงกับความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความสนใจของผู้เขียน มีความทันสมัย อยู่ในขอบข่ายที่สามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ง่าย เพื่อให้สามารถสอดแทรกความคิดเห็นของผู้เขียนได้อย่างเหมาะสม และควรมีการทบทวนเรื่องหรือประเด็นที่จะเขียนจากแหล่งเผยแพร่ต่างๆว่ามีการเสนอในแง่มุมใดบ้าง  มีแง่มุมใดที่ยังไม่มีการกล่าวถึง ซึ่งผู้เขียนจะสามารถหยิบยกมากล่าวถึงเพื่อชี้นำว่ามีความสำคัญและน่าสนใจ

แนวทางในการกำหนดประเด็นที่จะเขียนบทความวิชาการอาจได้มาจากแหล่งความรู้ต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือ  วารสาร เอกสารต่างๆ การสนทนากับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง การปรึกษาหารือในกลุ่มนักวิชาการ คำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ  การสังเกตจากเหตุการณ์จริงในชีวิตประจำวันหรือการปฏิบัติงานในหน้าที่ ผู้เขียนอาจจะได้ประเด็นเรื่องที่จะเขียนจากความคิดที่แวบขึ้นมาทันทีทันใด หรือสิ่งที่สนใจและได้ใคร่ครวญมาในระยะเวลาหนึ่งก็ได้

1.2 การกำหนดวัตถุประสงค์การเขียนบทความวิชาการ

เป็นการกำหนดว่าความต้องการให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากบทความความในด้านใด เพื่อตอบคำถามตามหลัก 5 W 1 ในการกำหนดทิศทางของการเขียนและรูปแบบการนำเสนอ ประกอบด้วย Who   “จะเขียนให้ใครอ่าน” เพื่อทราบกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้วิเคราะห์ความต้องการ คุณค่าหรือประโยชน์ ที่ผู้อ่านจะได้รับ  What “จะเขียนเรื่องอะไร”  Where “จะเขียนเพื่อเผยแพร่ที่ไหน” เพื่อคัดเลือกวารสารที่จะเผยแพร่พร้อมทั้งทบทวนแนวทางการเขียน  ศึกษาแนวทางและเทคนิคการเขียนให้สอดคล้องกับรูปแบบวารสารนั้นๆ When “เวลาที่จะนำบทความลงเผยแพร่เมื่อใด” เพื่อพิจารณาช่วงเวลาที่นำเสนอที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน Why “จะนำเสนอเรื่องนี้ไปทำไม”เพื่อทบทวนวัตถุประสงค์ของผู้เขียนต้องการให้เกิดอะไร How “จะนำเสนอเรื่องนี้อย่างไร” (ซึ่งมีรายละเอียดในขั้นตอนการเขียนโครงเรื่อง) โดยแต่ละคำตอบจะมีความเชื่อมโยง สอดคล้องและต่อเนื่องกันเพื่อผู้เขียนจะไม่ได้หลงประเด็น

1.3  การเลือกแหล่งตีพิมพ์ เผยแพร่  เป็นสิ่งที่ผู้เขียนควรพิจารณาความเหมาะสมของบทความว่าตรงกับผู้อ่านเป็นใคร รวมทั้งควรพิจารณาตามตัวชี้วัดหนึ่งทางด้านคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา เช่น ตีพิมพ์ในในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ ระดับนานาชาติ  การตีพิมพ์บทความวิชาการใน วารสารทางวิชาการที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ การประเมินคุณภาพวารสารจาก Impact และ Ranking รวมทั้งศึกษาเงื่อนไขของแหล่งตีพิมพ์ เผยแพร่ ได้แก่ ความยาวของเนื้อหา  อักษรที่พิมพ์ รูปแบบอ้างอิง ค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ ระยะเวลาของกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review Process) ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ จากวารสาร หรือเว็บไซต์ของวารสาร

1.4 การเขียนโครงเรื่องของบทความวิชาการ

เป็นการวางแผนการเขียนเนื้อหาของบทความ โดยจัดลำดับความคิดให้เป็นหมวดหมู่ หรือเป็นขั้นตอนตามลำดับความสำคัญ และมีความสัมพันธ์ของเนื้อหา เพื่อให้มีขอบเขตของเรื่อง ที่ชัดเจน ครบถ้วนและไม่ซ้ำซ้อนกัน ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

1.4.1 ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล เป็นการรวบรวมเนื้อหาทั้งที่เป็นความรู้  ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่หลากหลาย เช่น หนังสือ  บทความ วารสาร ข้อมูลการสัมภาษณ์ การสังเกต เป็นต้น หลังจากนั้นใช้วิธีการบันทึกข้อมูลแบบสรุปความ หรือสังเคราะห์ ทั้งนี้หากเป็นเนื้อหาที่เป็นภาษาไทยควรสืบค้นจากต้นฉบับที่มีบทคัดย่อเป็นภาษาอังกฤษเพื่อความถูกต้องในการสะกดชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษหากนำไปใช้ในรายการอ้างอิง

1.4.2 จัดหมวดหมู่ประเด็น เป็นการวิเคราะห์แนวคิดหรือประเด็นที่จะเขียนบทความวิชาการให้กระจ่าง โดยการแยกแยะประเด็นในแง่มุมต่างๆตามแนวคิดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันให้อยู่พวกเดียวกัน หรือกำหนดขอบเขตเป็นหัวข้อหลัก หัวข้อย่อย โดยอาจเขียนในรูปแบบผังมโนทัศน์ (concept  mapping)

1.4.3 จัดลำดับความคิดให้เป็นระบบตามวิธีการต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามลำดับ เช่นจากประเด็นที่กว้างๆหรือทั่วไปสู่เรื่องประเด็นเฉพาะ  จากเรื่องเฉพาะไปสู่เรื่องกว้างๆ ตามความสำคัญของเนื้อหาลดหลั่นลงมา ตามเหตุการณ์หรือระยะเวลาตามลำดับการเกิดก่อน-หลัง ตามการตั้งประเด็นคำถาม แล้วตอบคำถาม ขยายความ ยกตัวอย่าง ทีละประเด็น  ทั้งนี้ขึ้นวิธีการลำดับเนื้อหาขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การเขียนและขอบเขตเนื้อหา

2. ขั้นตอนการลงมือเขียนบทความ

เป็นขั้นตอนการเรียบเรียงความรู้จากประสบการณ์และสิ่งที่ค้นคว้ามาตามโครงเรื่องที่กำหนด     ด้วยถ้อยคำภาษาและลีลาชักจูงในผู้อ่านชวนติดตาม ทั้งนี้รูปแบบการเขียนขึ้นอยู่กับประเภทของบทความ   ผู้เขียนต้องการนำเสนอ และส่วนประกอบการเขียนบทความขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละแหล่งตีพิมพ์ โดยทั่วไปประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนนำ เนื้อหา และส่วนท้าย กล่าวคือ

2.1 ส่วนนำ ประกอบด้วย ชื่อเรื่อง  ชื่อผู้เขียน และบทคัดย่อ ดังนี้

2.1.1ชื่อเรื่อง เป็นการตั้งชื่อเรื่องให้ครอบคลุมเนื้อหาและตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารแนวคิดแก่ผู้อ่าน ทำให้บทความวิชาการมีความสมบูรณ์และน่าสนใจ ควรใช้ภาษาที่เป็นทางการ ชัดเจน     สื่อถึงเนื้อหาของเรื่อง มีความน่าสนใจ มีความยาวไม่เกิน 100 ตัวอักษร บางครั้งอาจคิดชื่อเรื่องตั้งแต่การเลือกเรื่อง หรือ การจัดหมวดหมู่ความคิด หรือภายหลังลงมือเขียนไประยะหนึ่งแล้ว

2.2.2 ชื่อผู้เขียน ต้องระบุชื่อจริง โดยทั่ว ไปแล้วจะเขียนไว้ด้านซ้ายใต้ชื่อเรื่องและไม่นิยมบอกยศ ตำแหน่ง หรือคำนำหน้าชื่อแต่อย่างใด

2.2.3 บทคัดย่อ เป็นการย่อเนื้อหาสาระสำคัญของบทความ ควรเขียนให้สั้น กระชับ มีความยาวตามจำนวนคำที่วารสารกำหนด

2.2 เนื้อหา ประกอบด้วย การเกริ่นนำ  เนื้อเรื่อง และการสรุป ดังนี้

2.2.1 การเกริ่นนำ เป็นส่วนที่ผู้เขียนใช้เทคนิคจูงใจให้ผู้อ่านเกิดความสนใจในเรื่องนั้นๆ เช่น เป็นเรื่องเล่าบรรยายสถานการณ์ที่กำลังเป็นที่สนใจขณะนั้นขึ้นมาอภิปราย   การตั้งประเด็นคำถามหรือปัญหาที่ท้าทายความคิดของผู้อ่าน ข้อความแสดงความขัดแย้ง หรือประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ นอกจากนั้นส่วนนำควรกล่าวถึงวัตถุประสงค์ ที่มาความสำคัญและขอบเขตของบทความ

2.2.2 เนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ประกอบในการเขียน กล่าวคือ ผู้เขียนต้องแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงความเป็นเหตุ และผล ด้วยการอ้างอิงข้อมูลสนับสนุนที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือโดยพึงตระหนักเรื่องการคัดลอกผลงานผู้อื่น  มีศิลปะในการใช้ภาษาในการนำเสนอเรื่องราวอย่างเป็นระบบ มีการจัดลำดับเนื้อหา การยกตัวอย่างประกอบ อาจใช้แผนภูมิ รูปภาพ ตารางที่ใช้ประกอบการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและน่าสนใจติดตาม

ทั้งนี้การเขียนเนื้อหาโดยทั่วไปในหนึ่งหน้า อาจมีอย่างน้อย 2 ถึง 3 ประเด็น หรือ topic  โดยแบ่งประเด็นละย่อหน้า แต่ละย่อหน้ามีใจความสำคัญเพียงเรื่องเดียวจะอยู่ตรงบรรทัดแรก ตรงกลางหรือท้ายย่อหน้าขึ้นอยู่กับลีลาการเขียน  มีประโยคขยายใจความให้แจ่มชัด ความยาวในย่อหน้าหนึ่งๆ 3 – 10 บรรทัดเพื่อช่วยผู้อ่านพักสายตา ย่อหน้าที่ดีต้องมี เอกภาพ สัมพันธภาพ และมีสัดส่วนที่เหมาะสม

2.2.3 การสรุปเป็นการสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง โดยการย่อความอย่างสั้นๆ หรือตอบคำถามตามประเด็นที่ตั้งไว้ในส่วนนำ หรือตั้งประเด็นคำถามทิ้งท้ายให้ผู้อ่านไปหาความรู้เพิ่มเติม  หรือเชิญชวนให้ผู้อ่านให้ความร่วมมือนำไปปฏิบัติ

2.3 ส่วนท้าย เป็นการเขียนแหล่งอ้างอิงในเชิงอรรถหรือบรรณานุกรม เพื่อบ่งบอกแหล่งที่มาของเอกสารต่างๆ ที่ผู้เขียนใช้ประกอบการเขียนนำเสนอเนื้อหาสาระที่ผ่านมา สำหรับยืนยันความถูกต้องจากแหล่งที่มาของความรู้  เป็นให้เกียรติเจ้าของผลงาน การป้องกันตัว และสะท้อนจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้เขียน รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านไปศึกษาค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติม  ทั้งนี้การเขียนบรรณานุกรมในปัจจุบัน นิยมเขียนตามระบบ APA ( American Psychological Association) 6th edition , ระบบแวนคูเวอร์

(The Vancouver style) หรือตามที่วารสารกำหนด

เมื่อเขียนเรื่องเสร็จแล้วควรทบทวนว่า เนื้อหาตรงตามวัตถุประสงค์ในการเขียนหรือไม่  ตอบสนองความต้องการของผู้อ่านหรือไม่ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรในด้านการเสนอข้อมูล การใช้เหตุผล การยกตัวอย่าง การอ้างอิง สัดส่วนเนื้อหาสาระในแต่ละส่วน อาจทบทวน ด้วยตนเองเมื่อทิ้งช่วงระยะเวลาหลังจากเขียนเสร็จในระยะหนึ่งก่อน หรือผู้ใกล้ชิดช่วยประเมินให้ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีคุณภาพก่อนการส่งไปตีพิมพ์

3. ขั้นตอนการตีพิมพ์

3.1 การเลือกแหล่งตีพิมพ์ เผยแพร่  ผู้เขียนควรพิจารณาความเหมาะสมของบทความว่าตรงกับผู้อ่านเป็นใคร รวมทั้งควรพิจารณาตามตัวชี้วัดหนึ่งทางด้านคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา เช่น ตีพิมพ์ในในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ ระดับนานาชาติ  การตีพิมพ์บทความวิชาการใน วารสารทางวิชาการที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ การประเมินคุณภาพวารสารจาก Impact และ Ranking ทั้งนี้ควรศึกษางบประมาณสนับสนุนการดำเนินการตีพิมพ์เผยแพร่

3.2  ศึกษาเงื่อนไขของแหล่งตีพิมพ์ เผยแพร่ ได้แก่ ความยาวของเนื้อหา  อักษรที่พิมพ์ รูปแบบอ้างอิง ค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ ระยะเวลาของกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ จากวารสาร หรือเว็บไซต์ของวารสาร โดยให้ปฏิบัติตรงตามที่ Reviewer ให้ข้อเสนอแนะ หรือหากผู้เขียนบทความมีความเห็นไม่ตรงกับสิ่งที่ Reviewer ให้ข้อเสนอแนะ ควรติดต่อกลับไปที่กองบรรณาธิการของแหล่งตีพิมพ์นั้นๆ ทางโทรศัพท์หรือเมล์ส่วนตัว

******************************************

เอกสารอ้างอิง

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2560, 18 พฤศจิกกายน). คู่มือการเขียนบทความ. สืบค้นจาก http://www.ednet.kku.ac.th/~edstd/upfile/q.pdf

ธิดา  โมสิกรัตน์  (2553) “การเขียนบทความวิชาการ”  ใน นภาลัย สุวรรณธาดา ธิดา โมสิกรัตน์  และ สุมาลี สังข์ศรี บรรณาธิการ การเขียนผลงานวิชาการและบทความ  พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 123-140  กรุงเทพมหานคร โรงพิมพ์ภาพพิมพ์

ปุญญพัฒน์ ไชยเมล์ (2556) “เทคนิคการเตรียมและการเขียนบทความทางวิชาการสำหรับวิทยาศาสตร์สุขภาพ”   วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ  16, 1  (มกราคม-มิถุนายน) : 59 – 68

รัตนะ บัวสนธ์. (2560, 18 พฤศจิกกายน). การเขียนบทความวิชาการและการวิจัย. สืบค้นจาก http://www.

rdi.nsru.ac.th/tip/tip-09.pdf